พณ.ชี้ปัญหาเชื้ออีโคไลระบาดเป็นกรณีศึกษาให้ผู้ส่งออกใส่ใจเรื่องคุณภาพ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 9, 2011 10:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

อธิบดีกรมส่งออกชี้การแพร่ระบาดของเชื้ออีโคไลในพืชผักที่ปลุกในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป(EU) ถือเป็นกรณีศึกษาที่ผู้ประกอบการส่งออกสินค้ากลุ่มอาหารต้องใส่ใจเรื่องคุณภาพ พร้อมสร้างระบบโลจิสติกส์ที่สามารถควบคุมคุณภาพได้ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ขณะที่ทูตพาณิชย์อังกฤษให้เฝ้าระวังการนำเข้าผักจากยุโรปมาไทย

"กรณีที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับคุณภาพและความปลอดภัยในอาหารนั้นเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และผู้ส่งออกต้องใส่ใจ และเตรียมความพร้อมเสมอ ไม่เช่นนั้นอาจทำให้เสียเปรียบในการส่งสินค้าเข้าไปจำหน่ายในตลาดประเทศพัฒนาแล้ว ที่อาจจะใช้เป็นเครื่องมือกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี เช่น มาตรการสิ่งแวดล้อม สุขอนามัยและสุขอนามัยพืช เป็นต้น ส่งผลให้การส่งสินค้าไปยังประเทศพัฒนาแล้วทำได้ยากขึ้น" นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก กล่าว

ขณะนี้กลุ่มอียูกำลังประสบปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อแบคทีเรียอีโคไลจากพืชผัก ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 25 คน และมีผู้ล้มป่วยกว่า 2,325 คน ใน 14 ประเทศ ทำให้หลายประเทศออกมาตรการห้ามนำเข้าผักและผลไม้จากอียู แม้ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่าต้นตอของการแพร่ระบาดมาจากพืชชนิดใด สถานที่ไหน และกระบวนการใดทำให้มีการติดเชื้อ แต่ทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังมากขึ้น

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการของไทยจำเป็นต้องสร้างระบบกระจายสินค้าตั้งแต่ก่อนปลูก ระหว่างปลูก ขนส่ง การผลิต บรรจุและการเก็บรักษา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับอาหารส่งออก เพิ่มศักยภาพและโอกาสทางการค้ากับสินค้าอาหารของไทย

ด้านนายอดิสัย ธรรมคุปต์ ผอ.สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ รายงานผลกระทบที่อาจจะมีกับไทยว่า ในปี 2553 ไทยนำเข้าพืชผักจากอังกฤษมีมูลค่า 56.9 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเป็นสินค้า 6 ประเภท คือ ธัญพืชและแป้ง, เมล็ดพืชน้ำมันและน้ำมันพืช, ผลิตภัณฑ์ยาง, โกโก้, พืชที่มีกลิ่นหอม และพืชผักอื่นๆ โดยสินค้าพืชผักอื่นๆ นี้ ไทยนำเข้าจากอังกฤษคิดเป็นมูลค่า 9.6 ล้านเหรียญสหรัฐ

"สินค้าประเภทพืชผักสดที่ไทยนำเข้าส่วนใหญ่ใช้เป็นสินค้าวัตถุดิบหรือสินค้าสำหรับธุรกิจอุตสาหกรรรม ในส่วนของสินค้าที่มีการนำเข้าเพื่อการบริโภคจะอยู่ในรายการพืชผักอื่นๆ ในกลุ่มตลาดพืชผักพิเศษที่นำเข้าจากภูมิภาคยุโรป และสินค้าที่นำเข้าอาจจะมีการปนเปื้อนของเชื้อดังกล่าวได้" นายอดิสัย กล่าว

โดยสถิติการเดินทางระหว่างอังกฤษและเยอรมันนีมีราว 30,000 คนต่อวัน ซึ่งเกรงว่าเชื้ออาจจะระบาดไปยังอังกฤษได้ เนื่องจากขณะนี้พบผู้ป่วยที่ติดเชื้อดังกล่าวแล้วจำนวน 7 คน โดย 3 คนเป็นผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง แม้เชื้อโรคดังกล่าวยังไม่เข้าสู่วงจรอาหารของประเทศ ขณะที่ห้างซุปเปอร์มาเก็ตขนาดใหญ่ยังคงมีการนำเข้าผักสดที่ผลิตจากเยอรมันนีอยู่ เช่น ผักกาด กระหล่ำปลี และข้าวโพดหวาน เป็นต้น

นายอดิศัย กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโรคจากยุโรปไปยังภูมิภาคอื่น หรือการระบาดมาถึงไทยยังต้องเฝ้าระวัง เช่น การตรวจสอบผู้ที่เดินทางจากยุโรปมาท่องเที่ยวประเทศไทย หรือนักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางไปยุโรปโดยเฉพาะไปเขตประเทศเยอรมันนี รวมทั้งต้องจับตามมองและเตรียมมาตรการที่ป้องกันสินค้าพืชผักสดที่ประเทศไทยนำเข้าจากอียู ซึ่งอาจจะเป็นพาหนะโรคมาสู่ไทยได้อีกทางหนึ่งด้วย

สำหรับสถานการณ์ส่งออกผักผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง และแห้ง ตามคาดการณ์ปี 2554 สินค้ากลุ่มนี้จะมีมูลค่า 826.23 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 10% โดย 3 เดือนแรกปีนี้(ม.ค.-มี.ค.54) มีปริมาณ 102,205 ตัน คิดเป็นมูลค่า 200.08 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 36.65% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วน 8% ของการส่งออกทั้งหมด

โดยตลาดส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ จีน มูลค่า 39.66 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 45%, ญี่ปุ่น มูลค่า 32.64 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.87%, อินโดนีเซีย มูลค่า 27.25 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 330.44%, ฮ่องกง มูลค่า25.67 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 23.16% และสหรัฐ มูลค่า 11.51 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 10.55%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ