ก.อุตฯเผยรง.ปล่อยสาร VOCs ในระดับน่าเป็นห่วงเตรียมออกกฎคุมเข้มทั่วปท.

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 21, 2011 15:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการลงพื้นที่จ.ระยองเพื่อตรวจโรงงานที่เข้าข่าย 11 กิจการรุนแรงว่า จากการตรวจสอบบริษัท เก็คโค่-วัน จำกัด และบริษัท ทีโอซี ไกลคอล จำกัด ได้มีการดำเนินการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) เรียบร้อยแล้ว และเก็คโค่-วัน จะเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)ในเดือนก.พ.นี้ ขณะที่ ทีโอซี ไกลคอล อยู่ระหว่างการรอการอนุมัติจาก สผ. โดยคาดว่า ทั้ง 2 โครงการจะเปิดดำเนินการได้ภายในปลายปีนี้

รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า รัฐบาลได้กำชับในเรื่องการดูแลมลพิษ ซึ่งตามมติคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) ให้ทบทวนการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่มาบตาพุด โดยเน้นให้ปลดปล่อยมลพิษต่ำที่สุดนั้น ไม่ได้หมายความว่า จะไม่มีการปลดปล่อยมลพิษออกมาเลย หรือ Zero Emission เพราะหากเป็นเช่นนั้น คงจะไม่มีการลงทุนใดๆ เกิดขึ้น แต่แนวทางคือ ให้เน้นการให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีสำหรับการลงทุนใหม่ที่มีเทคโนโลยีในการกำจัดมลพิษ และในโรงงานเดิม หากมีการลงทุนเทคโนโลยีนี้ ก็จะให้การส่งเสริมด้วย คาดว่า รายละเอียดทั้งหมดจะกำหนดเสร็จสิ้นภายใน 2-3 เดือนนี้ และจะไม่กระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนแต่อย่างใด

นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมออกประกาศแนวทางปฏิบัติเพื่อควบคุมสารอินทรีย์ระเหย (VOCs) จากอุปกรณ์ในโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศ โดยในส่วนของมาบตาพุดนั้น มี 36 โรงงานที่มีและใช้สาร VOCs และทางกรมควบคุมมลพิษให้ความเห็นว่ามีการปล่อยสาร VOCs ในระดับที่น่าเป็นห่วง เช่น สารเบนซีน บิวทาไดอีน และไดคลอโรด์อีเทน หากควบคุมให้ลดลงได้ จะเป็นผลดีทั้งโรงงานอุตสาหกรรม และชุมชนโดยรอบ

ด้านนายวีรศักดิ์ โฆษิตไพศาล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ปตท.เคมิคอล (PTTCH) กล่าวว่า การทำให้เกิดความชัดเจนในข้อกำหนดการดูแลสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับนโยบายการดำเนินธุรกิจกลุ่ม ปตท. และทำให้นักลงทุนตัดสินใจขยายการลงทุนง่ายขึ้น โดยในส่วนของโรงงานเอทธิลีนไกลคอล หรือ MEG ส่วนขยายที่ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรค 2 ก่อสร้างเสร็จสิ้นตั้งแต่ปลายปี 2551 เงินลงทุน 1,500 ล้านบาท กำลังการผลิต 100,000 ตันต่อปี

ทั้งนี้ สาร MEG เป็นส่วนประกอบสำคัญในอุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมสารชะล้าง เช่น ผงซักฟอก สบู่ และแชมพู โดยร้อยละ 70-80 เป็นการผลิตเพื่อขายในประเทศ ซึ่งขณะนี้ สาร MEG มีราคาสูง 1,100 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน จากปกติอยู่ที่ 800 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน เนื่องจากโรงงานในตะวันออกกลางปิดซ่อมบำรุง และคาดว่า หาก MEG ส่วนขยายเดินเครื่องได้ จะมีรายได้เพิ่มอีกประมาณ 2,400 ล้านบาทต่อปี จากปัจจุบัน ที่ MEG มีกำลังการผลิต 300,000 ตันต่อปี สร้างรายได้ประมาณ 8,000-10,000 ล้านบาทต่อปี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ