(เพิ่มเติม) กพช.มีมติปรับราคา LPGหน้าโรงกลั่น-ตรึงดีเซล-ผ่านสัญญาซื้อไฟฟ้าไซยะบุรี

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 30, 2010 11:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) วันนี้มีมติให้ปรับราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) หน้าโรงกลั่นให้อิงราคาตะวันออกกลาง เพื่อลดการนำเข้าก๊าซ LPG และลดเงินกองทุนน้ำมันฯ ที่จะต้องเข้ามาอุดหนุน

พร้อมกันนั้น ยังมีมติให้ดูแลราคาน้ำมันดีเซลในประเทศไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตรด้วย ขั้นแรกจะใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามาดูแลในวงเงิน 5 พันล้านบาท จากนั้นหากยังต้องอุดหนุนราคาต่อไปอีกก็จะมีการหารือกับกระทรวงการคลังเพื่อหาแนวทางอื่นต่อไป รวมทั้งประเมินราคาน้ำมันในตลาดโลกช่วงนั้น ๆ ด้วย

นอกจากนั้น ที่ประชุมยังอนุมัติร่างสัญญาการลงนามซื้อขายไฟฟ้า(พีพีเอ)โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี โดยให้ส่งให้ทางสำนักงานอัยการสูงสุดตรวจสอบก่อนมีการลงนามในสัญญาต่อไป

นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน กล่าวว่า กพช.แก้ปัญหาราคาน้ำมันแพงโดยอนุมัติให้ใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ จำนวน 5,000 ล้านบาท เพื่อรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไม่ให้เกินกว่า 30 บาท/ลิตร โดยให้กองทุนน้ำมันฯ จ่ายเงินชดเชยให้กับผู้ค้าน้ำมันเพื่อรักษาระดับราคาไว้ให้ไม่เกินที่กำหนดไว้

ทั้งนี้ มีการประเมินว่าจากสถานการณ์ราคาน้ำมันในปัจจุบัน คาดว่าจะใช้เงินจำนวนนี้ได้ประมาณ 3 เดือน หลังจากที่เงินก้อนนี้หมดจะประเมินสถานการณ์ราคาน้ำมันอีกครั้ง และขอให้กระทรวงพลังงานหารือกับกระทรวงการคลังอีกครั้งว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไรในการรักษาระดับราคาน้ำมันในประเทศ

รมว.พลังงาน กล่าวถึงการจัดหา LPG ในประเทศเพิ่มขึ้นเพื่อลดการนำเข้าว่า กพช.ได้อนุมัติหลักการในการสร้างแรงจูงใจให้โรงกลั่นน้ำมันในประเทศ ให้มีการนำ LPG ที่โรงกลั่นน้ำมันใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงกลั่นและส่วนที่ขายให้ปิโตรเคมีออกขายสู่ระบบตลาดในประเทศมากขึ้น โดยจะรับซื้อ LPG ในส่วนนี้ในราคาในตลาดโลก แต่จะหักลดค่าธรรมเนียม ค่าประกันภัย และค่าขนส่ง ซึ่งในส่วนนี้คิดเป็นต้นทุนประมาณ 50 ดอลลาร์/ตัน

ปัจจุบันโรงกลั่นน้ำมันผลิต LPG รวมกันได้ 142,847 ตัน/เดือน แบ่งเป็นการจำหน่ายให้ภาคครัวเรือน ขนส่ง และอุตสาหกรรม ประมาณ 34,069 ตัน/เดือน และจำหน่ายให้กับปิโตรเคมีและใช้เองในกระบวนการกลั่น 107,977 ตัน/เดือน โดยในส่วนของ 34,069 ตัน/เดือน จะถูกกำหนดราคา ณ โรงกลั่นน้ำมันที่ระดับ 333 ดอลลาร์/ตันเช่นเดิม แต่ส่วนที่ผู้ผลิตหันมาผลิตส่วนที่เคยจำหน่ายให้ภาคปิโตรเคมีและใช้เองมาขายให้กับภาคครัวเรือน ขนส่ง และอุตสากรรมเพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวจะขายได้ในราคาตลาดโลก

ดังนั้น จึงคาดว่าจะทำให้มีปริมาณ LPG จากโรงกลั่นมาสู่ภาคครัวเรือน ขนส่ง และอุตสาหกรรม เพิ่มอีกประมาณ 53,000 ตัน/เดือน จากประมาณ 34,000 ตัน/เดือน เพิ่มเป็นประมาณ 87,000 ตัน/เดือน ช่วยลดการนำเข้า LPG ในปี 54 ลงประมาณ 638,000 ตัน/ปี จาก 1,476,000 ตัน/ปี เป็น 838,000 ตัน/ปี และช่วยลดเงินกองทุนน้ำมันฯ ในการนำเข้า LPG ได้ 1,547 ล้านบาท/ปี จากเดิมที่ต้องชดเชย 21,118 ล้านบาท/ปี ลดเหลือ 19,571 ล้านบาท/ปี จากการคิดราคาเฉลี่ยจากราคาน้ำมันดิบปีหน้าที่ 90 ดอลลาร์/ตัน และราคา LPG ที่ 762 ดอลลาร์/ตัน

นพ.วรรณรัตน์ กล่าวว่า ที่ประชุมกพช.ยังให้ความเห็นชอบร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการไซยะบุรี โดยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงนามสัญญาซื้อขาย(PPA)กับผู้ลงทุนในโครงการนี้ ในกรณีที่ร่างสัญญาได้ผ่านการตรวจความเห็นชอบจากสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว และให้ PPA โครงการนี้ใช้เงื่อนไขอนุญาโตตุลาการของสถาบันอนุญาตโตตุลาการ โดยดำเนินการที่ประเทศไทยโดยใช้ภาษาไทย หลังจากนั้นจะเสนอคณะรัฐมนตรี และคาดว่าจะมีการลงนาม PPA ได้ในเดือนม.ค. หรือ ก.พ.54

สำหรับโครงการไซยะบุรีมีกำลังการผลิตติดตั้งทั้งหมด 1,285 เมกะวัตต์ ผลิตพลังงานไฟฟ้าเฉลี่ยปีละ 7,370 ล้านหน่วย จะจำหน่ายไฟฟ้าเข้าประเทศลาว 60 เมกะวัตต์ และขายให้ประเทศไทย 1,225 เมกะวัตต์ โดยคาดว่าจะจ่ายไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ได้ประมาณเดือนม.ค.62 ในอัตราค่าไฟฟ้า 2.479 บาท/หน่วย

โดยโครงการนี้ใช้เงินลงทุน 1,150,000 ล้านบาท เป็นการกู้เงิน 70% อีก 30% เป็นเงินส่วนผู้ถือหุ้น ปัจจุบันมี บมจ. ช.การช่าง (CK) เป็นผู้รับสัมปทาน แต่หลังจากที่มีการจัดตั้งบริษัทขึ้นเพื่อพัฒนาโครงการแล้วรัฐบาลลาวจะเข้ามาถือหุ้นในโครงการประมาณ 25% ที่เหลือเป็นผู้ถือหุ้นฝ่ายไทย ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการเจรจากับผู้ร่วมทุน

ทั้งนี้ การรับซื้อไฟฟ้าจากลาวมีข้อตกลงเบื้องต้นในการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างไทยกับลาวรวม 7,000 เมกะวัตต์ ซึ่งมีโครงการที่ผลิตไฟฟ้าแล้วประมาณ 1,200 เมกะวัตต์ มีโครงการที่เซ็น PPA แล้ว ประกอบด้วย น้ำงึม 2 จำนวน 615 เมกะวัตต์ เข้ามี.ค.ปีหน้า, น้ำเทิน-หินบุนส่วนขยาย 220 เมกะวัตต์ เข้ามี.ค.2555 และหงสาลิกไนต์ 1,473 เมกะวัตต์ เข้ามิ.ย.2558

ส่วนโครงการที่เซ็น MOU แล้ว คือ ไซยะบุรี 1,285 เมกะวัตต์ เช้าม.ค.2562 น้ำงึม 3 จำนวน 440 เมกะวัตต์ เข้าปี 2560 และเซเปียน/เซน้ำน้อย 390 เมกะวัตต์ เข้าปี 2561 รวมทั้งสิ้นตอนนี้มีประมาณ 5,624 เมกะวัตต์

รมว.พลังงาน กล่าวว่า สำหรับการพิจารณาเรื่องการแยกโครงสร้างราคา LPG ออกเป็น 2 ราคานั้น ที่ประชุมวันนี้ยังไม่ได้พิจารณา เนื่องจากจะต้องรอดูนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่จะออกมาก่อนว่าจะมีนโยบายอะไรบ้าง โดยจะพิจารณาอีกครั้งหลังหมดมาตรการการตรึงราคา LPG ที่จะสิ้นสุดในเดือนก.พ.54


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ