
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า จากข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-11 พ.ค. 68 ชาวต่างชาติเที่ยวไทยมีจำนวน 12.9 ล้านคน หดตัว 1% (YoY) ขณะที่คาดว่ารายได้ท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติหดตัว 2% (YoY) หรือมีมูลค่าประมาณ 613,168 ล้านบาท
ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทย ปรับตัวลดลงต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนก.พ. 68 จากหลายปัจจัยลบ ได้แก่ ความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัย หลังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับดาราจีน, ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ทำให้ทางการมาเลเซียออกประกาศเตือนชาวมาเลเซียให้หลีกเลี่ยงการเดินทางเข้าไปยังพื้นที่ภาคใต้ของไทย, แผ่นดินไหวในเมียนมา และไทย ทำให้นักท่องเที่ยวบางกลุ่มเลื่อนการเดินทางมาไทย, สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอินเดียและปากีสถาน ที่เกิดขึ้นในช่วงต้นเดือนพ.ค. ส่งผลกระทบโดยตรงต่อตลาดนักท่องเที่ยวทั้ง 2 ชาติที่มีแผนเดินทางมาเที่ยวไทย และปัจจัยด้านเศรษฐกิจหลายประเทศที่ชะลอตัวกระทบแผนการเดินทางท่องเที่ยว
โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เป็นตลาดนักท่องเที่ยวหลักปรับตัวลดลง ได้แก่ จีน มาเลเซีย เกาหลีใต้ นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวจาก สปป.ลาว เวียดนาม ฮ่องกง ปรับตัวลดลงเช่นกัน
อย่างไรก็ดี ในระยะข้างหน้า แม้ตลาดยังพอมีปัจจัยบวกจากการแข่งขันกีฬาระดับโลก อย่างการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันวอลเลย์บอลหญิงชิงแชมป์โลก และการแข่งขันกีฬาซีเกมส์-อาเซียนพาราเกมส์ แต่ท่ามกลางปัจจัยลบที่มากขึ้น ทำให้คาดว่าชาวต่างชาติเที่ยวไทย ยังมีแนวโน้มที่อาจลดลงต่อเนื่อง โดยมี 4 ปัจจัยลบสำคัญ ได้แก่
1. เศรษฐกิจโลกมีทิศทางชะลอตัวลง กระทบแผนการเดินทางและการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวจะมองหาจุดหมายปลายทางที่สอดคล้องกับงบประมาณและความคุ้มค่า สงครามการค้า ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และกำลังซื้อในหลายประเทศทั่วโลก โดยเมื่อเดือนเม.ย. 68 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดเศรษฐกิจโลกปี 68 จะขยายตัว 2.8% ปรับลดจากที่คาดว่าจะเติบโต 3.3% (คาดการณ์เมื่อเดือนม.ค. 68)
2. ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศกระทบการเดินทาง ยิ่งหากมีการปิดน่านฟ้าอีก แม้เหตุการณ์ระหว่างอินเดีย และปากีสถานจะยุติและสายการบินกลับมาเปิดเส้นทางการบินได้ตามปกติแล้ว แต่สถานการณ์ในตะวันออกกลาง รวมถึงสงครามรัสเซียและยูเครนยังไม่ยุติ ทำให้ประเด็นนี้จะยังส่งผลต่อความเชื่อมั่น และแผนการเดินทางท่องเที่ยวต่อเนื่อง
3. ความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวไทยลดลง สะท้อนจากจำนวนชาวต่างชาติเที่ยวไทยปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ขณะที่ชาวต่างชาติเดินทางท่องเที่ยวที่ญี่ปุ่น และเวียดนาม โตเร่งขึ้น โดย 2 ปัจจัยที่มีผลต่อความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของไทย ได้แก่
- ภาพลักษณ์ความปลอดภัยในสายตานักท่องเที่ยวบางกลุ่มลดลง ตั้งแต่ต้นปี 68 หลายเหตุการณ์ได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทย และยังมีผลต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มนักท่องเที่ยวจีน จากผลสำรวจ ของ Dragon Trail ณ เดือนเม.ย. 68 พบว่า ชาวจีนมีความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยของประเทศไทยลดลงเหลือเพียง 19% ขณะที่ 51% มองว่าประเทศไทยมีความไม่ปลอดภัย
- ราคาสินค้าบริการท่องเที่ยวไทยปรับตัวเร่งขึ้น เมื่อเทียบกับหลายประเทศ สะท้อนจากเครื่องชี้ราคาเฉลี่ยห้องพักต่อวันในไทย (Average Daily Rate) ในปี 67 ปรับตัวสูงขึ้นถึง 34% เทียบกับในปี 62 หรือก่อนโควิด ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในกลุ่มตัวอย่างที่ขยายตัวเพียง 28.3% อีกทั้งราคาสินค้าและบริการอย่างในร้านอาหาร ก็มีทิศทางเพิ่มขึ้นตามสภาวะต้นทุน
โดยเมื่อหักค่าเดินทาง ค่าที่พักและการใช้จ่ายสินค้าและบริการแล้ว นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ จะเหลืองบประมาณในการท่องเที่ยวที่ไม่มากแล้ว ยิ่งหากพิจารณาค่าใช้จ่ายต่อคนต่อทริปของนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยที่เฉลี่ยอยู่ที่ 1,300 ดอลลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งต่ำกว่าหลายประเทศด้วย อาทิ ญี่ปุ่น เฉลี่ยอยู่ที่ 1,600 ดอลลลาร์สหรัฐฯ และสิงคโปร์ เฉลี่ยอยู่ที่ 1,700 ดอลลลาร์สหรัฐฯ ทำให้การมาเที่ยวไทยเริ่มมีประเด็นเรื่องความคุ้มค่า โดยเปรียบเทียบกับคู่แข่งมากขึ้น
4. การแข่งขันด้านการท่องเที่ยวระหว่างประเทศสูง ทางการในหลายประเทศมีการพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยว การสนับสนุนจากภาครัฐเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ อาทิ เกาหลีใต้ เตรียมเสนอมาตรการวีซ่าฟรีให้กับนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมากับบริษัทนำเที่ยว (Group Tour) ในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่นของนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งมาตรการดังกล่าว น่าจะส่งผลต่อตลาดนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทย ขณะที่ เวียดนามเตรียมออกมาตรการวีซ่าระยะยาว 10 ปี (10-year Golden Visa) ดึงดูดชาวต่างชาติ และกระตุ้นการท่องเที่ยว
ขณะเดียวกัน แผนการจัดเที่ยวบินของสายการบินไปข้างหน้า ก็สะท้อนสัญญาณที่ตอบรับความสนใจในจุดหมายปลายทางใหม่ ๆ ของนักท่องเที่ยว จากการเปิดเผยเที่ยวบินระหว่างประเทศของสายการบินที่มีกำหนดการล่วงหน้าไปถึงเดือนก.ย. 68 บ่งชี้ว่า เที่ยวบินระหว่างประเทศที่มีปลายทางสู่จีน เติบโต 18% (9 เดือนแรกปี 68 เทียบ 9 เดือนแรกปี 67) ญี่ปุ่น เติบโต 16% ส่วนไทย เพิ่มขึ้นเพียง 8%
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ทั้งปี 68 นักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทย อาจอยู่ที่ประมาณ 34.5 ล้านคน หดตัว 2.8% ครั้งแรกในรอบ 3 ปี ซึ่งต่ำกว่าที่ประเมินในช่วงต้นปี โดยตลาดนักท่องเที่ยวหลักที่หดตัว อาทิ จีน มาเลเซีย และเกาหลีใต้ สำหรับตลาดนักท่องเที่ยวจากอินเดีย น่าจะยังขยายตัวได้ กรณีที่ไม่มีเหตุการณ์ระหว่างอินเดีย และปากีสถานเกิดขึ้นอีก
สำหรับตลาดที่มองว่ายังเติบโต หลัก ๆ มาจากนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคยุโรป อาทิ รัสเซีย เยอรมัน ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสายการบินยุโรป มีการขยายเส้นทางการบินตรง และเพิ่มความถี่มาไทยเพิ่มขึ้น รวมถึงนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคตะวันออกกลางอย่างซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นของตลาดเหล่านี้ น่าจะไม่เพียงพอที่จะชดเชยการลดลงของตลาดสำคัญๆ โดยเฉพาะจีนได้
ในส่วนของรายได้ท่องเที่ยวจากชาวต่างชาติกระจายสู่ภาคธุรกิจท่องเที่ยว และเกี่ยวเนื่องในปี 68 คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1.62 ล้านล้านบาท หดตัว 3% จากปี 67 สำหรับการใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนต่อทริปอยู่ที่ประมาณ 47,000 บาทต่อคนต่อทริป หดตัวเล็กน้อยที่ 1.9% เมื่อเทียบกับปี 62 (ก่อนโควิด) เนื่องจากกลุ่มชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเป็นกลุ่ม Young Traveler และกลุ่มรายได้ระดับปานกลาง รวมถึงพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่ใช้จ่ายระมัดระวังมากขึ้น อย่างการปรับลดการซื้อของที่ระลึก การใช้บริการร้านอาหารแบบคนท้องถิ่น อย่างการเลือกร้านอาหาร Street food