กรมปศุสัตว์สั่งเฝ้าระวังไข้หวัดนก, UAE อนุญาตนำเข้าไก่สดแช่แข็งจากไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 14, 2011 12:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

อธิบดีกรมปศุสัตว์สั่งคุมเข้มเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก หลังจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ(FAO) แจ้งเตือนภัยการระบาดของโรคไข้หวัดนกในทวีปเอเชีย ล่าสุดประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์(ยูเออี) ประกาศยกเลิกคำสั่งห้ามนำเข้าไก่สดแช่แข็งจากไทย หลังไม่พบปัญหาเรื่องโรคระบาด

"แม้ว่าประเทศไทยจะไม่พบโรคไข้หวัดนกมานานมากกว่า 2 ปี 10 เดือนแล้ว นับจากวันที่ทำลายสัตว์ป่วยรายสุดท้ายเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2551 แต่กรมปศุสัตว์ยังดำเนินการเฝ้าระวังควบคุมและป้องกันโรคอย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง" นายปรีชา สมบูรณ์ประเสริฐ อธิบดีกรมปศุสัตว์

ทั้งนี้ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติได้แถลงเตือนภัยเกี่ยวกับการระบาดของเชื้อไข้หวัดนกชนิดรุนแรง H5N1 ในสัตว์ปีกทวีปเอเชียว่ามีแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมของเชื้อไวรัสหรือกลายพันธุ์ได้ โดยตั้งแต่ปี 2546 ที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ในสัตว์ปีกอย่างกว้างขวางกระจายไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก และได้มีการทำลายสัตว์ปีกไปมากกว่า 400 ล้านตัว เพื่อควบคุมการระบาด ส่งผลให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และในช่วง 9 ปีที่ผ่านมามีรายงานผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยจำนวน 565 ราย เสียชีวิต 331 รายทั่วโลก

โดยการเสียชีวิตล่าสุดเกิดขึ้นที่ประเทศกัมพูชาช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2554 และพบว่าช่วงปี 2549-2551มีรายงานว่าจำนวนครั้งของการระบาดมีแนวโน้มขยับขึ้น อีกทั้งพื้นที่ของการระบาดก็มีแนวโน้มกว้างขึ้นเช่นกัน โดยประเทศที่ยังมีการแพร่เชื้อในสัตว์ปีกอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ บังคลาเทศ จีน อียิปต์ อินเดีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม และเมื่อศึกษาถึงลักษณะพันธุกรรมของเชื้อไวรัสไข้หวัดนกพบว่า มีการเปลี่ยนแปลง(กลายพันธุ์) ไปทีละน้อยตามธรรมชาติของเชื้อ เช่น มีสายพันธุ์ H5N1 clade 2.3.2.1 ในสัตว์ปีกประเทศเวียดนาม จึงเกรงว่าวัคซีน H5N1 ที่ใช้ฉีดป้องกันโรคในสัตว์ปีก(ซึ่งใช้มากในประเทศจีน เวียดนาม และอินโดนีเซีย) จะไม่สามารถป้องกันโรคได้

"FAO ได้แนะนำให้ประเทศต่างๆ เตรียมความพร้อมและดำเนินมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันโรคในสัตว์ปีกอย่างเข้มแข็ง พร้อมทั้งเอาใจใส่เฝ้าระวังและป้องกันการติดเชื้อในคนอย่างเต็มที่ด้วย" นายปรีชา กล่าว

อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า กรมฯ ยังดำเนินการเฝ้าระวังควบคุมและป้องกันโรคอย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง ได้แก่ การกำชับให้เครือข่ายเฝ้าระวังโรค ทั้งอาสาปศุสัตว์ อาสาสมัครสาธารณสุข กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์การบริหารงานส่วนตำบล(อบต.) ในพื้นที่และเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ สังเกตอาการสัตว์ปีกหากพบว่ามีอาการสงสัยโรคไข้หวัดนกให้รีบดำเนินการควบคุมโรคทันทีและประสานงานกับหน่วยงานสาธารณสุขในการเฝ้าระวังโรคในคนด้วย เพื่อการเฝ้าระวังโรคทั้งภาคปศุสัตว์และสาธารณะสุขต่อไป และได้กำหนดให้มีการรณรงค์ค้นหาโรคในสัตว์ปีกแบบบูรณาการ(x-ray) โดยให้มีการเคาะประตูบ้านเกษตรกรทุกราย ฟาร์มสัตว์ปีกทุกฟาร์ม เพื่อสอบถามอาการสัตว์ปีกและสุ่มเก็บตัวอย่างปีละ 2 ครั้ง ในช่วงเดือนมกราคมและเดือนกรกฎาคม 2554

นอกจากนี้ยังให้มีการรณรงค์ทำความสะอาดและทำลายเชื้อโรคในพื้นที่เสี่ยงทั่วประเทศปีละ 4 ครั้ง เพื่อเป็นการฆ่าเชื้อโรคที่อาจแฝงตัวอยู่ในสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงไก่พื้นเมืองในเล้า หรือโรงเรือนที่ป้องกันโรคได้ มีการจัดระบบการเลี้ยงไก่ชนให้มีมาตรฐานป้องกันโรคได้ มีการเฝ้าระวังและควบคุมการเคลื่อนย้ายเป็ดไล่ทุ่ง เป็นต้น

ส่วนของการผลิตวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดนกนั้น ประเทศไทยไม่มีนโยบายให้ใช้มาตั้งแต่แรกจนถึงปัจจุบัน ซึ่งส่งผลดีต่อระบบการเฝ้าระวังและควบคุมโรคไข้หวัดนกที่ผ่านมาเป็นอย่างมาก เมื่อมีโรคไข้หวัดนกในประเทศเพื่อนบ้าน

โดยกรมปศุสัตว์ได้กำหนดให้ทุกจังหวัดตามแนวชายแดนทั่วประเทศเข้มงวดการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกและโรคระบาดอื่นในสัตว์ปีก และให้ด่านกักกันสัตว์ตั้งจุดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคยานพาหนะในบริเวณจุดผ่านแดนทุกแห่ง ห้ามอนุญาตนำเข้าสัตว์ปีกและซากสัตว์ปีกจากประเทศที่พบโรคไข้หวัดนกจนกว่าสถานการณ์โรคจะสงบ พร้อมประสานงานกับหน่วยงานที่รับผิดชอบแนวชายแดน เช่น ศุลกากร ด่านตรวจคน เข้าเมือง ทหาร ตำรวจตระเวนชายแดน เป็นต้น ให้ตรวจสอบตรวจค้นผู้ที่เดินทางเข้าประเทศอย่างละเอียดว่ามีการลักลอบนำสัตว์ปีกหรือซากสัตว์ปีกเข้าราชอาณาจักรหรือไม่ ทั้งรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถจักรยาน เรือ รถเข็น ตลอดจนการเดินเท้าเข้ามา หากพบการกระทำผิดให้จับกุมดำเนินคดี ยึดของกลางเพื่อตรวจพิสูจน์ หากพบว่าเป็นโรคระบาดหรือพาหะของโรคระบาดให้ทำลายตามกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์ต่อไป

นายปรีชา กล่าวว่า ล่าสุดกระทรวงสิ่งแวดล้อมและน้ำของยูเออี ได้ออกคำสั่งเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2554 ว่าด้วยการนำเข้าสัตว์จากราชอาณาจักรไทย ตามกฎกระทรวงว่าด้วยเงื่อนไขการนำเข้าสัตว์ปีกที่มีชีวิตทุกประเภท เนื้อสัตว์ปีก ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ปีก ไข่ฟักและลูกสัตว์ปีกที่มีอายุ 1 วันจากประเทศในทวีปเอเชีย ซึ่งเป็นไปตามคำขอจากหน่วยงานของไทยให้ยกเลิกการห้ามนำเข้าไก่และผลิตภัณฑ์จากไก่จากราชอาณาจักรไทย

ในคำสั่งดังกล่าว อนุญาตให้นำเข้าสัตว์ปีกจากประเทศไทยได้ โดยให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในกฎกระทรวง ฉบับที่ 354/2011 ทำให้ประเทศไทยสามารถส่งออกไก่สดไปยังยูเออีได้ และขณะนี้ประเทศไทยได้ส่งออกไก่สดแช่แข็งไปยังประเทศบาห์เรนตั้งแต่เดือนมกราคม 2554 จนถึงปัจจุบันจำนวน 100 ตู้ น้ำหนัก 2,250 ตัน มูลค่า 112.5 ล้านบาท และจะสามารถส่งออกได้ถึงสิ้นปี จำนวนมากกว่า 150 ตู้ มูลค่ารวมมากกว่า 180 ล้านบาท ซึ่งได้รับแจ้งว่าไม่มีปัญหาเรื่องโรค และไม่มีสินค้าโดนส่งกลับ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ