คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบต่อร่างแผนงานด้านทรัพย์สินทางปัญญามีมติเห็นชอบต่อร่างแผนงานด้านทรัพย์สินทางปัญญา (Thailand intellectual Property Work Plan: IP Work Plan) ระหว่างกรมทรัพย์สินทางปัญญากับสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (United States Trade Representative: USTR)
น.ส.ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ได้จัดทำรายงานผลการจัดสถานการณ์คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาตามกฎหมายการค้าสหรัฐฯ
โดยแบ่งสถานการณ์คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศคู่ค้าออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
1) ประเทศที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญามากที่สุด (Priority Foreign Country: PFC)
2) ประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ (Priority Watch List: PWL)
3) ประเทศที่ต้องจับตามอง (Watch List: WL) ซึ่งประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในบัญชีประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษมาโดยตลอด
ในปี 2567 กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาร่วมกับสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ได้จัดทำร่างแผนงานฯ เพื่อระบุแนวทางการดำเนินงานที่จะนำไปสู่การถอดไทยออกจากบัญชีประเทศที่ต้องจับตามองและทุกบัญชี ซึ่งร่างแผนงานฯ มีสาระสำคัญ ดังนี้
1. ลิขสิทธิ์
(1) เผยแพร่ร่างกฎหมายลิขสิทธิ์และกฎระเบียบหรือมาตรการที่อยู่ระหว่างการพิจารณาในโอกาสที่เหมาะสม
(2) ในส่วนที่เกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์ทางออนไลน์ ให้มีการยกระดับการแก้ไขปรับปรุงระบบการชี้แจงหรือระบบแจ้งให้ทราบให้ชัดเจน และนำข้อมูลที่เกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์ออกจากระบบ หรือปิดกั้นการเข้าถึงเนื้อหาที่ละเมิดซึ่งอยู่บนเครือข่าย
(3) ให้สัตยาบันหรือภาคยานุวัติเพื่อเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาว่าด้วยลิขสิทธิ์ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก และสนธิสัญญาว่าด้วยการแสดงและสิ่งบันทึกเสียงขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก
(4) แก้ไขปรับปรุงกฎหมายเพื่อพัฒนาการป้องกันการหลบเลี่ยงมาตรการทางเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพให้เสร็จสิ้น
(5) ยกระดับหรือแก้ไขปรับปรุงกฎระเบียบ เพื่อกำจัดช่องว่างที่อาจมีตามข้อยกเว้นของการคุ้มครองข้อมูลบริหารสิทธิ
(6) แก้ไขปัญหาองค์กรจัดเก็บ
(7) แก้ไขปัญหาการใช้ซอฟต์แวร์ที่ไม่ได้รับอนุญาต
2. เครื่องหมายการค้า ปรับปรุงกระบวนการจดทะเบียน โดยแก้ไขปัญหางานจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าค้างสะสม และเพิ่มจำนวนผู้ตรวจสอบเครื่องหมายการค้า
3. สิทธิบัตรและเภสัชภัณฑ์
(1) แก้ไขปรับปรุงสิทธิบัตร เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้ให้ความเห็นต่อร่างกฎหมายสิทธิบัตร และกฎระเบียบ หรือมาตรการ รวมถึงให้การบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรในร่างกฎหมายสิทธิบัตรสอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศของไทย
(2) สร้างระบบที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการใช้ข้อมูลในเชิงพาณิชย์อย่างไม่เป็นธรรม
(3) แก้ไขปัญหาคุณภาพในการออกสิทธิบัตรและปัญหางานค้างสะสม
(4) แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการให้สัตยาบันหรือภาคยานุวัติกรรมสารเจนิวา ภายใต้ความตกลงกรุงเฮก ว่าด้วยการจดทะเบียนการออกแบบผลิตภัณฑ์ระหว่างประเทศ
4. การบังคับใช้สิทธิ
(1) ให้ข้อมูลสถิติและข้อมูลอื่นๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความคืบหน้าในการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา
(2) มีมาตรการบังคับใช้สิทธิทางแพ่งที่มีประสิทธิภาพ
(3) สืบสวนและดำเนินคดีทรัพย์สินทางปัญญาทั่วประเทศให้ประสบผลสำเร็จ
(4) แก้ไขปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์
(5) ดำเนินการในการแก้ไขปัญหาการผลิต การกระจายผลิตภัณฑ์ และการขายเภสัชภัณฑ์ปลอมในไทย