จับตา! ธุรกิจร้านอาหาร-เครื่องดื่มฝ่ามรสุมเศรษฐกิจทุบกำลังซื้อ-แข่งขันสูง

ข่าวท่องเที่ยว Friday May 23, 2025 15:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

จับตา! ธุรกิจร้านอาหาร-เครื่องดื่มฝ่ามรสุมเศรษฐกิจทุบกำลังซื้อ-แข่งขันสูง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีมุมมองว่า ในปี 68 คาดว่า ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 646,000 ล้านบาท เติบโต 2.8% จากปี 67 ซึ่งเป็นการปรับลดจากคาดการณ์เดิมที่เติบโต 4.6% หรือมีมูลค่า 657,000 ล้านบาท มาจาก 2 ปัจจัยสำคัญ คือ

1. เศรษฐกิจไทยเติบโตชะลอลงกระทบกำลังซื้อรวมถึงค่าใช้จ่ายในร้านอาหาร แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 68 ยังมีความไม่แน่นอนสูง สร้างความเสี่ยงต่อภาวะการมีงานทำและกำลังซื้อของผู้บริโภค ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเติบโตของธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม

2. ภาคการท่องเที่ยวที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปีนี้เสี่ยงไม่เติบโต ในช่วงต้นปี 68 ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยเผชิญกับปัจจัยลบกระทบการเติบโต สะท้อนได้จากข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-11 พ.ค. 68 นักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยหดตัว 1% (YoY) หรือมีจำนวน 12.9 ล้านคน และมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ขณะที่คนไทยเที่ยวในประเทศแม้ยังมีทิศทางขยายตัวแต่จากปัจจัยเศรษฐกิจทำให้นักท่องเที่ยวบางกลุ่มระมัดระวังการใช้จ่าย

อย่างไรก็ดี ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มยังมีปัจจัยสนับสนุนจากไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่คุ้นชินกับการทานอาหารนอกบ้านและการสั่งมารับประทานมากขึ้น รวมถึงร้านอาหารและเครื่องดื่มแบรนด์ใหม่ที่เข้ามาทำตลาด การขยายสาขาของผู้ประกอบการ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการร้านอาหารยังได้จัดโปรโมชั่นกระตุ้นตลาดร่วมกับพันธมิตรอย่างแอปพลิเคชั่นจัดส่งอาหารไปยังที่พัก (Food Delivery Application) เพื่อเพิ่มช่องทางการสร้างรายได้และกระตุ้นยอดขาย


*สถานการณ์การลงทุน

ในปี 68 ผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และเล็ก (บุคคล) รวมถึงผู้ประกอบการรายใหม่ ยังให้ความสนใจเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง ร้านอาหารเอเชียโดยเฉพาะอาหารญี่ปุ่น ตลาดพรีเมียมยังเป็นตลาดที่ผู้ประกอบการให้ความสนใจ

จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 68 ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มมีการจดทะเบียนจัดตั้งกิจการใหม่ 973 ราย แม้จะลดลง 11.0% (YoY) แต่ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มเป็นธุรกิจที่มีการเปิดใหม่มากติดอันดับ 1 ใน 5 ของกิจการที่มีการจดทะเบียนจัดตั้งกิจการใหม่ในทุกปี

โดยในปี 68 คาดว่าร้านอาหารและเครื่องดื่มทั่วประเทศจะมีจำนวนกว่า 6.9 แสนร้าน (ซึ่งยังไม่นับรวมร้านอาหารและเครื่องดื่มประเภทอื่น ๆ อาทิ ร้านข้างทางที่เป็นรถเข็นไม่มีหน้าร้านหรือที่ตั้งถาวร ร้านฟู้ดทรัค และร้านรูปแบบ Ghost Kitchen ซึ่งมีเป็นจำนวนมาก)

สำหรับการลงทุนของผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เนื่องจากเป็นพื้นที่ศักยภาพ จากข้อมูลของ LINE MAN Wongnai พบว่า ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 68 พื้นที่กรุงเทพมหานครมีร้านอาหารเปิดใหม่เพิ่มขึ้น 4.8% จาก ณ สิ้นปี 67

โดยพื้นที่ที่มีจำนวนร้านอาหารและเครื่องดื่มสูงส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ชุมชนและที่อยู่อาศัย โดยเขตที่มีการกระจุกตัวสูงของร้านอาหารและเครื่องดื่ม 5 อันดับแรก ได้แก่ จตุจักร ปทุมวัน ประเวศ พระนคร ลาดกระบัง นอกจากนี้ จังหวัดที่มีกิจกรรมการท่องเที่ยวสูงยังเห็นการเปิดตัวของร้านอาหารและเครื่องดื่ม อาทิ ชลบุรี เชียงใหม่ และสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ศักยภาพมีทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยละต่างชาติเดินทางไปท่องเที่ยว

ทั้งนี้ เนื่องจากภาวะการแข่งขันในธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มที่สูง ทำให้การลงทุนใหม่อาจยังต้องระวัง โดยผู้ประกอบการมีจำนวนมาก เทรนด์ร้านอาหารและเครื่องดื่มใหม่มีผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภค ทำให้ผู้ประกอบการมีการปรับโมเดลการทำธุรกิจ โดยการสร้างแบรนด์ใหม่ หรือการรีแบรนด์เดิมเพื่อเปลี่ยนภาพลักษณ์ อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการบางรายมีการปิดสาขาหรือร้านที่ไม่สามารถแข่งขันได้ ขณะที่การแข่งขันในธุรกิจที่รุนแรง ก็ทำให้เกิดการปิดกิจการจำนวนไม่น้อยเช่นกัน


*เทรนด์รูปแบบการลงทุน

- ร้านอาหารและเครื่องดื่มรูปแบบร่วมสมัย (Contemporary Casual) กำลังเป็นที่นิยม และเป็นโมเดลร้านอาหารที่ตอบโจทย์เทรนด์สมัยใหม่ เช่น การจัดรูปแบบร้านอาหารแนวมินิมอล สร้างประสบการณ์ที่มีเอกลักษณ์ ผ่านการสร้างแบรนด์ให้สอดคล้องกับกระแสความต้องการของผู้บริโภค เช่น การนำเสนอเมนูใหม่ ๆ การผสมผสานวัฒนธรรมผ่านการประยุกต์ใช้วัตถุดิบอาหารจากท้องถิ่น ในขณะที่ยังคงรักษาราคาที่เหมาะสม และมีระดับราคาที่หลากหลาย โดยกลุ่มผู้ประกอบการกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (Young Entrepreneur) โดยกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่เป็นลูกค้ากลุ่ม Gen Z

- ร้านอาหารและเครื่องดื่มแบรนด์จากต่างประเทศเข้ามาทำตลาดมากขึ้น ผู้ประกอบการร้านอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงเบเกอรี่แบรนด์ในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย ให้ความสนใจในการเข้ามาทำตลาดและขยายสาขาในไทยมากขึ้น ทั้งรูปแบบการร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการไทยและการซื้อแฟรนไชส์เข้ามาบริหารในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มยังได้รับความสนใจจากชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนต่อเนื่อง โดยไตรมาส 1/68 มูลค่าทุนจดทะเบียนธุรกิจร้านอาหารจากชาวต่างชาติเพิ่มขึ้นกว่า 542 ล้านบาท จากมูลค่าสะสม ณ สิ้นปี 67

- ร้านอาหารกลุ่มราคาระดับกลาง-บน หรือ Premium Casual จับกลุ่มผู้บริโภคกำลังซื้อสูง โดยร้านอาหารกลุ่มนี้จะมีราคาเฉลี่ยประมาณ 500 บาทต่อจานขึ้นไป ผู้ประกอบการเปิดตัวมากขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงตลาด Mass และผลกระทบจากเศรษฐกิจ โดยร้านอาหารกลุ่มนี้เน้นเรื่องของคุณภาพวัตถุดิบ เทคนิคการทำอาหารที่สร้างสรรค์ และอาหารที่แปลกใหม่ กลุ่มลูกค้าทั่วไป ครอบครัวและวัยทำงานที่มองหาประสบการณ์การรับประทานอาหารคุณภาพสูงอย่างกลุ่มร้านอาหารญี่ปุ่นที่เปิดตัวมากขึ้น


*แนวโน้มธุรกิจร้านอาหาร

ในปี 68 คาดว่า มูลค่าตลาดร้านอาหาร (รวมร้านอาหารประเภทร้านอาหารที่ให้บริการเต็มรูปแบบ ร้านอาหารที่ให้บริการจำกัด และร้านอาหารข้างทางหรือ Street Food ที่มีหน้าร้าน) จะมีมูลค่ารวมประมาณ 562,000 ล้านบาท เติบโต 3.0% จากปี 67 การเติบโตของร้านอาหารแต่ละรูปแบบมีปัจจัยเฉพาะที่ต่างกัน

- ร้านอาหารที่ให้บริการเต็มรูปแบบ (Full Service Restaurants) คาดว่าจะเติบโต 1.1% จากปี 67 หรือมีมูลค่า 209,000 ล้านบาท กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจ จากการที่ผู้บริโภคมีการปรับลดค่าใช้จ่ายหรือความถี่ในการทานอาหารนอกบ้าน ขณะที่กลุ่มร้านอาหารประเภทบุฟเฟต์ยังได้รับความนิยมจากผู้บริโภคที่มองเรื่องความคุ้มค่า เช่นเดียวกับกลุ่มร้านอาหารประเภทอะลาคาร์ท อย่างร้านกลุ่ม Contemporary Casual Dining อาทิ ร้านอาหารญี่ปุ่น เกาหลี ไทย ตามไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป

- ร้านอาหารที่ให้บริการจำกัด (Limited Service Restaurants) คาดว่าจะเติบโต 2.7% จากปี 67 หรือมีมูลค่า 92,000 ล้านบาท การขยายตัวจะมาจากการขยายสาขาของผู้ประกอบการอย่างกลุ่มไก่ทอดและพิซซ่า รวมถึงผู้ประกอบการที่ให้บริการในรูปแบบ Full Service ได้ปรับรูปแบบร้านอาหารมาเป็นแบบ Quick Service มากขึ้น และการจัดโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นยอดขายต่อเนื่อง

- ร้านอาหารข้างทาง (Street Food) ที่มีหน้าร้าน คาดว่าจะเติบโต 4.7% จากปี 67 หรือมีมูลค่า 261,000 ล้านบาท ร้านอาหารต้นตำรับ ที่เปิดมานานมีเอกลักษณ์และยังสามารถรักษากระแสนิยม อีกทั้งเป็นเมนูพื้นฐานที่เข้าถึงได้ง่ายและราคาไม่สูง ทำให้ร้านอาหารกลุ่มนี้มีแนวโน้มเติบโตกว่ากลุ่มอื่น ประกอบกับร้านอาหารแนว Street Food ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวไทยและชาวต่างชาติ รวมถึงการทำการตลาดผ่านสื่อสังคมออนไลน์ช่วยหนุนร้านอาหารกลุ่มนี้


*แนวโน้มธุรกิจร้านเครื่องดื่ม

ในปี 68 คาดว่า มูลค่าตลาดร้านเครื่องดื่ม (รวมร้านเบเกอรี่และไอศกรีม) จะมีมูลค่ารวมประมาณ 84,200 ล้านบาท เติบโต 1.9% จากปี 67 การเติบโตส่วนหนึ่งมาจากการขยายสาขาของผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่ และผู้ประกอบการรายเล็ก (บุคคล) ที่ยังมีการเปิดร้านใหม่ รวมถึงการขยายแฟรนไชส์ร้านเครื่องดื่มของชาวต่างชาติที่น่าจะเข้ามาทำตลาดในไทยมากขึ้น

นอกจากนี้ เครื่องดื่มและเบเกอรี่ใหม่ ๆ จากต่างประเทศที่เข้ามาทำตลาด มีส่วนกระตุ้นความต้องการบริโภคเครื่องดื่มและเบเกอรี่มากขึ้น รวมถึงกลุ่มเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพพรีเมี่ยมที่ได้รับความนิยม


*ความเสี่ยงของธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม

1. ต้นทุนการดำเนินธุรกิจมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ในปี 68 ต้นทุนรอบด้านของธุรกิจร้านอาหารมีแนวโน้มสูงขึ้น ทั้งค่าแรงที่มีสัดส่วนประมาณ 15% ของต้นทุน ขณะที่ค่าสาธารณูปโภคและค่าเช่ามีสัดส่วนรวมกันกว่า 20% ของต้นทุนรวม รวมถึงต้นทุนที่สำคัญ คือ

- ราคาวัตถุดิบอาหารซึ่งคิดเป็นประมาณ 35% ของต้นทุน ยังมีทิศทางผันผวนและทรงตัวสูง ในช่วงต้นปี 68 ราคาวัตถุดิบในการประกอบอาหารหลายประเภทมีความผันผวนและมีการปรับตัวสูงขึ้น จากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงมีผลต่อผลผลิต นอกจากนี้ นโยบายภาษีจากสงครามการค้าที่ทำให้ราคาสินค้าบางประเภทสูงขึ้น โดยราคาวัตถุดิบในประเทศปรับขึ้นหลายรายการ อาทิ ไข่ไก่ และเนื้อหมูสด ขณะที่กลุ่มวัตถุดิบอาหารที่ต้องนำเข้า อาทิ นมผง เนย ชีส แป้งสาลี โกโก้ และเมล็ดกาแฟ แม้จะปรับตัวลดลงจากในช่วงต้นปี 68 แต่ราคายังผันผวนในระดับสูง ทำให้กลุ่มร้านเครื่องดื่ม ร้านเบเกอรี่และอาหารตะวันตกจะเป็นกลุ่มได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก

2. พฤติกรรมของผู้บริโภคที่หลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม โดย 5 ปัจจัยสำคัญ "ความแปลกใหม่+ประสบการณ์+คุณภาพ+สุขภาพ+ราคาสมเหตุสมผล" ได้กลายมาเป็นมาตรฐานใหม่ของผู้บริโภคในปัจจุบัน และเทรนด์ความต้องการของผู้บริโภคที่ไม่ได้มีรูปแบบตายตัว ความจงรักภักดีต่อแบรนด์ต่ำและเปลี่ยนแปลงตามกระแสอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับรูปแบบธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว ขณะที่ด้วยตลาดที่เข้าง่ายแต่แข่งขันสูงจากจำนวนผู้ให้บริการที่มีมาก การรักษาผลกำไรของธุรกิจให้ได้อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง จึงยังเป็นโจทย์ที่ท้าทาย




เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ