ส่งออก เม.ย.โต 10.2% พลิกขาดดุล รมว.พาณิชย์มั่นใจเจรจาภาษีสหรัฐฯ ทันเวลา

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 26, 2025 12:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ส่งออก เม.ย.โต 10.2% พลิกขาดดุล รมว.พาณิชย์มั่นใจเจรจาภาษีสหรัฐฯ ทันเวลา

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนเม.ย.68 พบว่า การส่งออกมีมูลค่า 25,625 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 10.2% จากตลาดคาด 9.1-12.2% แต่ชะลอจากเดือนมี.ค.

อย่างไรก็ตามการส่งออกในเดือนเม.ย. ยังเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 และขยายตัวในระดับ 2 digit ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 28,946 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 16.1% ส่งผลให้เดือนนี้ไทยกลับมาขาดดุลการค้า 3,321 ล้านดอลลาร์

ส่วนในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-เม.ย.68) การส่งออก มีมูลค่ารวม 107,157 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 14% ส่วนการนำเข้า มีมูลค่ารวม 109,397 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้า 2,240 ล้านดอลลาร์

ส่งออก เม.ย.โต 10.2% พลิกขาดดุล รมว.พาณิชย์มั่นใจเจรจาภาษีสหรัฐฯ ทันเวลา

รมว.พาณิชย์ ระบุว่า การส่งออกของไทยไตรมาสแรกที่ขยายตัวได้ถึง 15.2% นั้น แม้ส่วนหนึ่งจะเป็นผลมาจากที่ประเทศคู่ค้าเร่งนำเข้าสินค้าก่อนที่จะถูกปรับขึ้นภาษีจากสหรัฐฯ แต่โดยภาพรวมแล้ว การส่งออกสินค้าของไทยยังมีพื้นฐานที่ดี สามารถขยายตลาดได้มากขึ้น และเชื่อว่าจะยังเป็นพระเอกขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีนี้ได้อย่างแน่นอน อีกทั้งแนวโน้มการส่งออกของไทยในไตรมาส 2 ปีนี้ (เม.ย.-มิ.ย.) ยังสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง

"ที่ส่งออกเติบโตดี ไม่อยากให้คิดว่าเป็นเพราะเรื่องสหรัฐฯ (เร่งส่งออกก่อนสหรัฐฯ ปรับขึ้นภาษี) เพราะส่งออกไตรมาส 4/67 ก่อนที่ทรัมป์จะมา ก็ขยายตัวได้ 10% ส่วนไตรมาส 1/68 ขยายตัวได้ 15.2% ซึ่งเป็นการขยายตัวที่ดีอยู่แล้ว และอาจจะมีส่วนบ้าง ที่เป็นการเร่งสต็อกสินค้าเพิ่มเติม แต่คงไม่ใช่ส่วนใหญ่ทั้งหมดของการส่งออก อยากให้เข้าใจว่าการส่งออกของไทยมีพื้นฐานแข็งแกร่ง กระจายตลาดได้มั่นคงขึ้น ไม่ใช่ตัวเลขดี เพราะการเร่งส่งออกไปสหรัฐฯ อย่างเดียว ซึ่งเดือนเม.ย.ขนาดบอกว่าขึ้นภาษี ก็ยังโตได้ 10.2% ดังนั้น อย่าไปมองโลกในแง่ร้ายเกินไป" นายพิชัย กล่าว

สำหรับการส่งออกสินค้า แยกเป็นรายกลุ่มในเดือนเม.ย.68 เป็นดังนี้

ส่งออก เม.ย.โต 10.2% พลิกขาดดุล รมว.พาณิชย์มั่นใจเจรจาภาษีสหรัฐฯ ทันเวลา

- สินค้าเกษตร มีมูลค่า 2,429 ล้านดอลลาร์ ลดลง 19.6% หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4

- สินค้าอุตสาหกรรเกษตร มีมูลค่า 2,108 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 9.1% พลิกกลับมาขยายตัว

- สินค้าอุตสาหกรรม มีมูลค่า 20,337 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 16.6% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13

โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงสวิทซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า และอัญมณีและเครื่องประดับ ส่วนสินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ


  • เชื่อส่งออกปีนี้ โตเกินเป้าที่ตั้งไว้ 2-3%

นายพิชัย ระบุว่า จากที่หลายฝ่ายเคยคาดว่าภาษีจากสหรัฐฯ จะทำให้ส่งออกไทยตกฮวบ แต่ตัวเลขพิสูจน์แล้วว่าไม่เป็นความจริง ซึ่งการส่งออกยังโตได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯ ขยายตัวถึง 23.8% และโตต่อเนื่องมาแล้ว 19 เดือนติดต่อกัน ส่วนตลาดสำคัญอื่น ๆ ก็ขยายตัวเช่นกัน อาเซียนขยายตัว 7.8% ต่อเนื่อง 2 เดือน เอเชียใต้ 8.7% ต่อเนื่อง 7 เดือน สหภาพยุโรป 6.1% ต่อเนื่อง 11 เดือน ญี่ปุ่น 5.5% ต่อเนื่อง 2 เดือน และจีน 3.2% ต่อเนื่อง 7 เดือน

สำหรับตลาดยุโรปนั้น กระทรวงพาณิชย์เตรียมเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับสหภาพยุโรปให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ โดยจะเข้าพบกรรมาธิการยุโรปด้านการค้า นายมารอส เซฟโควิช รวมถึงพบปะกับ OECD เพื่อผลักดันให้การเจรจาสำเร็จเร็วที่สุด ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพการค้าของไทยในตลาดยุโรปได้อย่างมาก

รมว.พาณิชย์ เชื่อว่า การส่งออกยังคงเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ซึ่งจากตัวเลข 4 เดือนแรก การส่งออกยังขยายตัวได้ 14% ซึ่งหากจะเกิดกรณี 8 เดือนที่เหลือของปี 2568 การส่งออกจะไม่เติบโตเพิ่มเติมเลยก็ตาม แต่การส่งออกไทยทั้งปี ยังสามารถรักษาการเติบโตได้มากกว่า 4% ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ระดับ 2-3% ในปีนี้

"ถ้าเราสามารถเจรจากับสหรัฐฯ จบได้เร็ว ได้ tariff เท่า ๆ กับคนอื่น ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นเช่นนั้น เราก็จะสามารถขยายการส่งออกได้ ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่าการส่งออกเราขยายตัวไปทุกตลาด ไม่ใช่เฉพาะแค่สหรัฐฯ อย่างเดียว สหรัฐฯ มีสัดส่วนประมาณ 10% ของการส่งออกทั้งหมด ดังนั้นถ้าตลาดอื่นขยายตัวได้อยู่ ผลกระทบจากภาษีของสหรัฐฯ ก็จะน้อยลง แต่หากว่าเราโดนภาษี 10% การส่งออกไปสหรัฐฯ ก็กระทบไม่มาก เชื่อว่าจะยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง...ตอนนี้ ผ่านมา 4 เดือน โตถึง 14% ก็เป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่าเราสามารถใช้การส่งออกเป็นกลไกหลัก ในการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยได้" รมว.พาณิชย์ กล่าว

  • ย้ำเจรจาภาษีสหรัฐฯ คืบหน้า ทันช่วงเวลาผ่อนผัน 90 วัน

รมว.พาณิชย์ กล่าวด้วยว่า การเจรจากับสหรัฐฯ คืบหน้าไปมาก และคาดว่าจะสามารถสรุปผลได้ภายในระยะเวลาที่ได้รับการผ่อนผัน 90 วัน ทั้งนี้ จากที่มีโอกาสได้หารือกับ USTR พบว่า สหรัฐฯ มีความพอใจกับข้อเสนอของฝ่ายไทย ซึ่งเป็นผลจากการทำงานของกระทรวงพาณิชย์ที่ได้ประสานงานกับ USTR มาอย่างต่อเนื่อง และเตรียมแผนการเจรจาไว้พร้อมแล้ว

"จากที่ได้เจอและคุยกับ USTR แล้ว กระทรวงพาณิชย์ขอยืนยันว่ามีแผนงานมาตลอด ติดต่อกันอยู่ตลอด เขาค่อนข้าง happy กับข้อเสนอของไทย ซึ่งผมได้ฝากขอบคุณไปยัง รมว.คลังสหรัฐฯ ที่ออกมาให้ความเห็นว่าไทยทำข้อเสนอได้ดี ผมเป็นคนเซ็น paper นั้นเอง ว่าเราเสนออะไรไปบ้าง โดยหลักการ พอเข้าสู่โหมดการเจรจาแล้ว คงให้ข้อมูลอะไรไม่ได้ เป็น Closer Agreement จนกว่าจะเจรจาสำเร็จ ถึงจะบอกได้ว่าเป็นอย่างไร เป็นมารยาทตามข้อตกลงที่เรามีไว้" นายพิชัย ระบุ

อย่างไรก็ดี จากแนวโน้มการส่งออกที่เติบโตได้ดี เชื่อว่าจะมีส่วนช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ ขยายตัวได้ดีกว่า 2% และหากสามารถบรรลุการเจรจาภาษีกับสหรัฐฯ ได้เร็ว ก็เชื่อว่ายังมีโอกาสที่จะเห็นเศรษฐกิจไทยปีนี้ โตได้ถึง 3%


  • แจงเหตุผลการผลิตภาคอุตสาหกรรมโตต่ำ แต่ทำไมส่งออกสินค้าเติบโตสูง

ส่วนที่ฝ่ายค้านตั้งข้อสังเกตถึงภาคอุตสาหกรรม ที่ขยายตัวได้เพียง 0.6% เหมือนว่าแทบไม่มีการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมในประเทศเพิ่มขึ้นเลย แต่การส่งออกกลับขยายตัวได้สูงนั้น นายพิชัย ชี้แจงว่า การขยายตัวดังกล่าวเป็นในส่วนของอุตสาหกรรมเก่า ส่วนอุตสาหกรรมใหม่ที่มีการลงทุนไป 2.5 ล้านล้านบาทนั้น สินค้าที่ผลิตได้และเริ่มส่งออก ยังไม่ได้รวมอยู่ใน 0.6% ซึ่งประเทศไทยกำลังจะเปลี่ยนโครงสร้างการส่งออกให้เป็นสินค้าที่มีเทคโนโลยีมากขึ้น ดังนั้นการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ผ่านมา อาจยังไม่ได้สะท้อนการส่งออกสินค้าที่เป็นอุตสาหกรรมใหม่มากนัก

"เราอยากให้คนที่วิพากษ์วิจารณ์ได้ทำการบ้านนิดหนึ่ง ว่าประเทศไทยกำลังจะเปลี่ยนโครงสร้างการส่งออกให้เป็นสินค้าที่มีเทคโนโลยีมากขึ้น เช่น PCB ซึ่งยังไม่ได้อยู่ในโครงสร้างนี้ ดังนั้น จึงทำให้การผลิตเพื่อการส่งออกสินค้าในส่วนนี้ ยังไม่ได้สะท้อนตัวเลขของอุตสาหกรรมใหม่ที่ผลิตได้เพิ่มขึ้น ขอให้ข้อมูลไว้ อยากให้เข้าใจกัน" รมว.พาณิชย์ กล่าว

  • แนวโน้มส่งออก Q2/68 ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ยังคาดว่าแนวโน้มการส่งออกของไทยในไตรมาส 2 จะยังขยายตัวดีต่อเนื่องจากไตรมาสแรก แต่คงไม่สามารถตอบได้ชัดเจนว่าจะยังเป็น 2 digit หรือไม่ เพราะต้องขึ้นอยู่กับผลการเจรจาภาษีกับสหรัฐฯ เป็นสำคัญ ซึ่งหากในท้ายสุดแล้ว ไทยถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราที่เทียบเท่ากับประเทศคู่แข่ง ก็จะทำให้ได้รับผลกระทบไม่มากนัก

สำหรับแนวโน้มการส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ คาดว่าไทยจะยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ที่อาจถูกเรียกเก็บภายหลังพ้นจากช่วงเวลาที่ได้รับการยกเว้น 90 วัน ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ประชุมหารือกันอย่างต่อเนื่องในการเตรียมพร้อมแนวทางการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ และวางแผนออกมาตรการเยียวยาเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการ

ตลอดจนทำงานเชิงรุกผ่านการเจรจา FTA ในระดับต่าง ๆ อาทิ การพัฒนาสินค้าให้มีมูลค่าสูง เร่งรัดการเปิดตลาดใหม่ ควบคู่กับการใช้มาตรการเชิงรับ อาทิ การป้องกันการสวมสิทธิ์ส่งออก การป้องกันการลักลอบนำเข้า การบังคับใช้กฎระเบียบด้านคุณภาพและมาตรฐานสินค้า และการติดตามเฝ้าระวังการเบี่ยงเบนทางการค้า

ส่วนจะมีการทบทวนเป้าหมายการส่งออกของไทยในปีนี้จากที่กำหนดไว้ 2-3% หรือไม่นั้น คงต้องรอดูการส่งออกสินค้าในไตรมาส 2 ก่อน รวมทั้งต้องหารือกับภาคเอกชนด้วย



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ