ศูนย์วิจัยกสิกรคาด กนง.คงดบ.นโยบายรอบนี้ พร้อมส่งสัญญาณปรับขึ้น Q1/54

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday November 27, 2010 12:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ไว้ที่ร้อยละ 1.75 ในการประชุมรอบสุดท้ายของปีในวันที่ 1ธ.ค.53

"มองว่า กนง.อาจยังพอมีพื้นที่สำหรับการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิมต่อไปได้อีกระยะหนึ่ง จากแรงกดดันเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มผ่อนคลายลงในระยะสั้น จากการที่รัฐบาลยังใช้มาตรการบรรเทาค่าครองชีพและอุดหนุนด้านพลังงาน รวมทั้งส่วนหนึ่งจากการแข็งค่าของเงินบาทที่ช่วยชะลอการปรับขึ้นของราคาสินค้าโดยเฉพาะสินค้าเข้า"

ทั้งนี้ กนง.รอประเมินผลกระทบที่คาดว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นจากหลายๆ ปัจจัยเสี่ยง (ไม่ว่าจะเป็น ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจคู่ค้าทั้งกลุ่ม G-3 และเอเชียที่นำโดยจีน ภาวะอุทกภัยครั้งใหญ่ การแข็งค่าของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา ตลอดจนเสถียรภาพทางการเมืองโดยเฉพาะประเด็นคำตัดสินคดียุบพรรคประชาธิปัตย์) ก่อนที่จะส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อดูแลสมดุลความเสี่ยงทั้งสองด้านและรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ

โดยคาดว่า กนง.มีโอกาสจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายภายในไตรมาสแรกของปี 54 เป็นอย่างเร็ว อย่างไรก็ดี จังหวะเวลาและความต่อเนื่องของวัฏจักรอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นสู่ระดับที่เป็นปกติมากขึ้น (Normalized) จะยังคงขึ้นอยู่กับพัฒนาการความเสี่ยงทั้งด้านเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในแต่ละช่วงขณะเป็นสำคัญ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าในระยะถัดไป แรงกดดันเงินเฟ้อที่คาดว่าจะมีน้ำหนักความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น อาจทำให้ กนง.มีความจำเป็นต้องขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อรักษาเสถียรภาพโดยรวมของประเทศ

มองไปข้างหน้าในปี 54 แม้ความเสี่ยงด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะยังคงมีน้ำหนักและเป็นประเด็นที่น่ากังวล เนื่องจากคาดว่าแรงส่งจากการขยายตัวของการส่งออกยังมีแนวโน้มอ่อนกำลังลงอีก ตามสภาวะแวดล้อมที่ไม่แน่นอนของเศรษฐกิจแกนหลักในโลกและความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน แต่ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่อาจมีน้ำหนักเพิ่มมากขึ้น เป็นผลจากราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้นจากเงินดอลลาร์ฯที่ยังถูกคาดหมายว่าจะอ่อนค่าลง

และหากรัฐบาลตัดสินใจไม่ต่ออายุมาตรการบรรเทาค่าครองชีพและอุดหนุนด้านพลังงานออกไปจากที่มีกำหนดสิ้นสุดช่วงต้นปี 54 อัตราเงินเฟ้อในประเทศ

โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่เป็นมาตรวัดการดูแลเสถียรภาพทางด้านราคาของ กนง. ที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้นเข้าใกล้กรอบบนของเป้าหมายเงินเฟ้อที่ร้อยละ 3.0 ในช่วงครึ่งหลังของปี 54 ก็คาดว่าจะสร้างความซับซ้อนให้กับการดำเนินนโยบายของทางการ และท้ายที่สุด กนง.คงจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อปรับสมดุลความเสี่ยงทั้งสองด้านและรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ

นอกจากนี้ ยังเป็นการดูแลให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (หลังหักเงินเฟ้อ) ไม่อยู่ในระดับที่ติดลบนานจนเกินไปอีกด้วย ทั้งนี้ คาดว่า กนง.มีโอกาสจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายภายในไตรมาสแรกของปี 54 เป็นอย่างเร็ว ขณะที่กำหนดเวลาและความต่อเนื่องของวัฏจักรอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นสู่ระดับที่เป็นปกติมากขึ้น คงจะอยู่ที่พัฒนาการความเสี่ยงทั้งด้านเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในแต่ละช่วงขณะเป็นสำคัญ

สำหรับประเด็นค่าเงินบาทและความไม่สมดุลในภาคอสังหาริมทรัพย์ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า หลังจากที่ทางการได้ออกมาตรการลดผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท และ ธปท.ออกมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารพาณิชย์ (Loan to Value) ที่แม้จะยังไม่ได้มีผลบังคับใช้ในทันทีสำหรับมาตรการหลัง แต่การส่งสัญญาณดังกล่าว ก็น่าที่จะช่วยสนับสนุนให้ กนง.มีความยืดหยุ่นในการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ และรอประเมินผลของการปรับตัวของภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อต่อไปได้อีกระยะหนึ่ง ก่อนที่จะพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเมื่อถึงจังหวะเวลาที่เหมาะสมต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ