นายกฯ ร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน กำหนดวิสัยทัศขับเคลื่อน 20 ปีเน้นสร้างความยั่งยืนทุกภาคส่วน

ข่าวการเมือง Monday May 26, 2025 11:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกฯ ร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน กำหนดวิสัยทัศขับเคลื่อน 20 ปีเน้นสร้างความยั่งยืนทุกภาคส่วน

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 46 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย ภายใต้แนวคิดหลัก "การมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึง และความยั่งยืน" (Inclusivity and Sustainability)

นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถ้อยแถลงถึงความสำคัญของการประชุมสุดยอดอาเซียนในครั้งนี้ ซึ่งจัดขึ้นในช่วงเวลาที่ภูมิทัศน์โลกกำลังเปลี่ยนไปสู่นโยบายที่แข็งกร้าวและมุ่งผลประโยชน์ตอบแทน ถอยห่างจากแนวทางความร่วมมือพหุภาคีไปสู่การปฏิบัติฝ่ายเดียว มาตรการด้านภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ได้ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อพลวัตทางการค้าโลก และต่อแนวโน้มเศรษฐกิจของอาเซียนโดยรวม พัฒนาการดังกล่าวได้ท้าทายบรรทัดฐานโลก ทำให้อาเซียนต้องประเมินยุทธศาสตร์ของอาเซียนอีกครั้ง เพื่อเสริมสร้างความยืดหยุ่นร่วมกัน โดยนายกรัฐมนตรีได้ถือโอกาสนี้ ขอบคุณต่อความพยายามของนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในการส่งเสริมจุดยืนอันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของอาเซียน

นายกฯ ร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน กำหนดวิสัยทัศขับเคลื่อน 20 ปีเน้นสร้างความยั่งยืนทุกภาคส่วน

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เพื่อรับมือกับภูมิทัศน์เศรษฐกิจโลกที่ผันผวน อาเซียนจำเป็นต้องสร้างเครือข่ายห่วงโซ่อุปทานแบบครบวงจร และทำงานร่วมกันมุ่งไปสู่การบูรณาการระดับภูมิภาคที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น เพื่อให้อาเซียนยังคงมีบทบาทความสำคัญ ที่น่าดึงดูด และแข่งขันได้ จึงต้องมีการสนับสนุนการค้าภายในอาเซียน ใช้ประโยชน์จาก FTA ที่มีอยู่ให้เต็มที่ พิจารณาจัดทำ FTA กับภาคีใหม่ ๆ ควบคู่กับส่งเสริมความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบ MSMEs เพื่อให้สามารถต่อสู้กับความท้าทายในอนาคตได้

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรียืนยันว่า ประเทศไทยสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อระบบการค้าพหุภาคีที่โปร่งใส เสรี ยุติธรรม และมีกฎเกณฑ์ที่คาดเดาได้ โดยประเทศไทยจะเร่งรัดการจัดทำ Digital Economy Framework Agreement (DEFA) ให้แล้วเสร็จภายในปี 68 เพื่อปลดล็อคการเติบโตครั้งใหม่ ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในอนาคต และแสดงให้เห็นว่า อาเซียนไม่หยุดนิ่งในการแสวงหาความก้าวหน้า ควบคู่กับการตอบสนองต่อภูมิทัศน์ของการค้าและการลงทุนระดับโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

นอกจากนี้ เพื่อให้บรรลุการบูรณาการที่มีประสิทธิผล อาเซียนต้องส่งเสริมกลไกการเจรจาจากทั้งภายในและภายนอกที่ตรงไปตรงมา ครอบคลุม สร้างสรรค์ และมุ่งเน้นที่การแก้ปัญหา ผ่านการเสริมสร้างความเป็นศูนย์กลางและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ที่มีพื้นฐานที่มั่นคง ยึดมั่นตามหลักการของอาเซียน การให้ความสำคัญในเรื่องเดียวกัน และขับเคลื่อนในประเด็นที่เป็นผลประโยชน์ของพลเมืองอาเซียนอย่างแท้จริง ซึ่งไทยจะยังคงส่งเสริมสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันอย่างแข็งขัน โดยทำงานอย่างใกล้ชิดกับครอบครัวและหุ้นส่วนอาเซียน เพื่อให้แน่ใจว่าอาเซียนจะบรรลุถึง "การมีส่วนร่วมอย่างครอบคลุมและยั่งยืน" ที่สะท้อนอยู่ในหัวข้อของอาเซียนในปีนี้

ดังนั้น เพื่อสร้างอนาคตที่ครอบคลุมสำหรับภูมิภาคอาเซียน ประชาคมอาเซียนจะต้องเน้นที่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนอาเซียนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และต้องเพิ่มความพยายามเพื่อปกป้องความมั่นคงของมนุษย์ในทุกมิติ ทั้งด้านสุขภาพและความมั่นคงทางอาหาร การปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะยาเสพติด การหลอกลวงทางออนไลน์ หมอกควันข้ามพรมแดน และภัยพิบัติต่าง ๆ เช่น เหตุการณ์แผ่นดินไหวในเมียนมา ซึ่งเป็นเครื่องเตือนใจว่า การคุ้มครองประชาชน ไม่อาจล้าช้าได้

ขณะเดียวกัน อาเซียนควรริเริ่มส่งเสริมเครื่องยนต์ตัวสำคัญที่จะสนับสนุนการเติบโตของอาเซียนร่วมกัน เช่น ภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคมอาเซียน และความร่วมมือที่ใกล้ชิดมากขึ้นในการเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานข้ามพรมแดน ปรับปรุงแนวทางปฎิบัติในการเดินทางระหว่างกัน และส่งเสริมมรดกทางวัฒนธรรมที่หลากหลายร่วมกัน ตามข้อริเริ่มของไทยเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวในอาเซียน

นอกจากนี้ อาเซียนควรมุ่งเน้นแนวทางในการสร้างความยั่งยืนในทุกภาคส่วน และในชีวิตประจำวัน เพื่อเสริมสร้างความยั่งยืน พร้อมกันสนับสนุนนโยบายที่ส่งเสริมความยั่งยืนสำหรับอนาคต และในฐานะที่ประเทศไทยเป็นผู้ประสานงานของอาเซียนด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อผลักดันอาเซียนสีเขียว ให้มีความยั่งยืนมากขึ้นในอนาคต ประเทศไทยจะแสดงบทบาทนำขับเคลื่อนอาเซียนสู่เป้าหมาย ซึ่งเป็นหนึ่งในความปรารถนาอาเซียน ที่ระบุไว้ใน "วิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ปีค.ศ.2045" (ASEAN Community Vision 2045) โดยเน้นเรื่องการเงินสีเขียว การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พลังงานสะอาด และการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีแสดงความรู้สึกยินดีที่ได้ร่วมนำ "วิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ปีค.ศ.2045" มาขับเคลื่อนอาเซียนไปสู่อนาคตร่วมกัน และเชื่อว่า วิสัยทัศน์ใหม่นี้ จะทำให้อาเซียนเติบโต ที่นำไปสู่สันติสุข ความเป็นหุ้นส่วน และก้าวหน้ายิ่งขึ้น

ภายหลังการประชุมผู้นำอาเซียน ยังได้ร่วมรับรองเอกสารผลลัพธ์ 9 ฉบับ ได้แก่

1. ปฏิญญากรุงกัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยการครบรอบ 10 ปี ของการจัดตั้งประชาคมอาเซียน (KL Declaration on the 10th Anniversary of the Establishment of the ASEAN Community)

2. ปฏิญญากรุงกัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยอาเซียน 2045: อนาคตร่วมกันของเรา (KL Declaration on ASEAN 2045: Our Shared Future)

3. วิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2045 "อาเซียนที่เข้มแข็ง มีนวัตกรรม มีพลวัติและมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง" (ASEAN Community Vision 2045: "Resilient, Innovative, Dynamic and People-Centred ASEAN")

4. แผนยุทธศาสตร์ประชาคม การเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political-Security Community Strategic Plan)

5. แผนยุทธศาสตร์ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community Strategic Plan)

6. แผนยุทธศาสตร์ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community Strategic Plan)

7. แผนยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยงอาเซียน (ASEAN Connectivity Strategic Plan)

8. กรอบความยั่งยืนสำหรับเศรษฐกิจสร้างสรรค์อาเซียน (ASEAN Creative Economy Sustainability Framework)

9. ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยความมุ่งมั่นเพื่อความมั่นคงและการพึ่งพาตนเองด้านยา (ASEAN Declaration of Commitment on ASEAN Drug Security and Self-Reliance: ADSSR)




เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ