ส.ปาล์มฯ เร่งสำรวจผลเสียหายจากน้ำท่วม แต่ยันมีผลผลิตพอในปท.-ส่งออก

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 11, 2010 16:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจุลดิศ ชื่นกำไร ผู้แทนสมาคมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมความเสียหายและเร่งฟื้นฟูชาวสวนปาล์ม จากสถานการณ์อุทกภัยและวาตภัยที่เกิดขึ้นซึ่งส่งผลกระทบต่อแหล่งผลิตปาล์มน้ำมันค่อนข้างมากทั้งสวนปาล์มและโรงงาน

ทั้งนี้ พื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันทั้งประเทศประมาณ 4.2 ล้านไร่ โดย 80-90% อยู่ทางภาคใต้เป็นหลัก เฉพาะชุมพร สุราษฎรธานี กระบี่ คิดเป็น 3 ใน 4 ของผลผลิตทั้งหมด นอกนั้นกระจายอยู่ในภาคตะวันออกและพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศ โดยหากไม่มีเหตุการณ์ผิดปกติจะให้ผลผลิตปาล์มสดประมาณ 9 ล้านตันต่อปี (ประเมินตัวเลขโดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรประเมินหลังเกิดผลกระทบแล้ง) และปาล์มน้ำมัน 9 ล้านตัน สามารถผลิตเป็นน้ำมันปาล์มได้ประมาณ 1.5-1.6 ล้านลิตร

นายจุลดิศ กล่าวว่า ไม้ปาล์มเป็นพืชยืนต้น ถ้าเป็นปาล์มต้นใหญ่ น้ำท่วมระยะสั้นๆ ไม่เกิน 1 เดือน ยังสามารถยืนต้นอยู่ได้ ส่วนปาล์มปลูกใหม่ อย่างน้อย 3 ปีจึงจะเริ่มให้ผลผลิตปาล์มสดได้ แต่สถานการณ์น้ำท่วมทำให้เกิดปัญหากับการเก็บเกี่ยวผลปาล์มในระยะนี้

"มาตรการของรัฐบาลที่มีก็ยังไม่ได้เกี่ยวข้องกับชาวสวนปาล์ม ต้องรอดูว่ารัฐบาลจะมีมาตรการช่วยเหลือชาวสวนปาล์มหรือไม่อย่างไร ซึ่งทางเราก็อยากจะเห็นมาตรการดูแลชาวสวนปาล์มจากภาครัฐเช่นกัน...ยอมรับว่าฝนยังตก เป็นหน้ามรสุมด้วย พายุยังมีเข้ามาเรื่อยๆ ทำให้ตอนนี้ชาวสวนปาล์มทุลักทุเลในการเก็บเกี่ยวปาล์ม ต้องพายเรือเก็บเกี่ยว เส้นทางสัญจรถูกตัดขาดหลายเส้นต้องบูรณะฟื้นฟู"นายจุลดิศ กล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้จะเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ แต่ยืนยันว่าผลผลิตยังเพียงพอต่อความต้องการใช้ทั้งเพื่อบริโภคและการส่งออก เนื่องจากตัวเลขปริมาณสินค้าคงคลังเดือนก.ย.53 ยังมีอยู่

นายจุลดิศ กล่าวว่า น้ำมันปาล์มสำหรับการบริโภคในประเทศเฉลี่ยต่อปีอยู่ประมาณ 9 แสน-1 ล้านตัน ตั้งแต่ปี 2542 มีการส่งออกด้วย ประชากรไทย 65 ล้านคน บริโภคน้ำมันปาล์มเป็นหลักประมาณ 70% ที่เหลือใช้ผลิตไบโอดีเซล ถือเป็นความมั่นคงทางด้านอาหาร ส่วนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต้องรอดูอีกระยะหนึ่งจึงจะเห็นตัวเลขสต็อกของเดือน ต.ค.ทั้งของไทยและของทั้งโลก

ขณะที่ทิศทางราคาปาล์มน้ำมันยังมีแนวโน้มที่ดี ล่าสุดราคาผลปาล์มสดอยู่ที่ 6.40-6.50 บาท/กก.ขยับขึ้นมาจากซัพพลายของสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นช่วยดันราคาปาล์ม แต่ตอนนี้ราคาน้ำมันปาล์มยังถูกกว่าน้ำมันถั่วเหลือง ซึ่งทำให้แนวโน้มการบริโภคน้ำมันปาล์มน่าจะยังมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

"อากาศในโลกเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก ทำให้ปริมาณผลผลิตปรับตัวไปหลายส่วนและมีผลไปถึงน้ำมันพืชชนิดอื่น เช่น ถั่วเหลือง ซึ่งขนาดผู้ผลิตรายใหญ่ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทยต่างก็เจอปัญหาเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะมาเลเซียเองก็โดนน้ำท่วมเช่นเดียวกับเรา อีกทั้งมาเลเซียเพิ่งเสร็จสิ้นช่วงรอมฎอน หลังจากหยุดการเก็บเกี่ยวไประยะหนึ่งแต่ก็เจอน้ำท่วมเช่นกัน ก็ต้องรอดูรายงานตัวเลขสต็อกทั้งโลกจึงจะมองเห็นทิศทางราคาน้ำมันปาล์มที่ชัดเจน"นายจุลดิศ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ