กลุ่มพลังงานทดแทนหนุนรัฐประกาศลอยตัวราคา LPG เชื่อมาถูกทางแล้ว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 9, 2011 09:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพิชัย ถิ่นสันติสุข ประธานกิตติมศักดิ์กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า การที่รัฐบาลมีนโยบายลอยตัวราคาแก๊สหุงต้ม(แอลพีจี)ในภาคอุตสาหกรรม โดยเป็นการทยอยปรับขึ้นราคาถือเป็นแนวทางที่ถูกต้องแล้ว ซึ่งเชื่อว่าภาคอุตสาหกรรมจะไม่ได้รับผลกระทบรุนแรงอย่างที่หลายฝ่ายมีความกังวล เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ได้หาทางออกไว้รองรับแล้ว โดยการปรับเปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิงอื่นที่มีราคาถูกกว่ามาทดแทนในกระบวนการผลิต ได้แก่ น้ำมันเตา น้ำมันดีเซล เป็นต้น

"รัฐบาลได้ตรึงราคามาเป็นเวลานาน จนทำให้ปัจจุบันภาคส่วนต่างๆ มีการใช้แอลพีจีเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะภาคขนส่ง และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ที่มีการใช้เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว จนปัจจุบันต้องมีการนำเข้า 1-2 ล้านตันต่อปี และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต" นายพิชัย กล่าว

ทั้งนี้ หลังจากรัฐบาลปล่อยลอยตัวราคาแอลพีจีในภาคอุตสาหกรรมจะทำให้ภาครัฐประหยัดเงินตราที่จะนำไปอุดหนุนราคาการนำเข้าแอลพีจีประมาณ 1 หมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งควรนำเงินจำนวนดังกล่าวมาสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนในประเทศให้เติบโต และเป็นรูปธรรมมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อสร้างความชัดเจนให้เกิดกับภาคเอกชนมากขึ้น

นายพิชัย กล่าวว่า ในภาคอุตสาหกรรมยังมีการใช้เทคโนโลยีพลังงานทดแทนไม่มากเท่าที่ควร หากรัฐบาลมีการส่งเสริมอย่างจริงจังก็จะสามารถพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีพลังงานทดแทนจากต่างประเทศ เพื่อมาใช้กับประเทศไทยได้ เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตก๊าซมีเทนในกระบวนการ Gasification เพื่อนำมาเป็นเชื้อเพลิงทดแทนการใช้ก๊าซแอลพีจีได้อีกทางหนึ่งด้วย

ส่วนกรณีที่กลุ่มอุตสาหกรรมกระจก เครื่องแก้ว และเซรามิก ได้รับผลกระทบเนื่องจากไม่สามารถใช้เชื้อเพลิงอื่นๆ ที่มีราคาต้นทุนต่ำกว่าแอลพีจีได้นั้น นายพิชัย กล่าว่า อุตสาหกรรมเหล่านี้จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตมาเป็นก๊าซธรรมชาติ โดยรัฐบาลต้องหามาตรการมาช่วยเหลือต่อไป ซึ่งขณะนี้คณะทำงานร่วมของกระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม และภาคเอกชนกำลังทำงานร่วมกันอย่างเต็มที่เพื่อหาทางบรรเทาผลกระทบ ซึ่งคาดว่าจะหาทางออกได้โดยภายในระยะเวลา 1-2 เดือนนี้

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันประเทศไทยใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าในสัดส่วนที่มากเกินไปคือประมาณ 70% ของเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้าทั้งหมด จนทำให้ในแต่ละปีไทยต้องมีการเร่งสำรวจ ผลิตและนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศเป็นมูลค่ามหาศาล ซึ่งถือเป็นต้นทุนของประเทศ และที่ผ่านมารัฐบาลแต่ละชุดใช้มาตรการตรึงราคาพลังงาน ทั้งก๊าซแอลพีจี ก๊าซธรรมชาติในรถยนต์(เอ็นจีวี) และน้ำมัน เพื่อลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน ส่งผลให้ราคาพลังงานไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง เป็นการบิดเบือนกลไกตลาด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ