(เพิ่มเติม) ธปท.เผยศก.Q3 ยังมีแรงส่ง,รายงานปัจจัยใน-ตปท.เข้า กนง.ทบทวนคาดการณ์ GDP

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 30, 2011 15:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ระบุว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไตรมาส 3/54 ยังมีแรงส่งให้ขยายตัวได้ดี จากการบริโภคและการลงทุนที่ยังเติบโตได้ดี ประกอบกับมาตรการของรัฐบาลเข้ามากระตุ้นเพิ่มเติม โดยเฉพาะในเดือน ส.ค.เศรษฐกิจปรับตัวดีกว่า ก.ค.ทุกหมวด แต่มีปัจจัยลบภายนอกเข้ามากดดัน ซึ่ง ธปท.จะนำแสนอปัจจัยภาวะเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินพิจารณาในวันที่ 19 ต.ค.นี้

ธปท.แถลงภาวะเศรษฐกิจเดือนส.ค.54 ในวันนี้ว่า เศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนการผลิตทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกลับมาขยายตัวหลังจากหดตัวในเดือนก่อน ขณะที่อุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศขยายตัวต่อเนื่อง สำหรับอัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น ทั้งดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิต ขณะที่การคาดการณ์เงินเฟ้อชะลอลง แต่ยังอยู่ในระดับสูง

นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ ธปท.กล่าวว่า ในขณะนี้ปัญหาเศรษฐกิจโลกยังมีผลกระทบต่อไทยไม่มาก โดยเฉพาะในด้านการส่งออก เนื่องจากผู้ประกอบการได้มีการกระจายสินค้าและกระจายตลาดไปยังภูมิภาคอื่น ๆ จึงสามารถรองรับผลกระทบจากปัญหาวิกฤติหนี้ในยุโรปและปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐได้ดี แต่ยอมรับว่าอาจมีผลต่อตลาดเงินตลาดทุนบ้าง ก็จะมีรายงานให้ กนง.ได้รับทราบ

แต่ภาพรวมไตรมาส 3/54 เศรษฐกิจของไทยยังเห็น momentum ของการเติบโต เนื่องจากการบริโภคและการลงทุนขยายตัวได้ดีจากผลของราคาสินค้าเกษตรอยู่ในระดับที่ดี ประกอบกับมาตรการภาครัฐเข้ามาช่วยกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจ แม้เดือน ก.ย.จะมีปัจจัยภายนอกประเทศและในประเทศกดดันจีดีพีบ้าง แต่โดยรวมตัวเลขยังดีอยู่ โดยเฉพาะเดือน ส.ค.เศรษฐกิจปรับตัวดีกว่า ก.ค. ทุกหมวดทั้งด้านการผลิตการบริโภคและการลงทุน

แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อในเดือน ส.ค.จะเร่งตัวขึ้นบ้าง แต่การคาดการณ์เงินเฟ้อชะลอตัวลง ภาคเอกชนมองเงินคาดการณ์เงินเฟ้อ 12 เดือนหน้าชะลอลงเหลือ 3.8%จากที่เคยคาดไว้ในระดับ 4.0% ในเดือน ก.ค.

อย่างไรก็ตาม คงต้องติดตามดูในระยะต่อไป เพราะผลผลิตด้านอุตสาหกรรมเชื่อว่าน่าจะขยายตัวดีขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ จากปัญหาด้านซัพพลายคลี่คลายลง นอกจากนั้นยังมีนโยบายรถคตันแรกมากระตุ้นด้วย ขณะที่การผลิตฮาร์ดิสก์ไดร์ฟ(HDD)ระยะสั้นจะขยายตัวดีเพราะมีความต้องการจากจีนอยู่ และมีการปรับเปลี่ยนรุ่นคอมพิวเตอร์ใหม่ แต่ระยะยาวมีโอกาสชะลอลงจากกระแสความนิยมแท็ปเล็ต

นายเมธี กล่าวว่า ในการประชุม กนง. คงจะยังไม่ได้นำปัญหาน้ำท่วมมาเป็นปัจจัยในการพิจารณาทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องจากมองว่าเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในระยะสั้น แม้ว่าจากเดือน ส.ค.ถึงปัจจุบันจะเห็นผลกระทบเกิดขึ้นบ้าง แต่ระยะต่อไปเชื่อว่าจะมีแรงหนุนจากรายได้เกษตรกร การจ้างงาน มาตรการภาครัฐ และการใช้จ่ายงบประมาณ ขณะนี้ปัญหาน้ำท่วมยังไม่ยุติ ดังนั้น ธปท.ก็ยังไม่มีข้อสรุปเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้น และต้องติดตามต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ