ผอ.ศูนย์พยากรณ์ฯเผยนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ-ป.ตรีช่วยดัน GDP โตปีละ 1%

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday July 24, 2011 14:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ผลผลสำรวจจากผู้ประกอบการ 800 ตัวอย่าง เกี่ยวกับนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท และการปรับเงินเดือนให้กับผู้สำเร็จระดับปริญญาตรีแรกเข้า 15,000 บาทของรัฐบาลใหม่จะช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชน ซึ่งส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ(GDP) เพิ่มขึ้นได้ร้อยละ 1 ต่อปี แต่ภาคเอกชนไม่สามารถแบกรับภาระได้เพียงฝ่ายเดียว

โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่เห็นด้วยแต่ขอให้รัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือด้วย เพราะหากดำเนินการทันทีจะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตขยับสูงขึ้นจนกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินอย่างรุนแรงอาจถึงขั้นต้องปิดกิจการ หรือปรับลดคนงาน และบางส่วนอาจหันไปใช้แรงงานต่างด้าวหรือหาเครื่องมือเครื่องจักรเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ รัฐบาลควรมีมาตรการชดเชยด้วยการปรับลดภาษีนิติบุคคล หรือทยอยปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โดยเริ่มในจังหวัดนำร่องก่อนจะขยายให้ครอบคลุมทั่วประเทศในปี 55-56 ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ แต่หากดำเนินการเร็วเกินไป หรือทำแล้วไม่มีกลไกรองรับ อาจทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้รับผลกระทบเชิงลบมากกว่าเชิงบวกในระยะสั้น

ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจฯ กล่าวว่า จากการประเมินข้อมูลเบื้องต้นพบว่ามีแรงงานขั้นต่ำประมาณ 5 ล้านคน หากปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำจากปัจจุบันในอัตรา 160-220 บาทต่อคนต่อวัน ต้องใช้เงินประมาณ 140,000 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ