(เพิ่มเติม) ธปท.คาด GDP ไตรมาส 4ติดลบ/พร้อมหารือกนง.นัดพิเศษหากน้ำท่วมกดศก.แรงขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 20, 2011 10:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) คาดว่า ปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่ในขณะนี้จะส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)ในช่วงไตรมาส 4/54 อาจจะติดลบ แต่ทั้งปี 54 ยังขยายตัวเป็นบวกได้ แต่จะลดลงมากกว่า 1% จากที่ธปท.เคยคาดการณ์ไว้ที่ 4.1% เนื่องจากความเสียหายล่าสุดประเมินผลกระทบที่ 1 แสนล้านบาท เพราะภาคการผลิตลดลงมาก และจะต่อเนื่องไปถึงไตรมาส 1/55 แต่ความเสียหายล่าสุดไม่ได้รวมสินทรัพย์ที่เสียหายด้วย ซึ่งความเสียหายขณะนี้ได้ขยายเป็นวงกว้าง

"อัตราการขยายตัวในไตรมาส 4 อาจจะติดลบ แต่ทั้งปี ยังขยายตัวเป็นบวก แต่จะลดลงกว่า 1% จากที่ธปท. คาดการณ์ไว้ 4.1% ขณะที่นโยบายการเงินจะมีการผ่อนคลายกว่านี้หรือไม่ ต้องดูสภาพความเสียหายทางเศรษฐกิจและประเมินภาพสถานการณ์ในระยะยาว และการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) 19 ต.ค.ที่ผ่านมาก็ ได้เริ่มคงอัตราดอกเบี้ยที่ 3.5%

อย่างไรก็ตาม ถ้ามีความจำเป็นและมีความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจมากขึ้น ธปท.พร้อมจะเรียกประชุมกนง.นัดพิเศษ และพร้อมที่จะปรับนโยบายการเงินให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ แต่ยอมรับว่าความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจมีมากขึ้น ขณะที่แรงกดดันด้านเงินเฟ้อยังมีอยู่ ดังนั้นต้องติดตามใกล้ชิดหลังน้ำลด

ผู้ว่าการธปท. กล่าวว่า มีความเป็นห่วงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศอาจย้ายฐานการผลิตออกจากไทย เพราะห่วงการบริหารจัดการใน 3 ด้าน คือ 1.การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าทำได้ดีแค่ไหน 2.ประสิทธิภาพการฟื้นฟูเศรษฐกิจและธุรกิจหลังน้ำลด และ 3. มาตรการป้องกันน้ำท่วมในอนาคต ซึ่งต้องคิดแบบรอบคอบ

"3 เรื่องนี้เป็นทางออกที่จะเชื้อเชิญนักลงทุนต่างชาติให้กลับมา โดยเฉพาะการอธิบายให้นักลงทุนเข้าใจว่า ภาคอุตสาหกรรมที่เสียหายจากน้ำท่วมคิดเป็น 17% ของอุตสาหกรรมทั้งประเทศ ขณะที่ที่เหลืออีก 83% เป็นพื้นที่ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเลย ดังนั้นต้องสร้างความมั่นใจว่าสามารถที่จะขยายการลงทุน ขยายกำลังการผลิต ไปยังภูมิภาคอื่นของไทยได้" ผู้ว่าธปท. กล่าว

ส่วนอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 55 ยังคงประมาณการที่ 4.2% แต่หากน้ำท่วมขังนานอาจจะกระทบให้ลดลง แต่เชื่อว่าปัญหาน้ำท่วมจะได้รับการฟื้นฟูให้กลับมาเป็นปกติไม่เกิน 2-3 เดือน ดังนั้นเชื่อว่าหลังจากน้ำลดจะมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจและจะมีผลดี GDP ในปี 55

ส่วนการกู้เงิน 4 แสนล้านบาทเพื่อการเยียวยาน้ำท่วมของรัฐบาล ขณะนี้ต้องใช้เงินจำนวนมากในการฟื้นฟู ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน แต่ว่ารัฐบาลต้องสามารถอธิบายให้ตลาดเงินเข้าใจว่า เงินกู้ที่เอามา เอาไปใช้ทำอะไร หรือมีข้อบังคับว่า นำไปใช้เพื่อการฟื้นฟูลงทุนเท่านั้น อย่าให้เกิดการรั่วไหล ที่สำคัญยังต้องแสดงการรักษาวินัยทางการเงินและการคลัง

"การออกพ.ร.บ.เงินกู้ ปกติสามารถทำได้ในยามที่มีความจำเป็น แต่ขณะนี้พ.ร.บ.งบประมาณปี 55 ยังอยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาในสภา แต่สามารถออกเป็นพ.ร.ก.ฉุกเฉินได้แทนพ.ร.บ.การขาดดุลงบประมาณการคลังสามารถเพิ่มขึ้นได้ ถ้ามีความจำเป็น แต่ต้องอธิบายให้ตลาดเข้าใจว่า การขาดดุลเพิ่มดีกว่าไม่ทำอะไรเลย" ผู้ว่าธปท. กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ