กสิกรฯ ปรับเป้าส่งออกปี 54 โตเพิ่ม 8-12% ศก.โลกมีสัญญาณเชิงบวกมากขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 19, 2011 15:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวการส่งออกไทยในปี 54 เพิ่มขึ้นเป็น 8-12% (จากเดิมที่ 6-10%) แม้แนวโน้มเศรษฐกิจในเอเชียจะลดระดับความร้อนแรงลง ประกอบกับฐานเปรียบเทียบที่สูงมากในปี 53 ที่เป็นตัวกดดันให้การส่งออกของไทยในปี 54 อยู่ในภาวะชะลอตัวก็ตาม

ทั้งนี้จากเครื่องชี้เศรษฐกิจในกลุ่มประเทศหลักของโลก ทั้งสหรัฐฯ และยุโรปได้สะท้อนให้เห็นถึงความต่อเนื่องของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและเป็นทิศทางที่ดีกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ รวมทั้งมีผลบวกเพิ่มเข้ามาจากการต่ออายุมาตรการทางภาษีของสหรัฐฯ แต่ปัญหาเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วยังคงมีอยู่ เช่น ปัญหาการว่างงานและวิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐฯ ตลอดจนวิกฤตหนี้สาธารณะในภูมิภาคยุโรป รวมถึงแนวโน้มเศรษฐกิจในเอเชียที่คาดว่าจะลดระดับความร้อนแรงลง แต่จะพบว่าทิศทางเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มเชิงบวกเพิ่มเติมจากที่เคยประเมินในครั้งก่อน ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับเพิ่มประมาณการอัตราการขยายตัวของการส่งออกของไทยในปี 2554 ขึ้น

พร้อมกันนี้ยังปรับประมาณการอัตราการขยายตัวด้านการนำเข้าเพิ่มขึ้นเป็น 12-16% (จากเดิมที่ 9-12%) ตามความต้องการนำเข้าสินค้าทุนและสินค้าอุปโภคบริโภคที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการเศรษฐกิจเพิ่มเติมของรัฐบาลภายใต้นโยบายประชาวิวัฒน์ ความต้องการนำเข้าสินค้าปัจจัยการผลิตที่เพิ่มขึ้นตามการส่งออก รวมทั้งแนวโน้มราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้น

ทั้งนี้ จากการนำเข้าที่มีแนวโน้มเติบโตสูงกว่าการส่งออก ทำให้คาดว่าดุลการค้าในปี 54 น่าจะเกินดุลลดลงมาที่ 7.0-9.7 พันล้านดอลลาร์ฯ จาก 12.9 พันล้านดอลลาร์ฯ ในปี 53 ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดอาจเกินดุลลดลงมาที่ 8.0-11.3 พันล้านดอลลาร์ฯ จากระดับสูงกว่า 14 พันล้านดอลลาร์ฯ ในปี 53

อย่างไรก็ดี จากฐานะดุลบัญชีระหว่างประเทศที่ยังนับเป็นระดับเกินดุลค่อนข้างสูงนี้ คงเป็นปัจจัยหนึ่งที่สนับสนุนให้ค่าเงินบาทมีโอกาสพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ในบางช่วงของระยะข้างหน้า

"ภาพการส่งออกที่ดีขึ้นเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับเพิ่มประมาณการอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2554 ขึ้นเป็นร้อยละ 4.0-5.0 จากเดิมที่เคยคาดไว้ที่ร้อยละ 3.5-4.5" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

ส่วนปัจจัยที่ต้องติดตามซึ่งอาจมีผลต่อทิศทางการส่งออกในปี 54 นอกเหนือจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก ทั้งสหรัฐฯ จีน ยูโรโซนและญี่ปุ่นที่อาจยังคงมีความไม่แน่นอนแล้ว ยังมีอีก 4 ปัจจัยสำคัญที่ต้องจับตา คือ 1.ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ 2.ทิศทางอัตราแลกเปลี่ยน 3.มาตรการทางการค้าของประเทศคู่ค้าหลัก 4.การขยายกำลังการผลิตใหม่และการรุกขยายช่องทางเปิดตลาดส่งออกของผู้ประกอบการ

โดยทิศทางราคาสินค้าเกษตรและอาหาร ที่สินค้าส่วนใหญ่ยังมีแนวโน้มราคาปรับตัวสูง เช่น ยางพารา, มันสำปะหลัง, ปาล์มน้ำมัน, ถั่วเหลือง, ธัญพืชหลายชนิด รวมถึงผลผลิตสัตว์น้ำ น่าจะเป็นปัจจัยบวกต่อการส่งออกในปี 2554 ทั้งในแง่อุปสงค์และราคา แต่ในอีกด้านหนึ่ง หากราคาสินค้าปรับสูงขึ้นมากเกินไปอาจฉุดรั้งการใช้จ่ายของผู้บริโภค หรือมีการเปลี่ยนพฤติกรรมหันไปบริโภคสินค้าอื่นที่มีราคาต่ำกว่าทดแทน

ทิศทางอัตราแลกเปลี่ยน การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพถือเป็นปัจจัยหนุนภาคส่งออกไทย อย่างไรก็ดี แนวโน้มข้างหน้ายังมีปัจจัยที่ผลักดันให้ค่าเงินบาทขยับแข็งค่าขึ้นได้อีก ซึ่งทิศทางค่าเงินบาทย่อมส่งผลต่อรายได้และอัตรากำไรของผู้ส่งออกไทย

ข้อสรุปเกี่ยวกับการต่ออายุสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป(GSP) ของสหรัฐฯ ที่หมดอายุในวันที่ 31 ธ.ค.53 ซึ่งหากสหรัฐฯ ไม่ต่อต่ออายุมาตรการดังกล่าวจะทำให้สินค้านำเข้าไปยังสหรัฐฯ จากประเทศต่างๆ รวมทั้งไทยต้องเสียภาษีในอัตราปกติ โดยสินค้าที่ไทยใช้สิทธิ GSP ส่งออกไปยังสหรัฐฯ สูง เช่น เครื่องประดับทำจากเงิน, ยางเรเดียล, อาหารปรุงแต่ง, ถุงมือยาง, เตาอบไมโครเวฟ และส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น

การปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มในยุโรปนับตั้งแต่ต้นปี 54 ซึ่งแต่ละประเทศมีการปรับในอัตราที่แตกต่างกัน ซึ่งอัตราภาษีที่สูงขึ้นอาจมีผลกระทบไปสู่การใช้จ่ายของผู้บริโภคท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจของยุโรปเองที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่

การขยายกำลังการผลิตใหม่และการแสวงหาโอกาสเปิดตลาดส่งออกใหม่ในช่วงเดือนข้างหน้า คาดว่าจะมีกำลังการผลิตใหม่จากการขยายการลงทุนที่ทยอยแล้วเสร็จในอุตสาหกรรมเช่น ยานยนต์ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และปิโตรเคมี ซึ่งจะขยายศักยภาพการผลิตและส่งออกของไทยเพิ่มขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ