รมว.อุตฯ เชื่อปรับโครงสร้างภาษีไม่กระทบนักลงทุน,แนวโน้มปี 54 ดีขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 19, 2010 12:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ตามที่กรมสรรพากรมีแนวคิดที่จะปรับโครงสร้างภาษีครั้งใหญ่ โดยมีความเป็นไปได้ว่าจะลดภาษีเงินได้นิติบุคคล เงินได้บุคคลธรรมดาลง และยกเลิกภาษีการส่งเสริมการลงทุน ที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ ให้กับนักลงทุนนั้นว่า แนวคิดดังกล่าว ยังไม่ได้ข้อสรุป เป็นเพียงการเปิดกว้างทางเลือกต่างๆ ในการปรับโครงสร้างเท่านั้น ยังไม่มีความชัดเจน

แต่เชื่อว่าการปรับโครงสร้างภาษีครั้งนี้จะไม่มีผลย้อนหลังกับโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนไปแล้ว ประกอบกับ บีโอไอ มีมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่หลากหลาย ไม่เฉพาะการลดภาษีเท่านั้น ที่สำคัญการลดภาษียังต้องใช้เวลา ไม่เกิดขึ้นในขณะนี้และบีโอไอจะต้องเสริมมาตรการอื่นๆ เพื่อชดเชยจากมาตรการภาษีที่หายไป

อย่างไรก็ตาม มาตรการภาษีดังกล่าว จะมีผลกระทบต่อการส่งเสริมการลงทุนอย่างแน่นอน แต่มาตรการภาษีนิติบุคคลที่ยกเว้นการจัดเก็บให้กับนักลงทุนที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในปัจุบัน เป็นเพียงส่วนหนึ่งของมาตรการส่งเสริมการลงทุน

"หากจะปรับโครงสร้างภาษีครั้งใหญ่ ต้องกำหนดกรอบเวลาให้ชัดเจนเพื่อให้นักลงทุนมีเวลาในการปรับตัว โดยเชื่อว่าหากมีความชัดเจน จะทำให้ยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนจากนักลงทุนหน้าใหม่ที่สนใจมาตรการยกเว้นการจัดเก็บภาษีของบีโอไอจะเพิ่มขึ้นกว่าปกติ เพราะเป็นช่วงเวลาที่ได้เปรียบในการลงทุน" นายชัยวุฒิ กล่าว

รมว.อุตสาหกรรม กล่าวถึงเป้าหมายการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนในปี 54 ว่า จะมีการประชุมประเมินตัวเลขอีกครั้งในการประชุมบอร์ดบีโอไอในสัปดาห์หน้า แต่เชื่อว่าแนวโน้มการลงทุนในปีหน้าจะดีขึ้นจากปีนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และสถานการณ์ทางการเมืองไม่น่ามีความรุนแรงเหมือนในปีนี้ รวมถึงค่าเงินบาทจะมีเสถียรภาพมากขึ้น ทำให้มีโครงการลงทุนที่ชะลอการลงทุนในปีนี้ ตัดสินใจลงทุนในปีหน้า เพราะปัญหามาบตาพุด มีความชัดเจนในมาตรา 67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ยังมีนักลงทุนจากจีน เวียดนาม และญี่ปุ่น ย้ายการลงทุนมาไทย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น

ด้านนายนินนาท ไชยธีระภิญโญ รองประธานกรรมการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) แสดงความเห็นด้วยกับการปรับโครงสร้างภาษีของกรมสรรพากร และไม่น่าทำให้การเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักลงทุนต่างชาติลดลง เพราะการลดภาษีเงินได้นิติบุคคล เหลือประมาณ 18% จากปัจจุบัน ต้องเสียภาษี 30% ทำให้ต้นทุนของภาคเอกชนลดลง และเป็นอัตราที่ใกล้เคียงกับประเทศสิงค์โปร์ ที่อยู่ที่ 17% และไม่ทำให้ยอดนักลงทุนต่างชาติลดลง

"การปรับโครงสร้างภาษีจะยิ่งเป็นแม่เหล็กดึงดูดการลงทุนที่ดียิ่งขึ้นทั้งนี้ บีโอไอ จะต้องปรับบทบาทในการให้บริการนักลงทุนเพิ่มเติม เช่น การอำนวยความสะดวกในลักษณะ One Stop Service" นายนินนาท กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ