(เพิ่มเติม) ผู้ว่า ธปท.คาดปี 54-55 เงินทุนไหลเข้าสุทธิต่อเนื่อง-ผันผวนสูง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 8, 2011 12:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง"ความร่วมมือสกุลเงินเอเชียกับอนาคตการเติบโตเศรษฐกิจไทย"ในงานสัมมนาหัวข้อ"ทิศทางเศรษฐกิจไทยภายใต้ความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้าย"ว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีเงินทุนเคลื่อนย้ายเข้ามาในไทยจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจยุโรป สหรัฐฯ และญี่ปุ่น มีทั้งเข้ามาลงทุนโดยตรงและหลักทรัพย์ ซึ่งแนวโน้มปีนี้และปีหน้าคาดว่าจะยังมีเงินทุนไหลเข้าต่อเนื่อง แม้ 2 เดือนแรกจะมีการขายหุ้นออก เป็นผลมาจากที่ตลาดหุ้นไทยปีที่แล้วมีการปรับตัวขึ้นค่อนข้างมาก แต่โดยรวมเงินยังไหลออกไม่มาก ขณะที่ตลาดตราสารหนี้ยังมีเงินสุทธิไหลเข้ามาลงทุน

แนวโน้มเงินทุนเคลื่อนย้ายระวังประเทศที่จะมีมากขึ้นต่อเนื่องและมีความผันผวนมากขึ้น จากปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ โดยเฉพาะปัจจัยด้านเศรษฐกิจและการเมืองต่างประเทศ โดยเศรษฐกิจสหรัฐยังมีความเปราะบางของการฟื้นตัว ปัญหาหนี้ภาครัฐและการรัดเข็มขัดทางการคลังในยุโรป รวมถึงปัญหาความไม่สงทางการเมืองของประเทศในตะวันออกกลาง

นอกจากนั้น การปรับนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐและเอเชียเป็นปัจจัยที่ต้องจับตามอง เพราะจะทำให้เศรษฐกิจโลกมีความไม่สมดุลและก่อให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อต่อประเทศอื่น ๆ ขณะที่ไทยเองก็มีปัจจัยเรื่องการเมืองในประเทศ และยังมีปัจจัยผันแปรด้านสถาบันที่มาจากความพยายามของความร่วมมือของประเทศต่างๆ ในการประชุมสุดผู้นำประเทศ จี 20 เพื่อร่วมกันปรับความไม่สมดุลในโครงสร้างการค้าและการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมามีความคืบหน้าในการลดความไม่สมดุลได้บ้าง แต่ยังไม่มากพอที่จะแก้ความไม่สมดุลอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้เกิดแรงกดดันต่อประเทศเอเชียที่เกิดปัญหาค่าเงินแข็งค่าขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียยังเติบโตมากที่สุดในโลก เป็นปัจจัยเร่งทำให้มีเงินทุนไหลเข้ามาสู่ในภูมิภาคมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ ธปท.ได้มีการติดตามสถานการณ์และมีการออกมาตรการเพื่อดูแลการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างต่อเนื่อง และเตรียมพร้อมรับมือความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้าย เช่น การจัดตั้งระบบการติดตามภาวะเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ เพิ่มความเข้มงวดในมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงิน

พร้อมกันนั้น มีการออกมาตรการเพื่อความสมดุลของเงินทุนไหลเข้า-ออก โดยการผ่อนคลายข้อจำกัดการไหลออกของเงินทุน และในระยะยาวจะมีมาตรการดูแลเสถียรภาพเงินทุน โดยมีการศึกษาเพื่อจัดทำแผนแม่บทเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศให้ชัดเจนเป็นระบบเหมาะสมกับพัฒนาการของเศรษฐกิจไทย และสภาวะแวดล้อมทางการเงินโลก รวมทั้งยังสนับสนุนให้มีการใช้เครื่องมือทางการเงินที่เหมาะสม และเอื้อต่อการบริหารความเสี่ยงของภาคเอกชน โดยเฉพาะภาคธุรกิจเอสเอ็มอี

สำหรับความร่วมมือในภูมิภาคเพื่อรับมือความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้าย แบ่งออกเป็น 2 ด้าน คือ ความร่วมมือเพื่อรองรับปัญหาสภาพคล่องที่อาจเกิดจากไหลออกของเงินทุนเฉียบพลัน ซึ่งอาเซียน+3 ได้มีการจัดทำข้อตกลงเชียงใหม่(CMIM)เพื่อป้องกันกรณีดังกล่าวที่อาจนำไปสู่งวิกฤติทางการเงิน ส่วนระดับสากลกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ)ได้ตอบรับข้อเสนอกลุ่มจี 20 เพื่อปฏิรูปกลไกการเงินให้มีความยืดหยุ่น ให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศสมาชิกมากขึ้น

ส่วนมิติที่ 2 คือการหาแนวร่วมเพื่อลดผลกระทบความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อสนับสนุนการเจริญเติบโตของการค้าในภูมิภาค ซึ่งมีหลายแนวคิดทั้งการใช้สกุลเงินอาเซียน และการใช้สกุลเงินท้องถิ่นของประเทศในภูมิภาคในการชำระค่าสินค้า ซึ่งการศึกษาของประเทศส่วนใหญ่ยังเห็นว่าการใช้สกุลเดียวกันยังไม่ใช่รูปแบบที่เหมาะสม แต่จะเกิดขึ้นได้เมื่อเศรษฐกิจและการตลาดการเงินของแต่ละประเทศมีระดับการพัฒนาใกล้เคียงกันและมีความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจผ่านการรวมตัวทางการค้า

ขณะที่การใช้สกุลเงินท้องถิ่นชำระค่าสินค้ายังมีเงื่อนไขที่ประเทศคู่ค้าต้องมีปริมาณการค้าระหว่างกันที่มากเพียงพอที่จะช่วยลดต้นทุนได้ คุ้มค่ากับการเปลี่ยนแปลงจากการใช้เงินสกุลดอลลาร์

อย่างไรก็ตาม แนวคิดที่เสนอให้มีการนำสกุลเงินหยวนมาใช้ทางการค้าในภูมิภาค ไม่น่าจะมีข้อจำกัดที่มีนัยสำคัญในเรื่องของการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจและปริมาณการค้า แต่มีเงื่อนไขอื่นที่ทำให้การใช้สกุลหยวนไม่แพร่หลาย เห็นได้ว่าปีที่ผ่านมาจีนได้ส่งสัญญาณสนับสนุนและดำเนินการผลักดันเงินหยวนเป็นทางเลือกหนึ่งในระบบเงินตราระหว่างประเทศควบคู่ดอลลาร์และยูโร มองว่าเงินหยวนน่าจะเป็นทางเลือกที่มีศักยภาพรูปแบบใหท่ รองรับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่จะมีมากขึ้นในระยะต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ