คลัง สั่งแบงก์รัฐลดกำไร-ลดดอกเบี้ย-ให้ซอฟต์โลน อุ้มภาคส่งออกรับมือวิกฤติกำแพงภาษี

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 15, 2025 15:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คลัง สั่งแบงก์รัฐลดกำไร-ลดดอกเบี้ย-ให้ซอฟต์โลน อุ้มภาคส่งออกรับมือวิกฤติกำแพงภาษี

นายพิชัย ชุณหวิชร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ประเมินว่า ผลกระทบจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ จะทำให้เศรษฐกิจไทยสะดุดอย่างน้อย 2 ปี โดยเฉพาะภาคการส่งออก ดังนั้น กระทรวงการคลัง จึงมีนโยบายให้สถาบันการเงินของรัฐ ปรับกลยุทธ์การดำเนินงาน โดยการลดเป้าหมายกำไรจากการทำธุรกิจ เพื่อจัดสรรเม็ดเงินงบประมาณมาจัดทำโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ และช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นแก่ผู้ประกอบการ

โดยสถาบันการเงินของรัฐทั้ง 7 แห่ง อยู่ระหว่างเตรียมดำเนินการตามนโยบายผ่านโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการสินเชื่อซอฟท์โลน วงเงิน 1 แสนล้านบาท โดยธนาคารออมสิน กำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขแตกต่างจากสินเชื่อซอฟท์โลนโครงการอื่น เนื่องจากมีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายผู้ประกอบการที่มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการชัดเจน 3 กลุ่ม ได้แก่ ธุรกิจส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ, ธุรกิจซัพพลายเชน และธุรกิจผู้ผลิตสินค้าที่ต้องมีการแข่งขันสูงกับสินค้านำเข้าราคาถูกจากต่างประเทศ ตลอดจนผู้ประกอบการ SME ในภาพรวม

คลัง สั่งแบงก์รัฐลดกำไร-ลดดอกเบี้ย-ให้ซอฟต์โลน อุ้มภาคส่งออกรับมือวิกฤติกำแพงภาษี

นอกจากนี้ ธนาคารออมสิน จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 2-3% เพื่อช่วยเหลือลูกค้าในกลุ่มส่งออก และกลุ่ม SME ที่เกี่ยวเนื่อง ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษี โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่วันที่ 19 พ.ค.68

ส่วนธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ซึ่งมีลูกค้ากลุ่มส่งออก 3 พันราย ก็ให้ไปประเมินว่ามีลูกค้าที่มีปัญหาขาดสภาพคล่องเท่าไร อาจจะต้องเตรียมเงินเพื่อรองรับส่วนนี้ รวมถึงจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 20% ของที่เคยเก็บ


  • เตรียมอุ้มภาคเกษตร-อสังหาฯ -ท่องเที่ยวคิวต่อไป
คลัง สั่งแบงก์รัฐลดกำไร-ลดดอกเบี้ย-ให้ซอฟต์โลน อุ้มภาคส่งออกรับมือวิกฤติกำแพงภาษี

ขณะที่สถาบันการเงินของรัฐอื่น เตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคเกษตรกรรม และภาคอสังหาริมทรัพย์ เพราะหากเกิดปัญหาจะแก้ยาก เนื่องจากกระทบคนจำนวนมาก ส่วนกลุ่มท่องเที่ยว ก็ถือเป็นเครื่องจักรสำคัญ และต้องทำให้มั่นใจว่าจะไม่แผ่วลงจากผลกระทบต่าง ๆ

ในระยะต่อไป จะมีการหารือถึงผลกระทบกับกลุ่มแรงงานว่าจะสามารถรักษาตำแหน่งงานไว้ได้หรือไม่ จากผลกระทบที่เกิดขึ้นในครั้งนี้

"อยากให้แต่ละแบงก์รัฐดูตามหน้าที่ของตัวเอง ว่าแต่ละธนาคารจะเข้าไปช่วยเหลืออะไรได้บ้าง โดยในส่วนของรัฐ ก็จะมีมาตรการเสริมเข้ามาช่วยด้วย ทั้งในแง่ของงบประมาณ มาตรการ นโยบายที่จะเข้าไปเติมเต็มเศรษฐกิจ โดยนอกจากการหารือในวันนี่ ที่ต้องการเน้นในการให้ความช่วยเหลือผู้ส่งออกเป็นหลักแล้ว ก็อยากให้มองแนวทางการให้ความช่วยเหลือไปยังกลุ่ม SME ด้วย โดยเฉพาะในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว" นายพิชัย กล่าว

นายพิชัย กล่าวว่า การประเมินว่ากระทบจากมาตรการภาษีสหรัฐฯ จะทำให้เศรษฐกิจไทยสะดุด 2 ปีนั้น ถือเป็นวิธีการบริหารเศรษฐกิจที่มองไปข้างหน้า เป็นการบริหารความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น โดยการประเมินว่าจะมีกี่แนวทางเพื่อรองรับปัญหาจากเบา กลาง หนัก ไปจนถึงหนักมาก แต่ยังไม่อยากให้คาดเดาไปถึงว่าเป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) โดยขณะนี้เชื่อว่าทุกฝ่ายก็ยังเฝ้าติดตามสถานการณ์ และคงไม่มีผู้รู้คนไหนสามารถคาดเดาได้ ดังนั้นสิ่งที่ทำได้ตอนนี้ คือ การประเมินในหลาย ๆ สถานะและต้องตื่นตัวให้ได้มากที่สุด

"มองแบบกลาง ๆ เวลาเกิดปัญหา ทั่วโลกจะสะดุดกันหมด ยิ่งวันนี้ทุกคนหันรีหันขวาง เตรียมตัวกันไม่ค่อยถูก เพราะทุกคนก็ยังหาคำตอบกันไม่ค่อยได้ แต่ที่รู้แน่ ๆ คือมันสะดุด ซึ่งหากเราเตรียมตัวได้ดี ก็จะสะดุดไม่นาน โดยรัฐบาลได้เตรียม 5 ข้อเพื่อเจรจากับสหรัฐฯ ก็เชื่อว่าน่าจะตอบโจทย์สหรัฐฯ ได้เป็นอย่างดี" รองนายกฯ และรมว.คลัง กล่าว


  • เชื่อไม่สะเทือนสถานะแบงก์พาณิชย์

นายพิชัย กล่าวอีกว่า ในส่วนของธนาคารพาณิชย์นั้น ขณะนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้สั่งให้มีการรวบรวมข้อมูลของลูกค้ากลุ่มส่งออกที่ได้รับผลกระทบแล้ว เพื่อนำโจทย์นี้มาคุยกันว่ามีผลกระทบอย่างไร โดยหากดูจากขนาด 5 ธนาคารพาณิชย์ชั้นนำ มีขนาดใหญ่มากอยู่แล้ว ก็น่าจะให้ความช่วยเหลือลูกค้าได้ เพราะสถานะมีความแข็งแกร่ง

"คนที่แข็งแรงอยู่แล้ว ก็ต้องมีแรงที่จะช่วยเหลือคนได้เยอะ ส่วนจะช่วยเหลืออย่างไร ตอนนี้ต้องให้เวลาไปคิดก่อน เพราะโจทย์วันนี้ไม่เล็ก ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าการดำเนินมาตรการช่วยเหลือเหล่านี้ จะส่งผลกระทบกับตัวเลขกำไรของสถาบันการเงินรัฐแน่นอน ซึ่งกระทรวงการคลังได้ให้นโยบายไปชัดเจนแล้วว่า ไม่จำเป็นต้องทำกำไรเยอะมาก ให้กำไรน้อยลง แต่ยังอยู่ในระดับที่ยังคงแข็งแรง อยู่ได้ ตรงนี้เป็นประเด็นแรกที่มอบนโยบายไป" นายพิชัย กล่าว

ด้าน นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า สิ่งที่ธนาคารออมสินจะดำเนินการในทันที คือ การลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับผู้ประกอบการในกลุ่มส่งออก และภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีสหรัฐฯ ลง 2-3% สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงการคลัง

โดยการลดอัตราดอกเบี้ยในส่วนนี้ ยอมรับว่าอาจจะกระทบกำไรให้ลดลงมาบ้าง แต่ไม่ได้ทำให้ออมสินสูญเสียความแข็งแกร่ง ส่วนลูกค้าที่ต้องการเข้าร่วมมาตรการ จะต้องมาติดต่อที่ธนาคาร จะไม่ได้เป็นการปรับลดให้ลูกค้าเป็นการทั่วไป

สำหรับโครงการซอฟท์โลน วงเงิน 1 แสนล้านบาทนั้น จะเป็นวงเงินใหม่ โดยมีกลุ่มเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจงผู้ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายภาษีสหรัฐฯ โดยโครงการดังกล่าว จะต้องเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ