นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอวิธีการกู้เงินตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ เพื่อเปิดทางให้มีการออกโทเคนดิจิทัลของภาครัฐ (G-Token) ตามมาตรา 10 วรรค 1 แห่ง พ.ร.บ.บริหารหนี้สาธารณะ เพื่อสร้างโอกาสและส่งเสริมการเข้าถึงการลงทุนที่มีคุณภาพของประชาชนโดยผลักดันให้ G Token เป็นเครื่องมือใหม่ของการระดมทุนภาครัฐ เป็นการนำเทคโนโลยีการเงินาประยุกต์ใช้เพื่ออำนวยความสะดวก และเพิ่มทางเลือกการลงทุนให้ประชาชน นอกจากนี้ ยังช่วยส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล และขับเคลื่อนประเทศไทยเข้าสู๋สังคมดิจิทัลในอนาคต
นายพิชัย ชุณหวขิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวว่า รัฐบาลมีแผนจะออกเครื่องมือระดมทุนแบบใหม่ของภาครัฐ คือ Thailand Digital Token เพื่อเป็นทางเลือกการออมให้กับประชาชนเพิ่มเติมจากรูปแบบเดิมที่มีการออกพันธบัตรออมทรัพย์ เพื่อให้สามารถเข้าถึงประชาชนรายย่อยได้มากขึ้นให้ได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่าการฝากเงินและลงทุนในจำนวนน้อยได้ โดยคาดว่าจะทดลองระบบด้วยการออกงวดแรกราว 5 พันล้านบาทบวก/ลบภายใน 1-2 เดือนนี้
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้รับทราบวามคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาพิจารณาแล้วว่าโทเคนดังกล่าวจะไม่ได้นำไปใช้ในการชำระค่าสินค้าและบริการ (Means of Payment) และจะทำในสัดส่วนที่เหมาะสม แต่รายย่อยจะสามารถนำโทเคนไปแลกเปลี่ยนมือได้ผ่านระบบ Exchange ที่มีอยู่ได้
นายพชร อนันตศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า G-Token จะเป็นหนึ่งในเครื่องมือการระดมทุนรูปแบบใหม่ที่ยังอยู่ระหว่างที่ประเทศพัฒนาแล้วต่างๆ กำลังจะดำเนินการไปในแนวทางเดียวกัน ถือเป็นก้าวสำคัญของกระทรวงการคลังในการนำเทคโนโลยีประยุกต์ใช้กับเครื่องมือทางการเงินเพื่อเพิ่มศักยภาพการระดมทุน เพิ่มความคล่องตัว และความโปร่งใสส่งผลให้ประชาชนสามารถเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม (Financial Inclusion) ตลอดจนเพิ่มช่องทางของโอกาสและทางเลือกในการกระจายการลงทุนได้หลากหลายมากขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นการสนับสนุนการพัฒนาตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศให้เป็นแหล่งระดมทุนที่ยั่งยืน ส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางทางการเงินในระดับภูมิภาคของประเทศ
สบน. ได้กำหนดคุณลักษณะของ G-Token ให้เป็นแหล่งลงทุนศักยภาพสูงให้กับประชาชน กล่าวคือ มีความเสี่ยงต่ำ รวมทั้งการกำหนดอัตราผลตอบแทนล่วงหน้าไว้อย่างชัดเจน ภายใต้การกำกับดูแลตามกฎหมายและประกาศของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ยังสามารถซื้อขายในตลาดรอง (Secondary Market) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ลงทุนสามารถบริหารจัดการทางการเงินและสภาพคล่องเป็นการเฉพาะได้ดียิ่งขึ้น โดยกำหนดแผนเสนอขาย G-Token ครั้งแรกภายในปีงบประมาณ 2568 เป็นการกู้เงินภายใต้กรอบการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณภายใต้แผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2568 ปรับปรุงครั้งที่ 1 ผลตอบแทนของ G-Token จะเบิกจ่ายจากงบชำระหนี้ในกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งเป็นหนี้สาธารณะเช่นเดียวกับเครื่องมือระดมทุนอื่นๆ ของ สบน.
ทั้งนี้ สบน. มีแผนจะเสนอขาย G-Token อย่างสม่ำเสมอ เพื่อส่งเสริมและเพิ่มโอกาสให้ประชาชนมีทางเลือกในการลงทุนได้อย่างมั่นใจและมีความต่อเนื่อง ซึ่งจะพิจารณากำหนดรูปแบบและวิธีการดำเนินการจัดจำหน่ายที่เหมาะสมร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง โดยคำนึงถึงต้นทุน ความเสี่ยง สภาวะตลาด และวิธีการลงทุนของผู้ลงทุน รวมถึงแผนการใช้จ่ายเงินของรัฐบาล โดยจะได้ประชาสัมพันธ์แผนการดำเนินการที่ชัดเจนให้ผู้ลงทุนรับทราบในโอกาสแรกต่อไป
นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 1 ต.ค.67 อนุมัติการกู้เงินของรัฐบาลเพื่อการก่อหนี้ใหม่ การกู้และการนำไปให้กู้ต่อ การกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ และการค้ำประกัน เงินกู้ให้กับรัฐวิสาหกิจ ภายใต้กรอบวงเงินของแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบฯ 2568 และให้ กค. เป็นผู้พิจารณาการกู้เงิน วิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดต่างๆ ของการกู้เงิน การค้ำประกันและการบริหารความเสี่ยงในแต่ละครั้งได้ตามความเหมาะสมและจำเป็น
กระทรวงการคลังมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องกู้เงินในรูปแบบโทเคนดิจิทัล เพื่อชดเชยการขาดดุลงบฯ รายจ่ายประจำปีงบฯ 2568 ประกอบกับพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 กำหนดให้ ครม.เป็นผู้พิจารณาอนุมัติวิธีการกู้เงิน ซึ่งการออก G-Token เป็นการนำนวัตกรรมทางการเงินเกี่ยวกับการระดมทุนรูปแบบใหม่มาประยุกต์ใช้กับการกู้เงินของกระทรวงการคลัง
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้ยกร่างประกาศเรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการออกโทเคนดิจิทัล พ.ศ. ....ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการให้อำนาจกระทรวงการคลังออกโทเคนดิจิทัลโดยวงเงินกู้ตามกรอบการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบฯ ด้วยวิธีการเสนอขายให้แก่ผู้มีสิทธิ์ซื้อโดยตรงผ่านผู้ที่เกี่ยวข้องตามกฏหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
1.กำหนดให้กระทรวงการคลังออกโทเคนดิจิทัล โดยวงเงินกู้ตามกรอบการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบฯ
2.กำหนดให้กระทรวงการคลังอาจมอบหมายให้ผู้เกี่ยวข้องเป็นตัวแทนของ กค. ในการดำเนินการด้านต่างๆ
3.กำหนดให้กระทรวงการคลังกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการเสนอขายโทเคนดิจิทัลให้แก่ผู้มีสิทธิ์ซื้อโดยตรง ตลอดจนความเหมาะสมของค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเสนอขายโทเคนดิจิทัลนั้น
4.กำหนดให้กระทรวงการคลังกำหนดหลักเกณฑ์การชำระดอกเบี้ยและการใช้เงินตามโทเคนดิจิทัล โดยให้กระทรวงการคลัง หรือนิติบุคคลอื่นใดที่มอบหมาย โอนเงินให้แก่ผู้ถือโทเคนดิจิทัลหรือผู้รับตามที่นายทะเบียนกำหนด ทั้งนี้ ตามที่ได้รับแจ้งจากนายทะเบียน
5.กำหนดให้การโอนโทเคนดิจิทัลให้มีผลสมบูรณ์เมื่อผู้โอนนั้นได้บันทึกการรับโอนโทเคนดิจิทัลเข้าไปในบัญชีของผู้รับโอนแล้ว
ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เห็นว่าหากกระทรวงการคลังพิจารณาได้ว่าการกู้เงินโดยวิธีการออก G-Token ไม่ใช่การออกตราสารหนี้ ซึ่งไม่เป็น "หลักทรัพย์" ตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 แล้วก็สามารถดำเนินการภายใต้ พ.ร.ก. การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 และเข้าข่ายเป็นโทเคนดิจิทัลแห่ง พ.ร.ก. การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ทั้งนี้ ให้รับความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย