
นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาชน กล่าวเสวนาในหัวข้อ "Re-positioning Thailand: วางตำแหน่งใหม่เศรษฐกิจไทยในสงครามการค้า" ว่า เริ่มจากการที่ประเทศไทยต้องเลิกมองว่าตัวเองเป็นประเทศขนาดเล็ก แต่เป็นประเทศขนาดกลางที่กำหนดอนาคตได้เอง การทำตัวให้ดูใหญ่ไม่เกี่ยวกับขนาดแผนที่โลก ขณะเดียวกัน ไทยต้องไม่อยู่ตรงกลางระหว่างมหาอำนาจ แต่ต้องอยู่ตรงจุดในเวทีที่กำหนดบทบาทได้เอง โดยไม่ต้องรอโลก
ทั้งนี้ สถานการณ์ล่าสุดขณะนี้ชาติอาเซียนเริ่มเดินเกมเจรจาแล้ว แต่ไทยยังไม่เริ่ม ซึ่งเหลือเวลาประมาณ 70 วันเท่านั้น ดังนั้น ไทยควรเตรียมความพร้อมให้รอบด้านว่า หลังจากนี้จะเกิดผลกระทบอะไรตามมาบ้าง ซึ่งการที่เริ่มช้าเราอาจมีข้อเสียเปรียบหลายด้าน เช่น การที่คู่ค้าประเทศอื่น ๆ หากบรรลุผลการเจรจาไปแล้ว ไพ่ในมือของไทยก็จะเหลือน้อยลงเรื่อย ๆ
อย่างไรก็ดี มีการประเมินฉากทัศน์ของการเจรจาระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ไว้ทั้งหมด 3 ฉากทัศน์ คือ
- ฉากทัศน์ที่ดีที่สุด คือ ไทยเจรจาสำเร็จ ตลาดโลกและเศรษฐกิจโลกปกติ ผลกระทบคือภาษีนำเข้า 10% ไม่สูญเสียตลาดในประเทศมากนัก ซึ่งมองว่าฉากทัศน์นี้ไม่น่าจะเป็นไปได้
- ฉากทัศน์ที่แย่ที่สุด คือ ไทยเจรจาไม่สำเร็จ ถูกขึ้นภาษีสูง ตลาดโลกปั่นป่วนมาก สินค้าทะลักเข้าไทย และเศรษฐกิจโลกหดตัว ผลกระทบคือส่งออกหด สินค้านำเข้าราคาถูกทะลักตลาด โครงสร้างห่วงโซ่อุปทานปั่นป่วน อาจเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศ
- ฉากทัศน์ที่โอกาสเกิดมากที่สุด คือ ไทยเจรจากับสหรัฐฯ สำเร็จบางส่วน ตลาดโลก ประเทศคู่ค้าหันไปซื้อของสหรัฐฯ บางส่วน เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ผลกระทบคือไทยสูญเสียบางตลาดและคู่ค้าหันไปซื้อสินค้าสหรัฐฯ เล็กน้อย อาจเสียเปรียบคู่แข่ง เช่น เวียดนามในบางตลาด
ดังนั้น จึงเสนอยุทธศาสตร์ 5 เสา ในสงครามการค้าครั้งนี้ คือ
1. เจรจา รักษาประโยชน์ และลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการขึ้นกำแพงภาษีของสหรัฐฯ ให้มากที่สุด
2. กระชับ กระจายตลาด เพิ่มอำนาจต่อรอง ลดความเสี่ยงจากการพึ่งพามหาอำนาจเดียว
3. รับมือ ป้องกันผลกระทบสินค้านำเข้าล้นตลาด รักษาเสถียรภาพในประเทศ สร้างความเป็นธรรมระหว่างผู้ผลิตสินค้าในและต่างประเทศ
4. เยียวยา เปลี่ยนผ่านซัพพลายเชนและแรงงานไปสู่กรอบใหม่อย่างราบรื่นที่สุด
5. ลงทุน เสริมขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว
น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคประชาชน กล่าวว่า ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยน่าจะมีผลกระทบในเชิงลึกและระยะยาว ถ้าเศรษฐกิจโลกชะลอตัว อาจส่งผลกระทบไม่ใช่แค่ภาคการส่งออก แต่จะลามไปถึงภาคการท่องเที่ยวด้วย
"กลุ่มที่จะได้รับผลกระทบมาก คือกลุ่ม SMEs 5,000 ราย, กลุ่มแรงงาน 16 ล้านคน ที่มีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่า 1.6 หมื่นบาทต่อเดือน ส่วนพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบมีหลายพื้นที่ทั่วประเทศ" น.ส.ศิริกัญญา กล่าว
ทั้งนี้ ในส่วนของผลกระทบต่อเศรษฐกิจ หลายแห่งประเมินว่า GDP ไทยปี 68 น่าจะโตไม่เกิน 2% และแนวโน้มเศรษฐกิจในปีหน้าก็ไม่ได้ดี เท่ากับว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะโตต่ำกว่า 2% ติดต่อกัน 2 ปี
1. Relief เยียวยาผลกระทบเฉพาะหน้า โดยมาตรการด้านการเงินการคลังส่วนใหญ่เน้นกลุ่มผู้ส่งออก SMEs และสาขาเสี่ยง
2. Recovery กระตุ้นฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะสั้น อยากเห็นการกระตุ้นการลงทุนในภาครัฐและเอกชน ลงทุนในโครงสร้าง แต่ตอนนี้ยังไม่อยากเห็นการกระตุ้นด้านการบริโภค ซึ่งล่าสุด รัฐบาลยังยืนยันที่จะเดินหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตในไตรมาส 2/68 ซึ่งมองว่า ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าผลกระทบจากสถานการณ์การค้าครั้งนี้จะมากน้อยเท่าไร ดังนั้น จึงควรตุนกระสุนเอาไว้ก่อน
3. Reform ปฏิรูปปรับโครงสร้างเศรษฐกิจระยะยาว โดยปฏิรูปรัฐครั้งใหญ่ ดังนี้
- ตั้งศูนย์กลางการตัดสินใจ : พร้อมกลไกประสานงานทุกฝ่าย รัฐ-เอกชน มีส่วนร่วมตัดสินใจ, กำหนด Guiding Principle: สั้น-แนวทางการเจรจา กลาง-กลไกการเยียวยา ยาว-การลงทุนปรับโครงสร้างภาคเกษตร/อุตสาหกรรม
- สื่อสารต่อสาธารณะอย่างชัดเจนสม่ำเสมอ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น และลดความสับสน
- ใช้ทุกกลไกของรัฐขับเคลื่อนร่วมกัน : นโยบายการเงินการคลัง การจัดซื้อจัดจ้าง และการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ, การพัฒนาเมืองโดยองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนนโยบายการเงิน มองว่ากระสุนทั้งหมดที่เคยตุนไว้ ตอนนี้ถึงเวลานำมาใช้แล้ว
- ปรับเปลี่ยน Incentive Structure : เปลี่ยนจาก Supply-side Financing ไปสู่ Demand-side Financing เช่น ทักษะแรงงาน, การอุดหนุนแบบมียุทธศาสตร์ เช่น เงินอุดหนุนภาคการเกษตร, Strategic Procurement
- ปรับปรุงกฎระเบียบภาครัฐ : กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคในการทำธุรกิจ และการค้าระหว่างประเทศเปิดตลาดใหม่ เพิ่มการแข่งขัน ลดการผูกขาด ลดอุปสรรคในการประกอบธุรกิจ
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า เห็นรัฐบาลโยนหินถามทางเรื่องการกู้เงินออกแพ็กเกจ 5 แสนล้านบาท เพื่อกระตุ้นการบริโภค การลงทุน ซอฟต์โลนต่าง ๆ แต่เลขาสภาพัฒน์ ออกมาบอกว่า จะยังไม่รีบกู้ ขอหาเงินที่เหลือมาใช้ก่อน เช่น งบเหลื่อมปีที่จะใช้ไม่หมดในปี 68 ทั้งนี้ มองว่า ท้ายที่สุดแล้วถ้าแพ็กเกจครอบคลุมทั้งเยียวยา กระตุ้น และปฏิรูป อาจต้องใช้เม็ดเงินหลายล้านล้านบาท และต้องใช้เวลามากกว่า 1-2 ปี
อย่างไรก็ดี ปลัดกระทรวงการคลัง ออกมาบอกว่า หนี้สาธารณะของไทยมีแค่ 64% กู้ 5 แสนล้านบาทได้แน่นอน เพราะคิดเป็น 3% เท่านั้น และยังไม่ชนเพดาน ในส่วนนี้มองว่า ทั้งหมดเป็นภาพลวงตา เพราะ 64% คือตัวเลข ณ เดือนก.พ. 68 หรือยังไม่จบปีงบประมาณ ถ้าจบปีงบประมาณ หนี้สาธารณะต่อ GDP จะขึ้นไปที่ 66% และพื้นที่ที่จะกู้ได้จะเหลือแค่ 7.8 แสนล้านบาท ดังนั้น ถ้ากู้ 5 แสนล้านบาท ก็จะเจอกับดักต่อไปคืองบปี 69 ซึ่งจะต้องกู้เพิ่มเพื่อชดเชยการขาดดุลอีก ดังนั้น จะไปชนเพดานที่ 69% ในปี 69 อยู่ดี ดังนั้น ตามสภาพความเป็นจริง อาจจำเป็นต้องขยายเพดานหนี้สาธารณะ ไม่เช่นนั้นจะไม่มีงบประมาณมากพอที่จะใช้ในแผนทั้งการเยียวยา กระตุ้น และปฏิรูปประเทศได้
"เชียร์ให้รัฐบาลเริ่มเสนอแผนขยายเพดานหนี้สาธารณะ ให้ความเห็นว่าเราอยากเห็นการกระตุ้นแบบไหน การลงทุนแบบไหนที่อยากให้เกิดขึ้นเร็ว การกระตุ้นแบบไหนที่เราไม่อยากได้ตอนนี้ ก็จะทำให้เกิดประโยชน์ในการพูดคุย รวมถึงเสนอแนวทางในการแก้ปัญหาระยะยาวในการปฏิรูปด้วย" น.ส.ศิริกัญญา กล่าว
ด้านนายวีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร รองหัวหน้าพรรคประชาชน และที่ปรึกษากรรมาธิการพัฒนา กล่าวถึงผลกระทบของสงครามการค้าในด้านอุตสาหกรรมว่า สงครามการค้าครั้งนี้ย้ำเตือนความสำคัญของการส่งออกนำเข้าต่อเศรษฐกิจไทย โดยตั้งแต่ปี 65 เศรษฐกิจไทยไม่เหมือนเดิมแล้ว เพราะการบริโภคภาคสินค้าเอกชน แยกตัวกับ GDP ภาคการผลิต เพราะไทยมีสินค้าเข้ามาทดแทน สินค้าล้นทะลัก ดังนั้น การบริโภคจะกระตุ้นแบบเดิมไม่ได้แล้ว
นายวีระยุทธ เสนอบทบาทของทีมไทยแลนด์ VS สงครามการค้า คือ "กองหลัง" บทบาทคือต้องอุดรูรั่วหลังบ้าน เช่น สินค้าทุ่มตลาด, "กองกลาง" บทบาทคือรักษาสมดุลงบประมาณ และรักษาสมดุลรุกรับ และ "กองหน้า" บทบาทคือประสานกันมากขึ้น โดยมีข้อเสนอนโยบายอุตสาหกรรมในยุคสงครามการค้า ดังนี้
0. สำคัญ คือการมี "อุตสาหกรรมเป้าหมาย" ไม่ได้แปลว่าเซกเตอร์อื่น ๆ จะถูกทิ้ง
1. อุดรูรั่วเศรษฐกิจไทย ป้องกันเงินไหลออกจากการค้าและการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม
2. การใช้งบประมาณพัฒนาอุตสาหกรรม ต้องรักษาสมดุลระหว่างดีมานด์-ซัพพลาย
3. สนับสนุนให้บริษัทท้องถิ่นมีส่วนร่วมกับบริษัทข้ามชาติตลอดซัพพลายเชน
4. เพิ่มความเชื่อมโยงระหว่างอุตสาหกรรมไฮเทคในประเทศ
ด้านนายเดชรัต สุขกำเนิด ที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้าน ในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงผลกระทบจากสงครามการค้าต่อภาคเกษตร ดังนี้
1. การส่งออกที่ลดลง ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประเมินว่า ผลกระทบจากการส่งออกที่ลดลงประมาณ 7,800 ล้านบาท โดยสินค้าที่รับผลกระทบมากที่สุด คือยาง รองลงมาคือกุ้ง อาหารทะเลแปรรูป และข้าว
2. การเปิดตลาดสินค้าในประเทศ เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว และข้าวโพด ซึ่งจะกระทบกับเกษตรกรจำนวนมากกว่า 2 ล้านราย
3. ราคาตลาดโลกลดลงและการทะลักของสินค้านำเข้า โดยสินค้าพืชผัก เช่น กระเทียม หอมใหญ่ และพืชผักแปรรูป
ทั้งนี้ สิ่งที่เกษตรกรกังวลใจมากที่สุด คือการที่สินค้าเกษตรจะไปอยู่บนโต๊ะเจรจา ดังนั้น การเจรจาต้องมีความโปร่งใส ประเมินผลกระทบรอบด้านที่จะเกิดขึ้นทั้งทางบวกและลบ ซึ่งต้องมีการชดเชยเยียวยา และปรับสมดุลใหม่ โดยแนะนำให้คุยภายในประเทศก่อนที่จะไปเจรจา เพราะถ้าไปเจรจาแล้วค่อยกลับมาคุยในประเทศจะเป็นเรื่องยาก ขณะเดียวกัน ต้องมีความปลอดภัยทั้งกับผู้บริโภคและเกษตรกร และมีความร่วมมือกับสหรัฐฯ ให้วิน-วินทั้งคู่
นายเดชรัต มีข้อเสนอให้ Re-positioning ภาคเกษตรของไทย ดังนี้
- Re-positioning ในเรื่องต้นทุนและผลิตภาพการผลิตทางการเกษตร
- Re-positioning ในเรื่องระบบงบประมาณที่เน้นการช่วยเหลือเยียวยา ให้นำมาเน้นการลงทุนในการพัฒนาการเกษตรมากขึ้น
- Re-positioning ในเรื่องการกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าและการพัฒนาการเกษตร
- Re-positioning ในการพัฒนาการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่า
- Re-positioning ระบบมาตรฐานคุณภาพและการกำกับตรวจสอบสินค้าเกษตรนำเข้า
- Unlocking ข้อจำกัด (ถาวร) ของภาคเกษตร เช่น เรื่องน้ำ ที่ดิน หรือหนี้สินของเกษตรกร เป็นต้น
สำหรับมาตรการเร่งด่วนของภาคเกษตร คือ
- การวางแผนการผลิตและการตลาดพืชผลการเกษตรใหม่ในช่วงฤดูฝนปี 2568/69 เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะสินค้าล้นตลาด
- ดูแลสภาพคล่องให้ห่วงโซ่อุปทานสินค้าเกษตรที่อาจได้รับผลกระทบ อย่าให้เกิดภาวะชะงักงันจนกระทบกับราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้
- การเพิ่มพื้นที่การผลิตพืช/ผลผลิตใหม่ เพื่อตลาดภายในประเทศ โดยมีหลักประกันทั้งทางตลาดและราคา ให้ได้ประมาณ4-5 ล้านไร่
- ป้องกันการลักลอบสินค้านำเข้าผิดกฎหมาย และสินค้านำเข้าที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานให้ได้
- การพัฒนาระบบการดูแลราคาสินค้าพืชไร่ และปศุสัตว์ไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการต่อรองทางการค้ากับสหรัฐฯ
- การเตรียมการรับมือกับปัญหาหนี้สินเกษตรกร หลังจากพ้นช่วงเวลาหยุดพักชำระหนี้ และวิกฤตที่อาจจะเกิดขึ้นครั้งนี้
ด้านนายพิศาล มาณวพัฒน์ อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐฯ กล่าวถึงสถานการณ์การเจรจาการค้าขณะนี้ว่า การเจรจาต่อรองกับสหรัฐฯ มีหลายประเทศที่ต่อแถวต่อรอง ซึ่งไทยเป็น 1 ใน 12 ประเทศแรกที่เกินดุลกับสหรัฐฯ ดังนั้น คาดการณ์ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นต่อจากนี้ จะต่อเนื่องและไม่มีวันจบในช่วง 4 ปีข้างหน้า
อย่างไรก็ดี มองว่าไทยไม่ควรหมกมุ่นว่า เมื่อส่งคณะไปเจรจาแล้วทุกอย่างจะจบ แต่ต้องดำเนินการคู่ขนานทั้งเรื่องการปรับโครงสร้าง ภาษี งบประมาณไปพร้อมกัน รวมไปถึงการหาตลาดใหม่แบบจริงจัง
อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญที่สุด คือรัฐบาลโดยเฉพาะผู้นำ ผู้กำหนดนโยบาย ต้องส่งสัญญาณที่ชัดเจนให้องคาพยพ ทุกกระทรวง ทุกหน่วยงาน ให้ตระหนักอย่างชัดเจนว่า ไทยไม่ได้เลือกข้างจีน สหรัฐฯ หรืออียู แต่ไทยเลือกข้างผลประโยชน์ของไทย ถ้าเรื่องไหนจำเป็นต้องทำก็ควรทำ เช่น การลดโครงสร้างเศรษฐกิจที่พึ่งพาจีน ทั้งการส่งออก และการท่องเที่ยว โดยดูผลประผลประโยชน์ของไทยเป็นหลัก
