(เพิ่มเติม) คลังเผยธปท.เสนอใช้เงินเฟ้อทั่วไปเป็นกรอบเป้าหมายปี 55ที่ 3% บวก/ลบ1.5%

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 4, 2011 19:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว.คลัง เปิดเผยผลการหารือกับนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ในช่วงเย็นวันนี้ว่า ธปท.เสนอให้ปรับมาใช้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป(Headline Inflation)เพื่อกำหนดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ(Inflation Targeting)ในปี 55 แทนการใช้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน(Core Inflation) โดยคาดว่าจะกำหนดที่ระดับ 3.0% บวก/ลบ 1.5%

"ผู้ว่าการ ธปท.รายงานผลหลังหารือกับคณะกรรมการนโยบายการเงินนัดพิเศษที่ผ่านมา โดยเห็นว่าควรกระบวนการเปลี่ยนแปลงการวางกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อจากเงินเฟ้อพื้นฐานเป็ฯเงินเฟ้อทั่วไป และจากเดิมมีการกำหนดเป็นรายไตรมาส ให้เปลี่ยนแปลงเป็นเฉลี่ยรายปี อีกทั้งเปลี่ยนจากกรอบที่เป็นช่วง ให้เป็นเปลี่ยนจุด (point) โดยอยู่ที่ 3.0 บวก/ลบ 1.5%"นายธีระชัย กล่าวในการแถลงผลการหารือ

อย่างไรก็ตาม การหารือวันนี้เป็นเพียงการเสนอแนวคิดเบื้องต้น ซึ่งธปท.จะต้องนำเสนอกลับมาอย่างเป็นทางการให้กระทรวงพิจารณาก่อนจะส่งเรื่องเข้าสู่วาระการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ต่อไป

นายประสาร กล่าวว่า ที่ประชุม กนง.นัดพิเศษเห็นว่าเครื่องมือในการกำหนดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อสามารถเปลี่ยนแปลงได้ใน 3 ด้านคือ จากปัจจุบันใช้ Core Inflation เป็นหลัก แต่ประชาชนส่วนใหญ่และกระทรวงพาณิชย์จะยึด Headline Inflation เพราะมองว่าสามารถสื่อสารได้เข้าใจมากกว่า และในหลายประเทศ ก็เปลี่ยนมาเป็น Headline Inflation หมดแล้ว

นอกจากนั้น หากใช้ Headline Inflation ที่บางครั้งราคาอาหารและหลังงานสูงขึ้นหรือลดลงในบางช่วงเวลานั้น การใช้กรอบเงินเฟ้อรายไตรมาสจะทำให้การใช้นโยบายเงินเข้มงวดหรือผ่อนคลายเกินความจำเป็น ส่วนการกำหนดตัวเลขกรอบเป้าหมายเงินที่ 3% เพราะมองว่ามีความสอดคล้องกับ Headline Inflation ในระยะยาว และการกำหนดให้มีช่วงบวก/ลบ 1.5% เนื่องจากพิจารณาตัวเลขในอดีตอัตราเงินเฟ้อจะมีการแกว่งตัวอยู่ในกรอบดังกล่าว

ทั้งนี้ มองว่าการปรับเปลี่ยนกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อไม่ได้สร้างแรงกดดันต่อนโยบายการเงินแต่คำนึงถึงการคาดการณ์ในอนาคต ไม่ใช่การตัดสินใจในระยะสั้น

นายธีระชัย กล่าวว่า ในการหารือวันนี้ ผู้ว่าการ ธปท.ยังได้เสนอ 2 แนวทางแก้ปัญหาการลดภาระหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน โดยให้นำสินทรัพย์ของกองทุนที่เหลืออยู่มาลดภาระหนี้ หรือศึกษาความเป็นไปได้ในการลงบัญชีทุนสำรองเงินตราให้สมดุล

ในขณะที่ตนเองเห็นว่าแนวทางการแก้ไขการลงบัญชีทุนสำรองเงินตราอาจไม่ได้เม็ดเงินเท่าที่จำเป็น ดังนั้น จึงฝากให้ธปท.ไปศึกษาเพิ่มเติมใน 2 ประเด็นคือ การใช้วิธีโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ คืนให้ธปท.ทั้งจำนวน 1.1 ล้านบาทจะกระทบกับฐานของธปท.มากน้อยแค่ไหน และจะเห็นงบดุลของธปท.เป็นอย่างไร อีกประเด็นหนึ่งคือให้หาแนวทางเก็บค่าธรรมเนียมจากธนาคารพาณิชย์เพิ่มเติมเพื่อเป็นรายได้ของธปท.

"โจทย์เรื่องกองทุนฟื้นฟูฯ ยังไม่จบ ได้ขอให้ผู้ว่าฯ ศึกษาเพิ่มเติมในกรณีสมมติ"นายธีระชัย กล่าว

ขณะที่นายประสาร กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า ข้อเสนอของรมว.คลังที่ให้ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการโอนหนี้คืนฯ นั้น ยังมีความกังวลว่าแม้จะทำให้กระทรวงการคลังมีภาระการชำระหนี้แทนกองทุนฟื้นฟูฯ ลดลง แต่แนวทางดังกล่าวอาจจะกระทบกับปริมาณเงินและความเชื่อมั่นของประเทศค่อนข้างมาก หากมีการพิมพ์เงินออกมามากก็จะสร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อในอีกด้านหนึ่ง และทำให้ธปท.ต้องมีภาระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจากการออกพันธบัตรมาดูดซับสภาพคล่องที่มากถึง 1.1 ล้านล้านบาท ซึ่งจะกระทบต่อเงินทุนนของ ธปท. จึงกังวลว่าจะกระทบกับฐานะและการทำหน้าที่ของธปท. และจะยิ่งมีผลกระทบตอ่เศรษฐกิจ

ส่วนแนวคิดการจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งนั้น นายธีระชัย กล่าววา ผู้ว่าการ ธปท.ให้ข้อสังเกตว่าการจัดตั้งกองทุนดังกล่าวจะต้องกำหนดวัตถุประงค์ที่ชัดเจนว่าต้องการหารายได้เพิ่ม หรือเป็นตอบสนองกลยุทธของประเทศ เช่น หากเห็นประเทศมีความชำนาญด้านสายการบินก็นำเงินไปลงทุนด้านสายการบิน

และตั้งข้อสังเกตว่าแหล่งเงินที่ส่วนใหญ่ประเทศที่ตั้งกองทุนจะเกินนำเงินจากการขายทรัพยากร แร่ธาตุและพลังงาน ดังนั้นหากนำเงินสำรองระหว่างประเทศมาใช้จะต้องพิจรณาให้รอบคอบ ซึ่ง ผู้ว่าการ ธปท.เสนอว่ากระทรวงการคลังควรจะออกเป็นพันธบัตรเพื่อนำมาซื้อทุนสำรองระหว่างประเทศเพื่อนำไปตั้งกองทุนจะเหมาะสมกว่า

"ข้อสังเกตดังกล่าวคลังพร้อมนำมาพิจารณา และรองนายกฯ กิตติรัตน์ก็เห็นว่าไม่จำเป็นต้องใช้เงินทุนสำรองฯ มาตั้งกองทุน แต่สามารถใช้เงินจากแหล่งอื่นได้ แต่ตอนนี้ยังไม่ได้คิดเรื่องแหล่งเงิน คลังพร้อมรับข้อสังเกตของธปท.ไปศึกษาต่อ แต่จุดแรกตั้งโจทย์ว่าหากตั้งกองทุนจะมีการบริหารการถ่วงดุลการตัดสินใจการป้องกันการแทรกแซงอย่างไร ทำให้ยังไม่มีการดำเนินการเพิ่มเติมใด ๆ ในการตั้งกองทุน"นายธีระชัย กล่าว

สำหรับแนวทางการกำกับดูแลการออกตั๋วบี/อีของธนาคารพาณิชย์นั้น ขณะนี้มีข้อสรุปแล้วว่าควรนำตั๋วบี/อีมาคำนวณเป็นสภาพคล่องของสถาบันการเงินตามกฎหมายและโอนมาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)ทั้งหมด โดย ก.ล.ต.จะมีการยกร่างกฎเกณฑ์เพื่อกำกับดูแลต่อไป ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้สถาบันการเงินอาศัยแหล่งเงินดังกล่าวเป็น Wholesale deposit ซึ่งจะทำให้เกิดการกระจุกตัวการออกตั๋วบี/อี นอกจากนั้น ธปท.จะมีการกำหนดสัดส่วนการออกบี/อีของสถาบันการเงินอีกชั้นหนึ่งด้วย

นายธีระชัย ยังเปิดเผยว่า ในวันนี้ได้ฝากการบ้านให้ผู้ว่าการ ธปท.ศึกษาเพิ่มเติมอีก 3 ประเด็น คือ การเสนอให้บริษัทหลักทรัพย์สามารถซื้อขายเงินตราต่างประเทศได้ แต่จะทำในลักษณะเป็น Wholesale, การซื้อขายสัญญาล่วงหน้าเงินตราต่างประเทศ ซึ่งต้องการผลักดันให้เกิดขึ้นโดยเร็ว จึงมอบหมายให้ธปท.ประสานงานกับบริษัท ตลาดอนุพันธ์ เพื่อนำมาหารือร่วมกันในการประชุมครั้งต่อไป

และประเด็นสุดท้าย เห็นว่าควรจะเปิดให้มีการแข่งขันในระบบธนาคารพาณิชย์มากขึ้น เพื่อให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยแคบลง โดยให้ธนาคารต่างประเทศเข้ามาเปิดสาขาในประเทศมากขึ้น จึงมอบหมายให้ผู้ว่าการ ธปท.ศึกษาว่าระบบธนาคารพณิชย์ไทยมีความพร้อมรองรับการแข่งขันมากน้อยแค่ไหน และต้องมีขั้นตอนดำเนินการอย่สาไร รวมถึงควรจะเริ่มเปิดรับธนาคารจากประเทศใดบ้าง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ