Analysis: แผนสร้างงานใหม่ของโอบามาจะสามารถเยียวยาวิกฤตในสหรัฐได้หรือไม่

ข่าวต่างประเทศ Friday September 9, 2011 18:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐได้แจกแจงแผนการสร้างงานต่อสภาคองเกรสเมื่อคืนวันพฤหัสบดี แต่ก็ยังมีหลายฝ่ายตั้งข้อกังขาว่า มาตรการดังกล่าวจะช่วยลดอัตราว่างงานที่อยู่ในระดับสูงของประเทศได้หรือไม่

แผนสร้างงานมูลค่า 4.47 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งรู้จักกันในชื่อกฎหมาย American Jobs Act มีเป้าหมายที่จะสร้างงาน 1 ล้านตำแหน่ง และครอบคลุมโครงการต่างๆ เช่น การจูงใจด้านภาษีสำหรับภาคธุรกิจ การลงทุนในสาธารณูปโภคพื้นฐาน การให้ความช่วยเหลือพิเศษแก่พนักงานที่ย้ายสถานที่ทำงาน และการผ่อนปรนนโยบายจัดเก็บภาษีพนักงานในกลุ่มชนชั้นกลาง

แผนการใหม่นี้สืบทอดมาจากทฤษฎี Keynesianism ของจอห์น เมย์นาร์ด เคย์เนส หรือทฤษฎีด้านเศรษฐกิจมหภาคที่มุ่งเน้นเรื่องการลดอัตราว่างงานด้วยการใช้งบประมาณของรัฐบาล ซึ่งพรรคเดโมแครตเชื่อว่า รัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินการอย่างดีที่สุดเพื่อที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ยากลำบากเช่นนี้

พรรคเดโมแครตมองว่า เนื่องจากเศรษฐกิจถดถอยมากกว่าที่ได้มีการคาดการณ์ไว้ การใช้จ่ายภาคสาธารณะจึงยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัว หลังจากที่ภาวะถดถอยสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการมา 2 ปี

ทั้งนี้ การลดภาษี ซึ่งคิดเป็น 1.75 แสนล้านดอลลาร์ หรือ 40% ของงบทั้งหมดนั้น จะถูกนำไปจัดสรรให้กับชาวอเมริกันโดยเฉลี่ย 1,500 ดอลลาร์ต่อครอบครัว โดยทำเนียบขาวหวังว่า มาตรการนี้จะช่วยกระตุ้นการบริโภค ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่สำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจสหรัฐ

แต่ถึงกระนั้น ชาวอเมริกันก็ยังไม่มั่นใจเกี่ยวกับแนวโน้มของเศรษฐกิจ และยังลังเลที่จะใช้จ่าย

เบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ กล่าวเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า ยอดการใช้จ่ายภาคครัวเรือนของสหรัฐอ่อนแอผิดปกติ

ธนาคารกลางสหรัฐคาดว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงอีกในอนาคตอันใกล้นี้ โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่จะกระทบแนวโน้มของเศรษฐกิจมากขึ้น

เศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งขยายตัวเพียง 0.7% ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ได้รับการคาดหมายว่าจะยังคงขยายตัวอย่างซบเซาต่อไปในระยะใกล้ และคาดว่า อัตราว่างงานซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 9.1% ก็จะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไปจนถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จะจัดขึ้นในปี 2555

จากข้อมูลในอดีตชี้ให้เห็นว่า ไม่มีประธานาธิบดีคนใดชนะการเลือกตั้งในสมัยที่ 2 หากการว่างงานอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับปัจจุบัน

โอบามาคงจะต้องใช้สำนวนโวหารเพื่อฟื้นความเชื่อมั่นของประชาชน ในขณะที่เขากำลังเผชิญกับความเป็นไปได้ที่จะหมดโอกาสทางการเมืองและข้อสงสัยเกี่ยวกับความเป็นผู้นำของเขา

อย่างไรก็ดี กลุ่มผู้สังเกตการณ์กล่าวว่า ข้อเสนอล่าสุดของโอบามา ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด

แม้โอบามาจะยอมรับว่า แผนการสร้างงานของเขาไม่ใช่กระสุนที่จะแก้ปัญหาทั้งหมดทั้งปวงได้ แต่เขาก็ไม่ย่อท้อ

ในสายตาของรีพับลิกัน ใบสั่งยาทางเศรษฐกิจของโอบามาครั้งนี้ ไม่ประสบผลสำเร็จ

ด้วยยอดขาดดุลงบประมาณจำนวนมหาศาล ผู้ว่างงาน 14 ล้านคนที่ไม่มีตำแหน่งงานใหม่เพิ่มขึ้นในเดือนส.ค. รวมทั้งการลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบันของสหรัฐจึงเรียกได้ว่าไม่ดีเอาเสียเลย

แผนการของโอบามายังถูกท้าทายจากหลายฝ่ายในเวทีการเมืองซึ่งมีมุมมองที่แตกต่าง

มูลนิธิเฮอริเทจ ฟาวเดชั่น ซึ่งเป็นกลุ่มนักวิชาการที่ทรงอิทธิพลของรีพับลิกันในวอชิงตัน ได้เสนอแนวทางคลี่คลายวิกฤตด้านแรงงานออกเป็น 5 ข้อหลัก โดยมูลนิธิต้องการให้รัฐบาลดำเนินการน้อยลง ไม่ใช่มากขึ้น พร้อมระบุว่า รัฐบาลสามารถฟื้นความเชื่อมั่นและขจัดความไม่แน่นอนได้ ด้วยการละเว้นการขึ้นภาษีกับคนรวย ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่สร้างงาน นักวิชาการกลุ่มนี้ยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลควบคุมการใช้จ่าย ยกเลิกกฎระเบียบที่ไม่จำเป็น และยกเลิกการปฏิรูประบบบริการสุขภาพของโอบามาเสีย

สรุปได้ว่า พรรครีพับลิกันไม่ต้องการให้รัฐบาลดำเนินนโยบายใหญ่โต ขณะที่เดโมแครตไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว

แนวทางของทั้ง 2 พรรคต่างก็ดูสมเหตุสมผล โดยทั้ง 2 ฝ่ายมองว่า อาจจะมีแนวทางที่จะสามารถลงมือทำร่วมกันได้ แต่ก็ยอมรับว่า การฟื้นเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วนั้นเป็นเรื่องที่ลำบาก

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์เศรษฐกิจชี้ว่า วิธีสุดท้ายที่จะแก้ไขวิกฤตแรงงานได้ก็คือ เวลา อย่างไรก็ดี ในขณะที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีกำลังใกล้เข้ามานั้น สิ่งที่นักการเมืองของสหรัฐและผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงยังขาดอยู่ในเวลานี้ก็คือ ความอดทน

โดยหลิว หลี่นา จากสำนักข่าวซินหัว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ