
ภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) เป็นเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ที่กำหนดต้นทุนทางการเงินกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas: GHG) เพื่อกระตุ้นให้ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม และภาคการผลิตลดการปล่อยก๊าซลง โดยยึดหลัก "ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย" (Polluter Pays Principle) เป็นหลักการสากลในนโยบายสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันภาษีคาร์บอนได้กลายเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกใช้ในการต่อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ภายใต้แนวนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเทศไทยได้วางแผนเริ่มดำเนินการจัดเก็บภาษีคาร์บอนภาคบังคับผ่านการบูรณาการกลไกราคาคาร์บอนในโครงสร้างภาษีสรรพสามิต โดยการจัดเก็บจะครอบคลุมกลุ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ได้แก่ 1) น้ำมันเบนซินและน้ำมันที่คล้ายกันซึ่งรวมถึงแก๊สโซฮอลล์ประเภทต่าง ๆ เช่น แก๊สโซฮอลล์ E10 แก๊สโซฮอลล์ E20 และแก๊สโซฮอลล์ E85 2) น้ำมันก๊าดและน้ำมันที่จุดให้แสงสว่างที่คล้ายกัน 3) น้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่น 4) น้ำมันเชื้อเพลิงดีเซลและน้ำมันอื่น ๆ ที่คล้ายกัน ซึ่งรวมถึงน้ำมันดีเซลที่มีไบโอดีเซลผสมอยู่ประเภทต่าง ๆ เช่น น้ำมันดีเซล B5 น้ำมันดีเซล B7 และน้ำมันดีเซล B10 เป็นต้น 5) ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอล.พี.จี.) ก๊าซโพรเพรน และก๊าซที่คล้ายกัน และ 6) น้ำมันเตาและน้ำมันที่คล้ายกัน
เมื่อเดือนมกราคม 2568 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการ ร่างกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ...) พ.ศ. .... เพื่อกำหนดกลไกราคาคาร์บอน (Carbon Pricing) ในพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต เพื่อบูรณาการกลไกราคาคาร์บอนเข้ากับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน โดยไม่เปลี่ยนแปลงอัตราภาษีเดิม แต่เพิ่ม "GHG Emission Factor" ลงในสูตรคำนวณ เพื่อให้ประชาชนและภาคอุตสาหกรรมเริ่มตระหนักถึงต้นทุนสิ่งแวดล้อมของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
กำหนดกลไกราคาคาร์บอนในโครงสร้างภาษีสรรพสามิตที่จัดเก็บจากสินค้าในตอนที่ 1 สินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน โดยพิจารณาจากค่าสัมประสิทธิ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Factor) ของสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันตามพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตในบัญชีพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตเฉพาะประเภท
กำหนดให้การกำหนดคาร์บอนของสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด ซึ่งเบื้องต้นจะมีการกำหนดราคาคาร์บอนที่ 200 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
ผลลัพธ์จะแสดงเป็น "กลไกราคาคาร์บอน (บาท/ลิตร)" ที่รวมอยู่ในอัตราภาษีสรรพสามิตเดิม โดยไม่กระทบต่อราคาขายปลีกหรือต้นทุนภาคอุตสาหกรรม
ยังคงยึดหลักความสมัครใจและการสร้างการรับรู้ในช่วงเริ่มต้น ก่อนที่ร่าง พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะมีผลใช้บังคับในอนาคต
หากมีการปรับราคาคาร์บอนในอนาคตให้เกิน 200 บาท/ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า อันจะส่งผลต่ออัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน จะต้องนำเสนอ ครม. เพื่อขออนุมัติแก้ไขกฎกระทรวง
แม้ว่าจะมีการเพิ่มภาษีคาร์บอนเข้าในโครงสร้างภาษี แต่ได้มีการชี้แจงว่า อัตราภาษีรวมจะไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิม เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อราคาขายปลีก ต้นทุนของภาคอุตสาหกรรม หรือค่าครองชีพของประชาชน กล่าวคือ องค์ประกอบของ "ภาษีคาร์บอน" เป็นการแสดงออกเชิงนโยบายมากกว่าการเพิ่มภาระทางการเงินให้แก่ผู้บริโภค
การออกกฎกระทรวงนี้ถือเป็นก้าวแรกของประเทศไทยในการขับเคลื่อนนโยบายภาษีคาร์บอนแบบภาคบังคับ ผ่านโครงสร้างภาษีที่มีอยู่แล้ว ช่วยปูทางสู่การกำหนดราคาคาร์บอนที่เป็นรูปธรรม และเชื่อมโยงกับนโยบายการลดคาร์บอนระดับประเทศ โดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจในระยะสั้น
ขณะเดียวกันยังเป็นการสร้างความตระหนักรู้ (Awareness) ต่อผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการใช้พลังงานฟอสซิล และต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นการปูทางสู่การบังคับใช้ พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะขยายการจัดเก็บไปยังเชื้อเพลิงอื่น เช่น ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ และเป็นการเตรียมพร้อมรับมือกับมาตรการการค้าสากลใหม่ๆ เช่น Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM)
การดำเนินการนี้สอดคล้องกับ ร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณา โดยร่างกฎหมายจะวางกลไกราคาคาร์บอนที่ครอบคลุมถึงอุตสาหกรรมอื่น ๆ และสนับสนุนการจัดตั้ง Climate Fund สำหรับใช้ในนวัตกรรมการลดและปรับตัวต่อผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศ
จึงอาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า ภาษีคาร์บอนภาคบังคับในประเทศไทยจะไม่ทำให้น้ำมันแพงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่มีคุณค่าทางนโยบายอย่างยิ่งในการเปลี่ยนผ่านระบบภาษีและพฤติกรรมการใช้พลังงานของสังคม กลไกราคาคาร์บอนจึงควรถูกมองในฐานะ "เครื่องมือเชิงยุทธศาสตร์" ที่ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว
ดุษดี ดุษฎีพาณิชย์
ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายการค้า การลงทุน และอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ