ไอซีทีคาดสินเชื่อไปรษณีย์ไทยเริ่มให้บริการ เม.ย.54 เปิด 10 สาขา

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 7, 2011 09:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวมัลลิกา บุญมีตระกูล ที่ปรึกษารมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) คาดว่า บริษัท สินเชื่อไปรษณีย์ไทย จะสามารถเริ่มดำเนินการให้ประชาชนที่สนใจยื่นกู้เงินจากโครงการฯ ได้อย่างช้าที่สุดภายในเดือนเม.ย.54 โดยวางกลุ่มเป้าหมายไว้เป็นประชาชนที่มีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่าเส้นความยากจน หรือมีรายได้เท่ากับอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ วันละ 206 บาท หรือประมาณ 5,000 บาทต่อเดือน รวมถึงประชาชนที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน และมีแนวโน้มที่จะเป็นหนี้นอกระบบ รวมทั้งกำหนดการคิดอัตราดอกเบี้ย ร้อยละ2ต่อเดือน

ทั้งนี้ จากการประชุมคณะกรรมการบริษัทได้วางแผนการดำเนินงานของบริษัทฯ โดยได้มีการกำหนดลักษณะการประกอบธุรกิจเป็นการให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ในการค้ำประกัน แต่ใช้บุคคลค้ำประกันแทน

ในระยะแรกจะมีการเปิดให้บริการ ณ ที่ทำการไปรษณีย์นำร่อง จำนวน 10 สาขาทั่วประเทศ คือ 1.สาขา อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ 2.สาขา อ.นครไทย จ.พิษณุโลก 3.สาขา อ.ปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ 4.สาขา อ.เมือง จ.อุดรธานี 5.สาขา อ.แสวงหา จ.อ่างทอง 6.สาขา อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว 7.สาขา อ.บ้านตาก จ.ตาก 8.สาขา อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี 9.สาขา อ.ละงู จ.สตูล 10.สาขาเขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ ซึ่งทั้ง 10 สาขา ที่เปิดให้บริการนิ้ ถือเป็นพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลหรือมีประชาชนที่อยู่ในฐานะยากจน และด้อยโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน

ในเบื้องต้นบริษัทฯ ได้กำหนดที่จะปล่อยกู้ประมาณ 1,000 - 2,000 ราย แบ่งเป็นสาขาละ 100 - 200 คน และให้วงเงินกู้ได้ไม่เกินรายละ 10,000 บาทสำหรับประชาชนที่สนใจใช้บริการกู้เงินสามารถลงทะเบียนยื่นใบคำขอสินเชื่อได้ ณ ที่ทำการไปรษณีย์ ซึ่งจะเปิดรับสมัครเป็นช่วงๆ ประมาณสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน

ส่วนเกณฑ์การพิจารณาการขอสินเชื่อนั้นจะใช้หลักเกณฑ์ คือ ผู้ยื่นกู้ต้องเป็นคนไทยที่มีบัตรประจำตัวประชาชน มีแหล่งพำนัก ที่สามารถตรวจสอบได้ง่ายโดยบุรุษไปรษณีย์ มีวัตถุประสงค์ในการกู้เพื่อใช้ประกอบอาชีพและสามารถผ่อนชำระหนี้สินได้ภายใน 1 ปี โดย ผู้ที่สนใจยื่นกู้จะต้องรวมกลุ่มในการยื่นขอสินเชื่อกลุ่มละ 3 คน ให้เป็นผู้หญิงอย่างน้อย 2 คน เพื่อช่วยค้ำประกันหนี้สินให้กันและกัน ซึ่งผู้กู้ที่มีวินัยทางการเงินดี เมื่อชำระครบตามกำหนดภายใน 1 ปี ทางบริษัทฯ อาจมีการพิจารณาลดหย่อนอัตราดอกเบี้ยในครั้งถัดไป หรือเพิ่มวงเงินกู้มากขึ้นในปีต่อๆ ไป และบางส่วนสามารถนำไปสมทบเข้ากองทุนการออมแห่งชาติเพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิตให้กับผู้กู้ได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ