ส.อ.ท.เสนอ 5 มาตรการบรรเทาผลกระทบก่อนการปรับลอยตัวราคาก๊าซ LPG

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 4, 2011 17:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เสนอ 5 มาตรการในการบรรเทาความเดือดร้อนและผลกระทบก่อนการปรับลอยตัวราคาก๊าซ LPG ซึ่งส่งผลให้ภาระต้นทุนผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมแก้วและกระจก และกลุ่มอุตสาหกรรมเซรามิก อุตสาหกรรม สูงขึ้นมาก เพื่อให้สามารถปรับตัวและเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ

มาตรการดังกล่าว ประกอบด้วย ขอให้ผู้ที่ใช้ก๊าซ LPG โดยติดตั้งถังชนิดหลอด ขนาด 48 กก.ไม่เกิน 20 ถัง สามารถใช้ก๊าซ LPG ได้ใน ราคาเดิม แทนของเดิมที่กำหนดติดตั้งถังไว้เพียง 10 ถัง

มาตรการที่ 2 ขอให้พิจารณาแนวทางควบคุมราคา สำหรับอุตสาหกรรมเซรามิก อุตสาหกรรมแก้วและกระจก ที่อยู่นอกเหนือจากมาตรการที่ 1 ที่ใช้ถัง BULK / ถังหลอด โดยใช้มาตรการระบบโควต้าคูปอง ซึ่งมีวงเงินสนับสนุนประมาณ 1,800 ล้านบาท/ปี ดังนี้ ให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถใช้ก๊าซ LPG ในราคาเดิมได้อีก 3 ปี, หากต้องมีการปรับขึ้นราคาภายใน 3 ปี ขอให้พิจารณาปรับขึ้นเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ปีละไม่เกิน 1 บาท / กก. รวม 3 บาท/กก. (ใน 3 ปี) ซึ่งเป็นขีดความสามารถที่ผู้ประกอบการจะสามารถปรับตัวได้ในเวลานี้

มาตรการที่ 3 ขอให้ภาครัฐจัดหาพลังงานทางเลือกที่มีราคาไม่ต่างจาก LPG ที่ใช้อยู่เดิม เช่น ก๊าซธรรมชาติ โดยเพิ่มแนวท่อก๊าซฯ ไปยังโรงงานอุตสาหกรรม/ก๊าซ LNG หรือ CNG สำหรับอุตสาหกรรมบางแห่ง ที่ไม่คุ้มค่าในการเพิ่มแนวท่อก๊าซฯ หรือพลังงานทางเลือกอื่นในราคาใกล้เคียงกับก๊าซธรรมชาติ

มาตรการที่ 4 ภาครัฐสนับสนุนงบประมาณโดยมีแผนงาน และมีระยะเวลาดำเนินการแล้วเสร็จทุกโรงงานที่เข้าร่วมภายใน 3 ปี เช่น การปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและอุปกรณ์ให้เหมาะสมกับพลังงานทางเลือก การจ้าง/จัดหาผู้เชี่ยวชาญสำหรับการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรไปใช้พลังงานทางเลือก, การประหยัดพลังงานและเทคนิคการเผาเซรามิกให้เหมาะกับพลังงานทางเลือก เป็นต้น

มาตรการที่ 5 สนับสนุนเงินทุนในลักษณะเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ Soft Loan สำหรับการย้ายฐานการผลิตไปยังแนวท่อก๊าซธรรมชาติ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ