China Focus: ภัยแล้งที่รุนแรงช่วงฤดูหนาว อีกบททดสอบการบริหารจัดการน้ำของจีน

ข่าวต่างประเทศ Friday February 11, 2011 14:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

แม้ว่า พื้นที่หลายส่วนทางตอนเหนือของจีนจะมีหิมะตกลงมาเมื่อวานนี้ แต่หิมะที่โปรยปรายลงมาเพียงเท่านี้นั้น นับว่าน้อยเกินกว่าที่จะบรรเทาภาวะแห้งแล้งที่รุนแรงในพื้นที่เพาะปลูกข้าวสาลี

ขณะที่เกษตรกรในเมืองหลินหยี่ มณฑลชานตง ซึ่งเป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าวสาลี กำลังสาละวนอยู่กับการปล่อยน้ำเข้าสู่พื้นที่การเกษตร พร้อมกับตั้งความหวังไปพลางๆว่า ภัยแล้งครั้งรุนแรงในรอบ 60 ปี จะไม่ส่งผลกระทบต่อการเก็บเกี่ยวผลผลิตของตนเอง

หลี่ กงชาน เกษตรกรในหมู่บ้านหนานหยางจวงต้องวางท่อพลาสติคเข้ามายังพื้นที่เพาะปลูกพืชผลของตนเอง เพื่อดูดน้ำจากบ่อน้ำที่ตั้งอยู่ห่างออกไปประมาณ 600 เมตร แต่แทบจะไม่มีน้ำติดก้นบ่อ สิ่งที่เครื่องปั๊มน้ำดูดออกมาได้มีเพียงน้ำโคลน

หน่วยงานด้านอุตุนิยมวิทยาของมณฑลระบุว่า ตั้งแต่เดือนก.ย. 2553 เป็นต้นมา ปริมาณฝนที่ตกลงมาในมณฑลชานตงนั้นมีเพียง 12 มิลลิเมตรเท่านั้น ซึ่งเป็นปริมาณฝนที่น้อยกว่าปกติถึง 85%

เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ผลผลิตข้าวสาลีที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งในมณฑลที่เป็นพื้นทีท่สำคัญด้านการเกษตรอย่างเหอหนาน เหอเป่ย ชานตง ชานซี อันฮุย เจียงซู กันซู และส่านซีนั้น คิดเป็นสัดส่วนพื้นที่ 25.36 ล้าน mu หรือ 7.73 ล้านเฮคเตอร์ โดยคิดเป็นสัดส่วน 42.4% ของพื้นที่เพาะปลูกข้าวสาลีทั้งหมดใน 8 มณฑลดังกล่าว

หม่า เสี่ยวเหอ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติของจีน กล่าวว่า สภาพความแห้งแล้งที่รุนแรงในพื้นที่ปลูกข้าวสาลีหลักของประเทศนั้น ถือเป็นสถานการณ์ที่ท้าทายต่อการบริหารจัดการน้ำที่อ่อนแอนของจีน และจุดชนวนให้มีการเรียกร้องให้มีการสร้างระบบชลประทานที่ครอบคลุมขึ้นมา

หม่ากล่าวว่า โครงการอนุรักษ์แหล่งน้ำเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับการเกษตร เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ เช่น ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้แล้ว จีนถือได้ว่าลงทุนในโครงการเหล่านี้น้อยมาก

ในหมู่บ้านหนานหยางจวงนั้น เกษตรกรต้องซื้อท่อส่งน้ำจำนวนมากเพื่อลำเลียงน้ำไปรดพืชผลของตนเอง เนื่องจากระยะทางระหว่างไร่นากับแหล่งน้ำนั้นห่างไกลกัน อีกทั้งคูน้ำก็ยังไม่ได้มีการปรับปรุงให้ดีขึ้น

หลี่ จวนเซี่ยง ชาวบ้านในหมู่บ้านต้องควักเงินซื้อท่อส่งน้ำถึง 2,000 หยวน หรือ 304 ดอลลาร์ สำหรับท่อที่มีราคา 4.5 หยวนต่อเมตร ขณะที่รายได้จากการขายข้าวสาลีนั้นอยู่ที่ 400 หยวนต่อ mu

เมื่อวันที่ 29 ม.ค.ที่ผ่านมา ทางการจีนได้ออกประกาศว่า จะให้ความสำคัญกับการสร้างแหล่งกักเก็บน้ำเป็นอันดับต้นๆ ซึ่งเอกสารประจำปี 2554 ระบุว่า จีนจะลงทุน 4 ล้านล้านหยวน ในช่วง 10 ปีข้างหน้ากับโครงการสร้างระบบอนุรักษ์น้ำ

ความจริงแล้ว เกษตรกรหลายรายก็ได้เริ่มซ่อมแซมคูน้ำเก่า และขุดคูน้ำขึ้นมาใหม่เพื่อแก้ปัญหาจากภัยแล้ง

หลี่ เติงจี ผู้ใหญ่บ้าน กล่าวว่า ผลผลิตในเมืองจีหนิง มณฑลชานตงนั้น กำลังได้รับผลกระทบจากภัยแล้งที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 200 ปี ประชาชนต้องขุดคูน้ำยาว 50 เมตร และใช้เครื่องปั๊มน้ำ ซึ่งจะต้องใช้เวลา 6 วันในการดึงน้ำมารดพืชไร่ในพื้นที่ 800 mu ของหมู่บ้านแห่งนี้

หยิน จางเฟวิน ซึ่งประจำแผนกบรรเทาทุกข์จากภัยแล้งและควบคุมน้ำท่วม กล่าวว่า ทางมณฑลกำลังเร่งการก่อสร้างระบบกักเก็บน้ำโครงการใหม่ ซึ่งคาดว่า จะทำให้ปริมาณน้ำสูงขึ้นมาอยู่ที่ 191 ล้านลูกบาศก์เมตร และในช่วงสิ้นเดือนก.พ. ก็จะมีแหล่งน้ำเพิ่มขึ้นถึง 470 จุด ในรูปแบบของเครือข่ายท่อส่งน้ำระยะไกล รวมทั้งแทงค์เก็บน้ำ

เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรรับมือกับภัยแล้ง รัฐบาลกลางตัดสินใจเพิ่มเงินอุดหนุนให้กับเกษตรกร ซึ่งรวมถึงเงินทุนในการซื้อเครื่องมือประหยัดน้ำ และจะมีการใช้งบอีก 2 พันล้านหยวนกับการสร้างระบบชลประทาน และโครงการน้ำดื่มในชนบท

นายหม่ากล่าวว่า ภัยแล้งครั้งรุนแรงที่เกิดขึ้นทางตะวันออกเฉียงใต้และทางตอนเหนือของจีนเมื่อฤดูใบไม้ผลิที่แล้ว บ่งชี้ถึงความจำเป็นและความสำคัญในการใช้มาตรการของทางรัฐบาลกลาง

สภาพความแห้งแล้งที่เกิดขึ้นอย่างยาวนานในจีนนี้ทำให้นานาประเทศให้ความสนใจ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุในคำเตือนเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า สภาพอากาศที่แห้งแล้งในภาคเหนือของจีนอย่างต่อเนื่องนั้น เสี่ยงที่จะกระทบการผลิตข้าวสาลีของประเทศ และยังกดดันราคาข้าวสาลีอีกด้วย

ทั้งนี้ สัญญาล่วงหน้าข้าวสาลีของสหรัฐก็ทะยานขึ้นเกือบ 2% แตะระดับเกือบจะสูงสุดในรอบ 30 เดือน

หลู่ กิวผิง หลิว ปัวเซิน และหวาง หยากวาง จากสำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ