จีน ซึ่งเป็นประเทศที่ต้องการแร่เหล็กเป็นจำนวนมหาศาล กำลังเร่งการสำรวจแหล่งแร่และยกระดับโครงสร้างการผลิตเหล็กของประเทศ เนื่องจากจีนต้องรับมือกับสถานการณ์ที่ลำบากในเรื่องของอุปทานแร่เหล็ก
เจียว ยูซู ที่ปรึกษาสมาคมเหมืองแร่และโลหะของจีน กล่าวในงาน China Mining Congress and Exhibition ว่า จีนผลิตเหล็กคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 3 ของปริมาณเหล็กทั่วโลก และได้นำเข้าเหล็กในปริมาณ 68% ของการค้าและขนส่งเหล็กทั่วโลก แต่การพึ่งพาการนำเข้าแร่เหล็กอย่างมากทำให้โรงงานเหล็กภายในประเทศต้องจำใจยอมรับราคาแร่เหล็กที่อยู่ในระดับสูงไปโดยปริยาย เนื่องจากโรงงานเหล็กในประเทศขาดอิทธิพลในเวทีการเจรจาต่อรองราคาประจำปี
ในปีที่แล้ว จีนได้พึ่งพาเหล็กในประเทศประมาณ 30% ขณะที่การนำเข้าทะยานขึ้นสู่ระดับ 628 ล้านตัน ซึ่งพุ่งสูงขึ้นมากจากระดับการนำเข้าที่ 384 ล้านตันเมื่อปี 2550
นายเจียว กล่าวต่อไปว่า ซัพพลายเออร์แร่เหล็กรายใหญ่สุดของโลก 3 ราย ได้แก่ วาเล, ริโอ ทินโต และบีเอชพี บิลลิตัน ซึ่งครองสัดส่วนของการค้าแร่เหล็กทั่วโลกถึง 66.5% นั้น ถือเป็นผู้ผูกขาดตลาดและการปรับขึ้นราคาเหล็ก ความต้องการแร่เหล็กของจีนทำให้บริษัทเหมืองทั้ง 3 รายนี้เพิ่มผลผลิตแร่เหล็กของตนเอง โดยผลผลิตรวมต่อปีของบริษัทชั้นนำ 3 รายนี้เพิ่มขึ้นจากระดับ 400 ล้านตันในปี 2547 เป็น 600 ล้านตันในปี 2552 แม้ว่าความต้องการแร่เหล็กในจีนจะช่วยเพิ่มผลกำไรให้กับบริษัทเหล็กเหล่านี้ แต่ความต้องการที่จะขึ้นราคาก็ยังมีอยู่ ซึ่งถือเป็นแรงกดดันที่โรงงานเหล็กของจีนต้องแบกรับมาโดยตลอด
เพื่อเพิ่มอำนาจในการเจรจาเรื่องราคา บริษัทเหมืองทั้ง 3 รายได้ประกาศยกเลิกการทำสัญญาซื้อขายแร่เหล็กแบบเก่าที่มีการตรึงราคาแร่เหล็กเป็นรายปี และหันมาใช้สัญญาฉบับใหม่ที่มีระยะเวลาสั้นกว่าแทน
หวัง หมิน รัฐมนตรีช่วยกระทรวงที่ดินและทรัพยากรของจีน กล่าวว่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้นั้น แร่เหล็กมีราคาอยู่ที่ประมาณ 1,200 หยวน หรือ 179 ดอลลาร์ต่อตัน ซึ่งสูงขึ้นถึง 49% จากระดับปีที่แล้ว
ทั้งนี้ ต้นทุนที่สูงขึ้นทำให้สัดส่วนกำไรของโรงงานเหล็กในจีนลดลง
ข้อมูลจากสมาคมเหล็กและเหล็กกล้าจีนชี้ให้เห็นว่า สัดส่วนกำไรโดยเฉลี่ยของบริษัทเหล็กขนาดใหญ่และขนาดกลางในประเทศจำนวน 77 แห่งนั้น อยู่ที่ 2.84% ในช่วงเดือนม.ค. - ก.ย. ขณะที่สถิติเดือนก.ย.นั้นลดลงมาอยู่ที่ 1.16% ซึ่งต่ำกว่าระดับเฉลี่ยที่ 5% ของบริษัทอุตสาหกรรมประเภทอื่นๆในประเทศ
นอกเหนือไปจากนั้น โรงงานเหล็ก 10 แห่งจาก 77 แห่งต้องประสบกับภาวะขาดทุนในช่วง 3 ไตรมาสแรก คิดเป็นเงิน 2.39 พันล้านหยวน
การที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ความเป็นจริงที่ไม่น่าพึงพอใจเช่นนี้ รัฐบาลและบริษัทเหล็กของจีนจึงเร่งกระจายความหลากหลายในส่วนของอุปทานแร่เหล็ก โดยรัฐบาลและเอกชนได้สำรวจหาแหล่งแร่เหล็กในหลายพื้นที่มากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ใช้ประโยชน์จากแหล่งแร่เหล็กภายในประเทศ นอกจากนี้ จีนยังได้ซื้อกิจการเหมืองในต่างประเทศเพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้า
ข้อมูลจากกระทรวงที่ดินและทรัพยากรของจีนชี้ให้เห็นว่า การลงทุนของจีนเพื่อสำรวจแหล่งแร่นั้น เพิ่มขึ้น 17% จากปี 2551 มาอยู่ที่ 2.7 หมื่นล้านหยวนในปี 2552
ซือ หยิงซี เจ้าหน้าที่ของสำนักงานสำรวจธรณีวิทยา ภายใต้สังกัดกระทรวงที่ดินและทรัพยากรจีน กล่าวว่า จีนสำรวจพบแร่เหล็กประมาณ 5 พันล้านตันในช่วง 12 ปีที่ผ่านมาในระหว่างที่ได้มีการสำรวจทรัพยากรที่ดิน
ด้านนายเจียวกล่าวว่า ผลผลิตแร่เหล็กภายในประเทศจีนในปี 2552 นั้น พุ่งสูงขึ้นมาอยู่ที่ 880 ล้านตัน เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2546 ที่ 260 ล้านตัน
ขณะที่ หวัง หมิน กล่าวว่า ในช่วง 9 เดือนแรกนั้น ผลผลิตแร่เหล็กภายในประเทศของจีนเพิ่มขึ้น 25.9% เมื่อเทียบเป็นรายปี แตะ 780 ล้านตัน ส่วนการนำเข้าแร่เหล็กลดลงไป 2.5% จากระดับปีที่แล้ว แตะ 458 ล้านตัน
โจว จงซู ประธานบริษัท ไชน่า มินเมทัลส์ คอร์ป กล่าวว่า ภาวะขาดแคลนสินแร่เหล็กในจีนมีแนวโน้มว่าจะค่อยๆ คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากได้มีการขุดค้นพบแหล่งแร่เหล็กในประเทศมากขึ้น ขณะที่บริษัทของจีนเองก็เข้าไปซื้อกิจการบริษัทเหมืองต่างประเทศมากขึ้น โดยคาดว่า ผลผลิตสินแร่เหล็กภายในประเทศจะสูงกว่า 1.3 พันล้านตันในช่วง 3-5 ปีข้างหน้านี้
ด้านนายเจียวกล่าวว่า เพื่อเป็นการรับมือกับการครองตลาดของซัพพลายเออร์รายใหญ่ระดับโลก 3 ราย บริษัทเหล็กชั้นนำของจีนอย่าง ซิโนสตีล, เป๋าสตีล, วูฮั่น ไอรอน แอนด์ สตีล และอังกัง สตีล ได้ลงทุนที่ประเทศออสเตรเลีย เพื่อซื้อสิทธิในเหมืองแร่เหล็ก
โจวกล่าวต่อไปว่า การถือหุ้นในเหมืองแร่เหล็กต่างประเทศ ซึ่งนับรวมถึงโครงการที่ยังอยู่ในระหว่างการก่อสร้างนั้น จะทำให้มีผลผลิตแร่เหล็กต่อปีที่ 190 ล้านตัน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 30% ของการนำเข้าของจีน ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ได้ประกาศเรื่องการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมไปเมื่อเดือนเม.ย. โดยจะปิดโรงงานเหล็กที่ล้าสมัย และสนับสนุนให้มีการควบรวมและซื้อกิจการในอุตสาหกรรมเหมือง เพื่อประหยัดพลังงานและยกระดับอุตสาหกรรม
จนถึงขณะนี้ มณฑลเหอเป่ย ซึ่งเป็นฐานการผลิตเหล็กที่สำคัญของจีน ได้ปิดโรงงานที่ไม่มีประสิทธิภาพซึ่งมีกำลังการผลิตต่อปีที่ 10 ล้านตันแล้วหลายแห่ง
เซิง เจียเชิง นักวิเคราะห์อาวุโสของมายสตีล ผู้ให้บริการข้อมูลเหล็ก กล่าวปิดท้ายว่า มาตรการต่างๆนั้นน่าจะทำให้ความต้องการผลผลิตเหล็กลดลง อีกทั้งยังบรรเทาภาวะตึงตัวด้านอุปทานแร่เหล็กด้วยเช่นกัน สำนักข่าวซินหัวรายงาน