
นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยอมรับว่า Policy Space ของไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นถือว่าไม่ได้มีมากนัก ดังนั้นการพิจารณาใช้นโยบายการเงินในแต่ละครั้ง จำเป็นต้องทำอย่างมีประสิทธิภาพ และเหมาะสมกับสถานการณ์ในขณะนั้นให้มากที่สุด
"การปรับลดดอกเบี้ยลงครั้งหนึ่ง ก็ช่วยให้สอดรับกับแนวโน้มสถานการณ์ข้างหน้าได้ในระดับหนึ่ง แต่บนความไม่แน่นอนที่มีสูงมาก คงต้องติดตามว่าสุดท้ายแล้ว ไทยจะโดนสหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีในอัตราเท่าไร ซึ่งคงจะชัดเจนมากขึ้นเมื่อครบระยะเวลาผ่อนผัน 90 วัน โดยหลังจากนั้น จะต้องกลับมาพิจารณาแนวโน้มเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อใหม่อีกครั้ง" นายสักกะภพ กล่าว
พร้อมระบุว่า สงครามการค้ารอบนี้ จะส่งกระทบกับภาคส่งออกก่อนในระยะแรก โดยเฉพาะการส่งออกไปสหรัฐฯ ที่จะเห็นผลกระทบชัดเจนมากที่สุด แต่ก็ยังจำกัดวงอยู่ในธุรกิจรายใหญ่ เนื่องจากการส่งออกไปสหรัฐฯ มักจะเป็นผู้ส่งออกที่ไม่ใช่รายเล็กมากนัก ดังนั้น จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีการปรับโครงสร้างทั้งในภาคการผลิต และส่งออก
"เรากำลังจะขับรถผ่านพายุ โลกใหม่ที่เราจะเจอ คงไม่เหมือนเดิม ดังนั้นต้องภาคเอกชนจะต้องปรับตัวในเรื่องของภาคการผลิต การปรับโครงสร้างการผลิต...ตอนนี้สถานการณ์ยังคาดเดายาก แต่ถ้าเราโดน tariff เท่ากับคนอื่น ขีดความสามารถในการแข่งขันก็คงไม่ลดลงมาก" นายสักกะภพ กล่าว
- ลดดอกเบี้ยต่อเนื่อง 2 รอบ แต่ยังไม่ใช่วัฎจักรขาลง
ทั้งนี้ จาก 2 ฉากทัศน์เศรษฐกิจไทยปี 68 ที่ กนง.มองว่ามีโอกาสจะเกิดขึ้นได้ 70-80% นั้น เป็นการประเมินสถานการณ์ในระยะข้างหน้าว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มแย่ลง และมีความเสี่ยง ดังนั้นจุดยืนนโยบายการเงินจะต้องทำให้ผ่อนคลาย และช่วยเอื้ออำนวยต่อสถานการณ์เศรษฐกิจมากขึ้น
อย่างไรก็ดี การปรับลดดอกเบี้ยลงต่อเนื่อง 2 ครั้ง (26 ก.พ. และ 30 เม.ย.) ยังไม่อาจเรียกว่าเข้าสู่ช่วงดอกเบี้ยขาลง (Easing Cycle) ได้ เพราะการจะเข้าสู่ช่วงดอกเบี้ยขาลง จะต้องเห็นแนวโน้มเศรษฐกิจจะลดลงอย่างรุนแรงอย่างต่อเนื่อง เหมือนเช่นในช่วงโควิด ซึ่งขณะนั้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายลดลงไปต่ำสุดเหลือ 0.50%
"ขนาดของช็อกในรอบนี้ ไม่ได้เหมือนกับรอบของโควิด รอบนี้เศรษฐกิจโลกไม่ได้รับผลกระทบมากเท่ากับช่วงโควิด และไม่ได้กระทบวงกว้างเหมือนโควิด ดังนั้นมาตรการที่เหมาะสม คือ การเพิ่มประสิทธิภาพ และมาตรการที่เฉพาะจุด จะมีความเหมาะสมกว่า" นายสักกะภพ ระบุ
- ไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะ "ถดถอยเชิงเทคนิค"
นายสักกะภพ กล่าวว่า นิยามของคำว่า "เศรษฐกิจถดถอยเชิงเทคนิค" คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจเมื่อเทียบรายไตรมาสต่อไตรมาส ติดลบต่อเนื่องกัน 2 ไตรมาส ซึ่งขณะนี้จากเศรษฐกิจไทยในฉากทัศน์ที่ 1(Low Tariffs) ยังไม่เห็นโอกาสที่จะเกิดภาพเช่นนั้น แต่ฉากทัศน์ที่ 2 (Higher Tariffs) อาจจะมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น
"เราไม่ได้ focus ว่าจะเป็น technical recession ขนาดนั้น แต่มีช็อกที่เกิดขึ้น และมีการปรับตัว ผลกระทบมีการทอดยาวบางจุด ถ้าดูจากตัวเลขก็มีโอกาส แต่เราไม่ได้ให้น้ำหนักมากนักกับการที่จะเป็น technical recession" นายสักกะภพ ระบุ
กรณีมูดี้ส์ปรับลดแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของไทย สู่ระดับ "เชิงลบ" จากเดิมที่ระดับ "เสถียรภาพ" นั้น นายสักกะภพ ให้ความเห็นว่า มูดี้ส์ มองว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า รวมทั้งภาระหนี้ภาครัฐที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเหล่านี้ เป็นสิ่งที่เราจะต้องให้น้ำหนักในแง่ของการทำนโยบายที่มองไปข้างหน้าจะเป็นอย่างไร
"การปรับลดอันดับดังกล่าวของมูดี้ส์ ย่อมเพิ่มต้นทุนของธุรกิจในแง่ของการระดมทุน แต่ ณ ปัจจุบันยังไม่เห็นภาพนั้น เพราะ FX ยังไม่ได้อ่อนลงเท่าไรนัก ตลาดพันธบัตรรัฐบาล อัตราผลตอบแทนยังไม่เห็นการปรับเพิ่มขึ้นมาก แต่เราต้องมองระยะยาว ว่านโยบายที่ต้องเร่งทำ คือสร้างรายได้ สร้างประสิทธิภาพ และคำนึงถึงประสิทธิผลของการทำนโยบาย เพราะขีดความสามารถของทุกนโยบายมีข้อจำกัด ทั้งนโยบายการเงินและนโยบายการคลังเช่นกัน" นายสักกะภพ กล่าว
พร้อมระบุว่า ภายใต้สถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูง ทำให้มีความจำเป็นต้องระมัดระวังการใช้นโยบายการเงิน และนโยบายการคลัง ซึ่งหากมองในแง่การบริโภคภาคเอกชนที่ปรับลดลง แต่ยังพอไปได้นั้น ดังนั้นมาตรการที่เหมาะสม คือ การลงทุนของภาครัฐที่จะเข้ามาช่วยชดเชยการลงทุนของภาคเอกชน ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและขีดความสามารถในการแข่งขัน
"นโยบายที่เหมาะสม ก็คงจะเป็นนโยบายที่ช่วยสร้างรายได้ในระยะยาว ไม่ใช่เรื่องการกระตุ้น ซึ่งคงไม่ต่างจากความเห็นที่มูดี้ส์ให้ไว้" เลขานุการ กนง.ระบุ

