(เพิ่มเติม) ธปท. มองปีนี้แรงกดดันเงินเฟ้อ-เงินทุนไหลเข้ามากกว่าปีก่อน หลังศก.โตดี

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 11, 2011 12:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กล่าวว่า แรงกดดันอัตราเงินเฟ้อจะเร่งตัวขึ้นในปี 54 หลังจากเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกขยายตัวดีขึ้น รวมทั้งเงินทุนไหลเข้ามีโอกาสจะเข้ามามากขึ้น แม้ว่าแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในประเทศจะเป็นขาขึ้น แต่มองว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยในไทยและต่างประเทศ เป็นเพียงปัจจัยส่วนหนึ่งต่อเงินทุนไหลเข้า เนื่องจากปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยไทยต่ำที่สุดในภูมิภาคอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ธปท.เตรียมพร้อมมาตรการต่างๆ เพื่อใช้ดูแลสถานการณ์เงินทุนไหลเข้าเนื่องจากเกรงว่าหากเกิดการทะลักเข้ามาแรง จะมีผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ

ส่วนค่าเงินบาทที่อ่อนค่าในช่วงนี้ นางอัจนา กล่าวว่า มีกระแสข่าวว่าเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มดีขึ้นสะท้อนจากตัวเลขเศรษฐกิจหลายด้านที่ปรับตัวดีขึ้นและส่งผลให้ค่าเงินในภูมิภาคทั้งเงินเยนและยูโรมีการปรับตัวอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์

"เงินบาทของไทยยัง undershoot ไม่ได้อ่อนค่ามากเมื่อเทียบกับสกุลอื่น ขณะที่วานนี้เห็นแรงขายพันธบัตรประมาณ 6 พันล้านบาท ซึ่งสอดคล้องทิศทางเดียวกับทิศทางตลาดหุ้นที่ปรับตัวลดลง ส่วนหนึ่งอาจจะมีการล็อคกำไรกันด้วย" นางอัจนา กล่าว

นางอัจนา กล่าวว่า ในปี 54 มองว่าแรงกดดันเงินเฟ้อจะมีมากกว่าปี 53 โดยเป็นแรงกดดันมาจากทุกด้าน ทั้งราคาน้ำมัน ราคาสินค้าที่ปรับสูงขึ้น และหากเศรษฐกิจโลกดีขึ้นจะมีแรงส่งต่อเงินเฟ้อที่สูงขึ้นด้วย ขณะเดียวกันผลจากนโยบายของรัฐบาลที่มีการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ค่าแรงงานขั้นต่ำ ทำให้มีการใช้จ่ายมากขึ้น

ขณะนี้ดัชนีราคาขายส่งสินค้า (PPI) ปรับขึ้นแล้ว แต่ดัชนีราคาผู้บริโภคขณะนี้ยังทรงตัว แต่สุดท้ายแล้วมองว่าต้องปรับขึ้นหากเศรษฐกิจปรับดีขึ้น ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง และจะมีการผลักภาระจากต้นทุนวัตุถุดิบที่สูงขึ้น ทั้งจากค่าขนส่ง ราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้น เพื่อผลักภาระให้กับผู้บริโภคง่ายขึ้น และสุดท้ายเงินเฟ้อจะปรับตัวขึ้น

"จะเห็นได้ว่าการประชุมกนง.ที่ผ่านมามีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย มองเห็นแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ ขณะที่ปีนี้แรงกดดันจะมากกว่าปีก่อน หากเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นตามที่คาดการณ์ไว้ ขณะที่มองว่าประเทศในภูมิภาคที่เศรษฐกิจดีขึ้น จะค่อยๆมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเช่นกัน" นางอัจนา กล่าว

ส่วนเงินบาทที่แข็งค่ามองว่า ในปีนี้อาจจะเห็นเงินไหลเข้าภูมิภาคมากกว่าปีก่อน เนื่องจากสภาพคล่องจากสหรัฐจากมาตรการ QE ยังมีอยู่ ขณะที่มองว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยไม่ได้เป็นปัจจัยเดียวที่ทำให้มีเงินไหลเข้ามา แต่เงินที่ไหลเข้าลงทุนจะมาจากความแตกต่างของการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วย เนื่องจากนักลงทุนจะเข้ามาซื้อสินทรัพย์โดยมองถึงอนาคตในระยะข้างหน้ามากกว่า และจะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่งแม้ที่ผ่านมาจะมีปัญหารุมเร้า

ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2% ในขณะที่ประเทศอื่นมีดอกเบี้ยที่สูงกว่าแต่ยังเห็นมีเงินทุนยังไหลเข้ามาต่อเนื่อง ซึ่งเงินที่ไหลเข้ามาทำให้เงินบาทแข็งค่า และธปท.ต้องเข้าไปแทรกแซง เพราะหากไม่เข้าดูแลค่าเงินบาทจะทำให้สูญเสียความสามารถการแข่งขัน เนื่องจากประเทศอื่นไม่ได้ปล่อยให้ค่าเงินแข็งค่า

"ที่ผ่านมามีบทเรียนแล้วว่า ไม่สามารถห้ามเงินไหลเข้าได้ หลายประเทศที่ใช้ก็มีผลระยะสั้นเท่านั้น การจะใช้เครื่องมือใดๆ หากไม่เห็นผลที่ชัดเจนคงต้องคิดหนัก แต่ทางการเองก็ไม่ได้ตัดที่จะใช้หรือไม่ใช่เครื่องมือใด"

นางอัจนา กล่าวว่า ตอนนี้มีบางประเทศในภูมิภาคมีอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น แต่ไม่ได้มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย แต่ไม่ใช่ไทย เพราะขณะนี้แรงกดดันเงินเฟ้อมาจากทุกทิศทุกทาง

นางอัจนา ยังกล่าวในสัมมนา"Economic Outlook 2011"ว่า ในปี 54 คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวในระดับ 3.2-3.3% จากปี 53 ที่คาดว่าจะเติบโตถึง 3.9% ทำให้มี Momentum ที่ทำให้ขยายตัวได้ต่อเนื่องจากปลายปีก่อนมาถึงปีนี้

แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงมากขึ้นกว่าปีที่แล้ว เนื่องจากประเทศพัฒนาแล้วมุ่งจะทำนโยบายให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งจึงมีการใช้นโยบายการเงินการคลัง ซึ่งจะส่งผลกระทบกับประเทศอื่น ๆ โดยคาดว่าจะยังไม่เห็นธนาคารกลางสหรัฐปรับเปลี่ยนทิศทางอัตราดอกเบี้ยต่ำ และยังจะใช้มาตรการ QE2 ต่อไป

ขณะที่ทุกประเทศมุ่งใช้นโยบายดูแลเศรษฐกิจมหภาค ทั้งนโยบายการเงินการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยประเทศเกิดใหม่จะมุ่งใช้นโยบายการเงินการคลังเพื่อให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะปกติ รวมถึงประเทศไทย ซึ่งจะเห็นการใช้นโยบายการเงินเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากขึ้น แต่ปัญหาที่จะตามมาคือเงินเฟ้อสูงขึ้นทั้งจากราคาน้ำมัน ราคาพืชผลเกษตรที่สูงขึ้น ซึ่งกลายเป็นปัจจัยเสี่ยง

และประเทศในภูมิภาคยังคงพึ่งพาการส่งออกมา ดังนั้น หากประเทศเศรษฐกิจหลักทั้งสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่นยังมีปัญหาการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ก็จะทำให้เศรษฐกิจประเทศที่พึ่งพาการส่งออกชะลอตัวลงด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ