
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า สำหรับปี 2568 นี้ มีนิติบุคคลที่ต้องนำส่งงบการเงินต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าอยู่ประมาณ 860,000 ราย ปัจจุบันมีนิติบุคคลที่นำส่งงบการเงินเข้าสู่ระบบแล้วประมาณ 140,000 ราย หรือคิดเป็น 17% ของผู้มีหน้าที่นำส่งทั้งหมด ยังขาดอยู่อีก 720,000 ราย หรือ 83% ที่ยังไม่ได้นำส่ง (ข้อมูล ณ วันที่ 30 เมษายน 2568) โดยงบการเงินถือเป็นการสรุปผลการดำเนินงานตลอดทั้งปีของภาคธุรกิจ ซึ่งมีผู้ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของกิจการ ทั้งกรรมการ ผู้ถือหุ้น คู่ค้า รวมทั้งนักลงทุนที่ต้องการทราบสถานการณ์ทางการเงิน ตลอดจนผลประกอบการของธุรกิจ หากกิจการใดยังนิ่งเฉยไม่นำส่งงบการเงินจะทำให้ขาดความน่าเชื่อถือ และหากไม่นำส่งต่อเนื่องเกิน 3 รอบปีบัญชีจะถูกถอนทะเบียนเป็นนิติบุคคลร้างและขีดชื่อออกจากฐานข้อมูลนิติบุคคลจะทำให้ไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้อีกต่อไป
นิติบุคคลที่ต้องนำส่งงบการเงินในปีนี้ กรณีที่เป็นบริษัทจำกัด และบริษัทมหาชนจำกัดที่ใช้รอบปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2567 ต้องจัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นเพื่ออนุมัติงบการเงินภายใน 4 เดือนหลังจากสิ้นรอบบัญชี หรือภายในวันที่ 30 เมษายน 2568 และต้องนำส่งงบการเงินอย่างช้าที่สุดคือวันที่ 4 มิถุนายน 2568 รวมถึงห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน กิจการร่วมค้า และนิติบุคคลต่างประเทศที่ปิดรอบปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2568 จะต้องนำส่งงบการเงินภายใน 5 เดือน หลังจากวันปิดรอบปีบัญชี โดยปีนี้สามารถนำส่งงบการเงินได้ถึงวันที่ 4 มิถุนายน 2568 เช่นเดียวกัน ยกเว้นสมาคมการค้า หอการค้าที่ปิดรอบปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2567 หากจัดประชุมใหญ่อนุมัติงบการเงินในวันที่ 30 เมษายน 2568 จะต้องส่งงบการเงินภายในวันที่ 30 พฤษภาคม 2568
อธิบดีอรมน กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอฝากถึงนิติบุคคลที่มีรอบปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2567 ที่ยังไม่ได้นำส่งงบการเงินอยู่อีกประมาณ 720,000 ราย หรือประมาณ 83% ของผู้มีหน้าที่นำส่งทั้งหมด ขอให้เร่งดำเนินการนำส่งงบการเงิน ซึ่งเหลือเวลาไม่ถึง 1 เดือนแล้ว แม้นิติบุคคลแต่ละประเภทจะมีรอบปีบัญชีสิ้นสุดแตกต่างกันไป แต่ต้องนำส่งงบการเงินตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดเช่นเดียวกัน
หากส่งล่าช้าหรือไม่นำส่งจะมีโทษปรับตามกฎหมาย โดยขอให้นำส่งงบการเงินผ่านระบบ DBD e-Filing ซึ่งจะช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถใช้ประโยชน์จากงบการเงินได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ขณะเดียวกันภาครัฐสามารถนำข้อมูลที่เป็นปัจจุบันไปประเมินทิศทางและวิเคราะห์แนวโน้มธุรกิจ เพื่อส่งเสริม สนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศได้ทันที อีกทั้งช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายและงบประมาณในการบริหารจัดการเอกสาร ทั้งด้านสถานที่จัดเก็บ และการดูแลรักษา รวมทั้งยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ประกอบการ ลดปริมาณการใช้กระดาษ และช่วยรักษาทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย การส่งงบการเงินผ่านระบบ DBD e-Filing เป็นหัวใจสำคัญที่ขับเคลื่อนและสนับสนุนภาคธุรกิจไทยให้ก้าวสู่การค้าในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างเป็นรูปธรรม