กองทุนรวม Q3/54 ผลตอบแทนทรุดทั้งหุ้น-ตราสารหนี้ตปท.,ทองคำเด่นแม้ผันผวน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 19, 2011 18:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท มอร์นิ่งสตาร์รีเสิร์ซ (ประเทศไทย) สรุปภาพรวมกองทุนรวมไตรมาส 3/54 ว่า การถูกลดอันดับเครดิตเรตติ้งของสหรัฐอเมริกาและปัญหาหนี้ในยุโรป ยังคงสร้างความผันผวนให้ตลาดหุ้นทั่วโลกและประเทศไทยอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งไตรมาส และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสองเดือนที่ผ่านมานั้นที่ความกังวลต่อปัญหาหนี้ในยุโรปเริ่มรุนแรงโดยเฉพาะกรณีของ กรีซ และอิตาลี ส่งผลให้ตลาดหุ้นหลายประเทศที่ปิดบวกในช่วงครึ่งปีแรกกลับติดลบกันเป็นแถวเมื่อปิดไตรมาส

ด้านตลาดหุ้นไทย ดัชนี (SET Index) ก็เช่นกันไม่สามารถรอดพ้นจากวิกฤตครั้งนี้ได้ จากที่ปิดบวกเล็กน้อยในช่วงครึ่งปีแรกที่ 0.84% หรือในช่วงสิ้นสุดเดือนกรกฏาคมก็ยังคงปิดบวกที่ 9.76% แต่แล้วช่วงเวลาเพียงสองเดือนที่ผ่านมาก็กลับไปติดลบอย่างหนักที่ -19.17% ส่งผลให้ดัชนี (SET Index)ตั้งแต่ต้นปี ติดลบ -11.29% ซึ่งแรงเทขายส่วนใหญ่ยังคงมาจากกลุ่มหุ้นขนาดใหญ่ (Big Cap Stock)

อุตสาหกรรมกองทุนรวมในประเทศไทยตลอดปีที่ผ่านมาถือว่าไม่ค่อยดีเหมือนปีที่ผ่านๆมา โดยที่มูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวมตั้งแต่ต้นปีลดลง ประมาณ 90,000 ล้านบาท หรือ -4.61% จำนวนกองทุนก็ลดลงหายไปประมาณ 100 กว่ากองทุน สาเหตุหลักเป็นผลมาจากการครบกำหนดอายุของกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ ตัวอย่างช่น กองทุนเกาหลี และ กองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศอื่นๆ เป็นต้น ที่ทยอยครบกำหนดไปจนเกือบหมดซึ่งเฉพาะส่วนนี้ก็ประมาณแสนกว่าล้านบาท

ประกอบกับการที่ธนาคารส่วนใหญ่ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของหลาย บลจ. ต้องการรักษาฐานเงินฝาก จึงทำให้กองทุนไม่ค่อยได้ออกกองทุนใหม่ๆมารองรับเงินในส่วนนี้จึงทำให้เงินไหลกลับเข้าสู่ระบบเงินฝากของธนาคารเสียเป็นส่วนใหญ่ รวมถึงผลกระทบบางส่วนจากการที่ผลตอบแทนลดลงค่อนข้างในกองทุนหุ้น ซึ่งก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิโดยรวมลดลง

ส่วนผลการดำเนินงานของกลุ่มกองทุนประเภทต่างๆ ต้องเรียกว่าพบกับความยากลำบากกันแทบจะทุกประเภทสินทรัพย์ ในช่วงไตรมาส 3/54 เว้นเพียงแต่กองทุนตราสารหนี้ในประเทศที่ยังที่ยังคงสร้างผลตอบแทนให้เป็นบวกได้ แต่ก็ต้องบอกว่าบวกเพียงเล็กน้อยเฉลี่ย 0.6-0.7% ตามลักษณะของประเภทสินทรัพย์

ประเภทสินทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคงหนีไม่พ้นตราสารทุน (หุ้น) ไม่ว่าจะเป็นกองทุนหุ้นขนาดใหญ่ที่ผลตอบแทนเฉลี่ย -10.34% กองทุนหุ้นขนาดปานกลางถึงเล็ก -4.2% ขณะที่กองทุนหุ้นต่างประเทศนั้นติดลบอย่างหนัก นำโดย กลุ่ม Emerging Market Equity ที่ -22.32% ตามมาด้วย กลุ่ม Asia Pacific ex-Japan Equity — 20.86% และ กลุ่ม Global Equity ที่ติดลบเฉลี่ยที่-16.26%

และกลุ่มตราสารหนี้ต่างประเทศก็ได้รับผลกระทบเช่นกันโดยติดลบเฉลี่ยประมาณ- 2-3% ทั้งกลุ่ม Emerging Market Bond และ Global Bond แต่ถ้าดูภาพรวมก็ถือว่ายังติดบวกเล็กน้อยที่เฉลี่ย 2.1% และ 0.88% ตามลำดับ

ขณะที่สินทรัพย์ทางเลือกอย่างเช่น ทองคำและน้ำมันก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ตัวอย่างเช่น กองทุนทองคำที่ก็ผันผวนอย่างมากเช่นกันในช่วงวิกฤต 2-3 เดือนที่ผ่านมา จากที่บางช่วงเคยทำผลตอบแทนสูงสุดถึงเฉลี่ย 31.89% แต่สุดท้ายกลับปิดไตรมาส 3 ที่บวกเฉลี่ย 16.06% ตั้งแต่ต้นปี แต่ก็ยังคงถือว่าโดดเด่นกว่าสินทรัพย์อื่นๆเมื่อดูภาพรวม

กองทุนน้ำมันนั้นซึ่งถือว่ามาแรงมากที่สุดในช่วงไตรมาส 1 เลยจนถึงสิ้นสุดเดือนเมษายน ซึ่งบวกเฉลี่ยถึง 19.65% ตอนนี้ กลับมาติดลบอย่างหนักถึง -17.78% นับตั้งแต่ต้นปีถึงสิ้นไตรมาส 3

จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นได้ว่าตลาดการลงทุนในช่วงที่ผ่านมามีความผันผวนอย่างมากในเกือบทุกประเภทสินทรัพย์ ดังนั้นแนะนำให้นักลงทุนปรับพอร์ตการลงทุนโดยกระจายการลงทุนให้เหมาะสมกับความเสี่ยงที่รับได้ และประกอบกับการจัดพอร์ตให้หมาะสมกับช่วงอายุเช่นเดียวกัน

สำหรับนักลงทุนที่ยังไม่ได้ลงทุนหรือยังลังเลที่จะลงทุนในกองทุนรวม LTF และ RMFเพื่อสิทธิประโยชน์ทางภาษีและออมเงินสำหรับเกษียณ ช่วงนี้ถือเป็นจังหวะที่ดีเลยทีเดียวเนื่องจากท่านนักลงทุนจะได้ซื้อของถูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทุน LTF ที่ติดลบเฉลี่ยประมาณ 8%ตั้งแต่ต้นปี หรือจะเป็นกองทุน RMF ที่เน้นลงทุนในหุ้น (RMFEQ) ที่ก็ติดลบเฉลี่ยถึง 10.08% แต่กองทุน 2 ประเภทนี้ลงทุนเป็นระยะเวลายาว ดังนั้นอย่าตื่นตระหนกกับเหตุการณ์ปัจจุบันมากนัก อีกทั้งยังได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ