ม.หอการค้าไทย เผยผลสำรวจผู้ขับแท็กซี่มองรัฐบาลแก้หนี้นอกระบบไม่สำเร็จ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 24, 2011 16:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจปัญหาหนี้ และความพึงพอใจต่อการให้ความช่วยเหลือของภาครัฐ (กรณีผู้ขับขี่แท็กซี่) จากผู้ขับขี่แท็กซี่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล พบว่า 85.2% มีภาวะหนี้ ซึ่งส่วนใหญ่มีทั้งหนี้ในและนอกระบบ และส่วนใหญ่จะมีสัดส่วนหนี้อยู่ที่ 21-40% ของรายได้ โดยวัตถุประสงค์ของการก่อหนี้ก็เพื่อใช้จ่ายทั่วไป 63.9% ซื้อทรัพย์สิน (รถยนต์) 28.8% ซื้อบ้าน 5.9% ลงทุนการเกษตร 0.4% และอื่นๆ 1% สำหรับจำนวนหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนอยู่ที่ 148,705.73 บาท ผ่อนชำระ 7,557.45 บาทต่อเดือน

ขณะที่เมื่อถามถึงทัศนะต่อนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมานั้น 84% ระบุไม่เข้าร่วม เพราะไม่รู้รายละเอียด ไม่กล้า และไม่เชื่อว่ารัฐบาลจะแก้ไขปัญหาได้ มีเพียง 16% ที่ระบุเข้าร่วม

อย่างไรก็ตาม กลุ่มคนที่เข้าร่วมโครงการนั้น 50.3% ระบุยังไม่ได้รับการติดต่อจากรัฐบาลหลังลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการแล้ว 36.2% ระบุมีการติดต่อแล้ว ส่วนที่เหลืออีก 13.5% ระบุได้รับเงินกู้จากสถาบันการเงิน และมีการติดต่อให้เข้าเจรจากับเจ้าหนี้แล้ว ทำให้ผู้ขับขี่แท็กซี่ที่เข้าร่วมโครงการกว่า 50% มองว่า น่าจะแก้ปัญหาหนี้นอกระบบได้น้อยถึงน้อยมาก

สำหรับทัศนะต่อการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบโดยรวมของรัฐบาลนั้น 51% ระบุแก้ไขได้น้อยถึงไม่ได้เลย

ด้านความพอใจในการนโยบายการแก้ไขหนี้นอกระบบที่รัฐดำเนินการนั้น ผู้ตอบให้คะแนน 7.89 จากเต็ม 10 คะแนน แต่เมื่อถามถึงความสำเร็จของนโยบายให้คะแนนเพียง 5.67 เท่านั้น

นายธนวรรธน์ กล่าวต่อว่า การที่รัฐบาลต่ออายุมาตรการลดค่าครองชีพต่างๆ และตรึงราคาก๊าซแอลพีจีต่อไป เป็นเรื่องที่เหมาะสม และเศรษฐกิจยังรับได้อยู่ แต่หากพ้นกำหนดตรึงราคาไปแล้ว รัฐบาลจำเป็นต้องปล่อยให้ราคาแอลพีจีเป็นไปตามกลไกตลาด เพื่อรัฐจะได้ไม่มีภาระจ่ายชดเชยมากเกินไป ที่สำคัญต้องทำให้ประชาชนรับรู้ถึงราคาแอลพีจีที่สูงขึ้น เพื่อจะได้ประหยัด

อย่างไรก็ตาม ต้องจับตาการประท้วงขับไล่ผู้นำของประเทศลิเบีย ที่หากยืดเยื้อไปอีก 2 เดือน และหากขยายวงกว้างไปถึงซาอุดิอาระเบีย อาจทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกเกิน 100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากปัจจุบันที่ใกล้เคียง 100 เหรียญฯ ซึ่งจะมีผลให้เศรษฐกิจโลกซึมตัว เพราะผู้บริโภคจะชะลอการจับจ่ายใช้สอย ชะลอการนำเข้า และส่งผลต่อเนื่องให้เศรษฐกิจไทยชะลอลงและอาจโตต่ำกว่า 4% เพราะได้รับผลกระทบจากการส่งออกที่ลดลง อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ยังคาดว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้ยังขยายตัวได้ที่ 4.5%

ดังนั้น รัฐบาลต้องใช้นโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเร่งรัดการใช้งบประมาณ และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ในเดือนมี.ค.

อนึ่ง มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้สำรวจปัญหาหนี้และความพึงพอใจต่อการให้ความช่วยเหลือของภาครัฐ (กรณีผู้ขับขี่แท็กซี่) จากผู้ขับขี่แท็กซี่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล 1,176 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 18-22 ก.พ.54


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ