เลือกตั้ง'54:ตัวแทน 5 พรรคการเมืองร่วมแสดงวิสัยทัศน์ด้านท่องเที่ยว

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 16, 2011 18:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ในการสัมมนา "อนาคตท่องเที่ยวไทยกับบริบททางการเมืองใหม่" มีตัวแทนจาก 5 พรรคการเมือง มาร่วมแสดงวิสัยทัศน์ด้านการท่องเที่ยว ประกอบด้วย นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน จากพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.), นายปลอดประสพ สุรัสวดี จากพรรคเพื่อไทย(พท.), นายกรพจน์ อัศวินวิจิตร จากพรรคชาติไทยพัฒนา(ชทพ.), นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ จากพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน(ชพ.) และนายสรยุทธ์ เพ็ชรตระกูล จากพรรคภูมิใจไทย(ภท.)

โดยนายอภิรักษ์ ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ปัญหาที่ผ่านมาทั้งวิกฤติการทางการเมือง หรือภัยธรรมชาติที่อาจส่งผลทำให้การประสานงานกับกระทรวงการท่องเที่ยวฯ เกิดความล่าช้านั้น สิ่งสำคัญคือการติดขัดจากกลไกระบบราชการที่ทำให้การสั่งการล่าช้า ดังนั้นจึงควรแยกกลไกบางหน่วยงานออกจากส่วนราชการ และหน่วยงานต่างๆ ควรปรับปรุงกลไกการทำงานด้วย

ส่วนความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงหน่วยงานภายในกระทรวงหรือไม่นั้น มองว่า การรวมตัวของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) อาจมีส่วนช่วยในการแก้ไขปัญหาจุดนี้ได้

ส่วนกรณีการปล่อยสินเชื่อที่ผู้ประกอบการรู้สึกว่าภาครัฐไม่ให้ความช่วยเหลือได้เต็มที่นั้น นายอภิรักษ์ มองว่า กลไลธนาคารรัฐที่จะปล่อยสินเชื่อถือว่าเป็นหน่วยงานหลักที่ต้องให้ความช่วยเหลือ

อย่างไรก็ดี พรรคประชาธิปัตย์มีบุคคลากรที่มีความเหมาะสม สามารถเข้ามาทำงานในกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ได้ แต่คงต้องขึ้นกับผลการเลือกตั้งด้วย ซึ่งหากพรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนเสียงมากก็มีโอกาสที่จะได้เข้ามาบริหารงานในกระทรวงนี้ แต่หากมีพรรคร่วมก็คงต้องพิจาณาอีกครั้ง

ด้านนายปลอดประสพ ตัวแทนพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ปัญหาวิกฤติการเมืองและภัยธรรมชาติที่ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวนั้น มองว่านายกรัฐมนตรีควรมีอำนาจในการเข้าไปสั่งการอย่างเต็มที่ในยามที่เกิดวิกฤติ แต่ที่ผ่านมากระทรวงนี้มักเป็นของพรรคร่วมรัฐบาล ส่วนจะต้องปรับปรุงหน่วยงานภายในหรือไม่นั้น คงจำเป็นต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหน่วยงานต่างๆ ภายในกระทรวง ซึ่งหากจำเป็นต้องแก้กฎระเบียบต่างๆ ก็จำเป็นต้องทำ รวมถึงรัฐมนตรีต้องมีอำนาจสั่งการได้โดยตรง

สำหรับการปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวนั้น นายปลอดประสพ กล่าวว่า ต้องใช้กลไกของภาครัฐเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการด้วยการเข้าไปเจรจาโดยตรงกับธนาคารของรัฐ เพื่อให้มีการปล่อยสินเชื่อได้คล่องตัวยิ่งขึ้น

นายกรพจน์ ตัวแทนพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า การแก้ปัญหาท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากการเมืองและภัยธรรมชาติ คงต้องขึ้นกับผู้นำประเทศ แต่ต้องดูว่าผู้นำจะมีอำนาจสั่งการไปยังหน่วยงานต่างๆ ได้เต็มที่หรือไม่ ส่วนความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงกลไกการทำงานในหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวเพื่อให้เกิดความรวดเร็วนั้น มองว่า ภาคเอกชนควรช่วยเหลือตัวเองก่อนจะดีที่สุด แต่หากมีความจำเป็นที่ต้องขอความร่วมมือจากภาครัฐก็ทำได้ แต่เชื่อว่าภาคเอกชนจะมีความคล่องตัวในการแก้ไขปัญหาได้มากกว่า เพราะบางครั้งการรอความช่วยเหลือจากภาครัฐจะติดขัดกฎระเบียบที่ล่าช้า

สำหรับการปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวนั้น พรรคฯ มีนโยบายการปล่อยสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กเป็นหลัก ซึ่งจะยึดกับธนาคารภาครัฐ ซึ่งพรรคมีนโยบาย"เถ้าแก่เงินล้าน" ปลอดดอกเบี้ย 3 ปี เป็นนโยบายหลักเรื่องนี้

ทั้งนี้ พรรคเชื่อว่าหากได้รับโอกาสให้เข้าไปทำงานในกระทรวงนี้ พรรคจะมีบุคลากรที่พร้อมจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะที่นายประดิษฐ์ ตัวแทนพรรคชาติไทยพัฒนา(ชทพ.) กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรงทางการเมืองและภัยธรรมชาติที่มีต่อการท่องเที่ยวนั้นขึ้นอยู่กับรูปแบบการทำงานของผู้นำรัฐบาลในแต่ละยุคซึ่งทำให้มีประสิทธิภาพแตกต่างกันไป

ส่วนการปรับปรุงโครงสร้างภายในกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเพื่อให้การทำงานมมีประสิทธิภาพนั้นคงต้องพิจารณาตามความเป็นจริง โดยต้องพิจารณาถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงอำนาจของคณะรัฐมนตรีที่จะดำเนินการเรื่องดังกล่าว

ส่วนปัญหาการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการท่องเที่ยวล่าช้านั้น นายประดิษฐ์ กล่าวว่า ควรจะใช้สถาบันการเงินของรัฐมาเป็นกลไกในการแก้ปัญหาดังกล่าว

สำหรับบุคลากรที่จะเข้ามาบริหารกระทรวงการท่องเที่ยวฯ นายประดิษฐ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ชทพ.ได้รับโอกาสในการทำงานมาแล้วจึงอยากได้โอกาสที่จะสานงานต่อไป เพราะรู้ถึงจุดแข็งและจุดอ่อนในการทำงานเรื่องนี้เป็นอย่างดี

และนายสรยุทธ์ เพ็ชร์ตระกูล ตัวแทนพรรคภูมิใจไทย(ภท.) กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาที่ที่ผ่านมาทางผู้นำรัฐบาลยังไม่สามารถตอบโจทย์ได้ทั้งหมด ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าควรมีการจัดตั้งองค์กรขึ้นมากำกับดูแลเป็นการเฉพาะ และจัดหาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถมาดูแล

ส่วนการปรับโครงสร้างภายในกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬานั้นควรที่จะมีการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานภายในอย่างเป็นระบบ ขณะที่การปล่อยสินเชื่อควรมีการจัดตั้งเป็นกองทุนขึ้นมาดูแลเป็นการเฉพาะ หรือการออกกฎกติกาที่จะช่วยเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการ สำหรับบุคลากรของพรรคที่จะมาดูแลงานด้านนี้คงเป็นเรื่องที่เร็วเกินไป เพราะควรจะรอดูผลการเลือกตั้งก่อน แต่คิดว่ามีความพร้อมที่จะดูแลงานในส่วนนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ