เงินเฟ้ออินโดนีเซียชะลอตัวในเดือนต.ค. เปิดทางธ.กลางตรึงดอกเบี้ย

ข่าวต่างประเทศ Monday November 1, 2010 14:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

อัตราเงินเฟ้อของอินโดนีเซียชะลอตัวลงในเดือนต.ค. ซึ่งนับเป็นการชะลอตัวลงครั้งที่ 2 ในรอบ 7 เดือน เนื่องจากราคาอาหารเริ่มทรงตัวมากขึ้น โดยข้อมูลล่าสุดนี้อาจเปิดทางให้ธนาคารกลางชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมต้นเดือนนี้

รัสมาน ฮีเรียวาน หัวหน้าสำนักงานสถิติแห่งชาติของอินโดนีเซียกล่าวในการแถลงข่าวว่า อัตราเงินเฟ้อรายปีในเดือนต.ค.ชะลอตัวมาอยู่ที่ระดับ 5.67% เมื่อเทียบกับระดับ 5.80% ในเดือนก.ย. เนื่องจากราคาอาหารเริ่มทรงตัว ขณะที่กระแสเงินทุนไหลเข้าจำนวนมหาศาลที่หลั่งไหลเข้าประเทศได้หนุนให้เงินรูเปียห์แข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ

โดยอัตราเงินเฟ้อของอินโดนีเซียไต่ระดับขึ้นแตะที่ 6.44% ในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 17 เดือน เนื่องจากอัตราการบริโภคพุ่งสูงขึ้นในเดือนรอมฎอนของชาวมุสลิม

นักวิเคราะห์จากธนาคาร CIMB Niaga กล่าวว่า "ธนาคารกลางอาจยุติการขึ้นดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เนื่องจากแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นยังไม่อยู่ในระดับที่ร้ายแรงมากนัก" ขณะที่ธนาคารกลางอินโดนีเซียมองในแง่บวกว่า อัตราเงินเฟ้อในปีนี้จะเคลื่อนไหวในกรอบ 4 - 6%

ด้านประธานาธิบดีซูซิโล บัมบัง ยุดโดโยโน ของอินโดนีเซียตั้งเป้าการขยายตัวของเงินเฟ้อโดยเฉลี่ยที่ 6.6% ต่อปี ในระหว่างการดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศจนครบวาระในปี 2557 พร้อมตั้งเป้าสร้างงานให้ได้กว่า 2 ล้านตำแหน่ง

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์คาดว่า ธนาคารกลางอาจเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% ในช่วงครึ่งหลังของปีหน้า และจะเพิ่มดอกเบี้ยรวม 1.00% ในปีนี้ นอกจากนี้ ธนาคารกลางเตรียมกำหนดระยะเวลาสำหรับการเปิดบัญชีเงินฝากประจำนานขึ้นที่ 3 เดือน 6 เดือน และ 9 เดือนโดยมีเป้าหมายที่จะลดความผันผวนของเงินรูเปียห์

ขณะที่ยอดส่งออกของอินโดนีเซียในเดือนก.ย.พุ่งขึ้น 22.70% แตะที่ 1.28 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบเป็นรายปี ขณะที่ยอดนำเข้าขยายตัว 11.92% แตะ 9.53 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา

สำนักข่าวซินหัวรายงาน ดาร์มิน นาซูชัน ผู้ว่าการธนาคารกลางอินโดนีเซียกล่าวก่อนหน้านี้ว่า ธนาคารกลางอินโดนีเซียอาจเห็นชอบให้ใช้วิธีการกำหนดสัดส่วนสำรองเงินฝากขั้นต่ำของธนาคารพาณิชย์เป็นเครื่องมือในการควบคุมอัตราเงินเฟ้อ มากกว่าจะใช้อัตราดอกเบี้ยเป็นปัจจัยควบคุมเงินเฟ้อ เพราะไม่ต้องการให้นโยบายดอกเบี้ยส่งผลกระทบต่อปัจจัยสนับหนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ