
ธนาคารโลก คาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 68 ชะลอลงมาอยู่ที่ 1.8% ส่วนปี 69 คาดว่าจะโตในอัตรา 1.7% ซึ่งสะท้อนผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าโลก ทำให้ภาคการส่งออกอ่อนแอ การบริโภคชะลอตัว ขณะที่ภาคท่องเที่ยวฟื้นตัวในระดับปานกลาง อย่างไรก็ตาม เวิลด์แบงก์มองว่าหากความเชื่อมั่นด้านการลงทุนปรับตัวดีขึ้นอาจจะช่วยกระตุ้น GDP ปี 68 โตเพิ่มเป็น 2.2% และปี 69 คาดว่าจะเติบโตได้ราว 1.8%
นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก ประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า แม้เศรษฐกิจโลก จะเผชิญกับแรงกดดันหลายด้าน แต่เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกขอปี 2568 ยังมีความแข็งแกร่ง ช่วยพยุงภาพรวมเศรษฐกิจไว้ชั่วคราว โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเร่งการส่งออกล่วงหน้า ท่ามกลางความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าระหว่างประเทศ
พร้อมมองว่า การรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาค การปรับการลงทุนของภาครัฐให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และการขยายความร่วมมือทางการค้าในเชิงลึก จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์จากพลวัตของตลาดที่กำลังเปลี่ยนแปลงได้
"จีดีพี 1.8% ปีนี้ถือว่าค่อนข้างต่ำ ซึ่งเป็นผลกระทบจากนโยบายการค้าโลกที่มีความไม่แน่นอน ได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกและการลงทุนของไทย ซึ่งการส่งออก และการบริโภค รวมถึงการลงทุนในประเทศไทยเริ่มชะลอตัวมาตั้งแต่ปีก่อน เพราะหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงถึง 87.4% สูงสุดในอาเซียน รวมถึงประชาชนมีภาระดอกเบี้ยจ่ายที่อยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับรายได้ ขณะที่ยอดสินเชื่อมีแนวโน้มหดตัวลงด้วย" นายเกียรติพงศ์ กล่าว
อย่างไรก็ดี จากประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ยังไม่ได้รวมปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมืองไว้ในสมมติฐานประมาณการเศรษฐกิจดังกล่าว ซึ่งการจะนำปัจจัยการเมืองเข้ามารวม ก็ต่อเมื่อเห็นว่าจะมีผลกระทบต่อการจัดทำงบประมาณรายจ่ายให้ล่าช้า แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันนโยบายการคลังสามารถดำเนินต่อได้ และเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ
"แต่หากมีความไม่แน่นอนทางการเมืองเหมือนเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา อาจจะกระทบกับการจัดทำงบประมาณรายจ่ายให้ล่าช้าออกไปจากปกติ ซึ่งจะมีผลต่อการจัดซื้อจัดจ้าง และการเบิกจ่ายงบประมาณด้วย โดยเฉพาะโครงการใหม่ ๆ ที่ยังไม่เริ่มกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง แต่ตอนนี้ เรายังไม่ได้ใส่ปัจจัยการเมืองไว้ใน base line เพราะเรามองว่า นโยบายการคลังยังสนับสนุนและประคับประคองเศรษฐกิจได้" นายเกียรติพงศ์ กล่าว
พร้อมมองว่า ความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าโลกนั้น ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ผ่าน 2 ช่องทางสำคัญ คือ 1. การส่งออก เพราะเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการส่งออกสูงถึง 60% ของ GDP โดยเฉพาะการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และจีน และ 2. การลงทุน โดยปัจจัยดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ทำให้เกิดการชะลอการลงทุน
นอกจากนี้ ยังมี Shock ซึ่งเป็นปัจจัยเฉพาะเจาะจงของเศรษฐกิจไทย คือ การชะลอตัวลงของภาคการท่องเที่ยว สะท้อนจากตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนที่หดตัวลง โดยนักท่องเที่ยวจีนหันไปท่องเที่ยวในประเทศอื่น ๆ มากขึ้น เพราะกังวลเรื่องความปลอดภัยในไทย ทำให้ธนาคารโลก ปรับคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้าไทยในปี 2568 อยู่ที่ 37 ล้านคน ส่วนปี 2569 คาดว่าจะกลับเข้าสู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนโควิด-19
นายเกียรติพงศ์ กล่าวอีกว่า ปัจจัยที่น่ากังวล คือ พื้นที่ของภาคการคลังไทยกำลังแคบลง แต่มองว่ายังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ สะท้อนจากสัดส่วนหนี้สาธารณะของไทยในปัจจุบันที่ 64% ต่อจีดีพี ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงการระบาดของโควิด-19 เนื่องจากจำเป็นต้องใช้เม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่หลังจากนั้น ยังมีแรงกดดันเรื่องรายจ่ายภาครัฐ รวมถึงไทยอยู่ในภาวะสังคมผู้สูงอายุ และก่อนหน้านั้นมีการดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ส่งผลให้แนวโน้มหนี้สาธารณะปรับตัวเพิ่มขึ้นเข้าใกล้เพดานที่ 70%
ส่วนเรื่องเสถียรภาพของไทย ถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยดุลบัญชีเดินสะพัด เกินดุล 7% ของจีดีพี แต่ยังมีความผันผวนจากเงินทุนไหลออก การนำเข้า และราคาน้ำมันที่สูง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ
"หนี้สาธารณะของไทยในปัจจุบัน ยังอยู่ในจุดที่บริหารจัดการได้ เพราะหนี้ต่างประเทศไม่สูง แต่ที่น่าเป็นห่วง คือ ระดับหนี้สาธารณะที่สูงมักจะนำไปสู่การชะลอตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งหากหนี้สูงกว่า 60% ของจีดีพี การเติบโตของเศรษฐกิจก็จะชะลอลง และกดดันให้อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อภาระการจ่ายหนี้ของรัฐบาลและประชาชน" นายเกียรติพงศ์ ระบุ
อย่างไรก็ดี แม้เศรษฐกิจโลกจะเผชิญกับแรงกดดันหลายด้าน แต่เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2568 ยังมีความแข็งแกร่ง ช่วยพยุงภาพรวมเศรษฐกิจไว้ชั่วคราว โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเร่งการส่งออกล่วงหน้าก่อนที่สหรัฐจะปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสินค้า ท่ามกลางความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าระหว่างประเทศ
นายเกียรติพงศ์ มองว่าเศรษฐกิจไทยยังมี 3 โอกาสสำคัญ คือ 1. นโยบายการคลัง ผ่านการเลือกลงทุนในโครงการที่ส่งเสริมการเติบโต 2. แนวโน้มการลงทุนในอุตสาหกรรมดิจิทัล เริ่มมีสัญญาณการลงทุนที่มากขึ้น และ 3. การเติบโตของเศรษฐกิจในระยะสั้นที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ขณะที่การเติบโตในระยะปานกลาง คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ถึง 2% ภายใต้เงื่อนไขหากไทยมีการลงทุนในอุตสาหกรรมดิจิทัล โครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาด้านการศึกษา และการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้ธุรกิจใหม่ ๆ เข้ามามีบทบาทมากขึ้น รวมถึงการเปิดตลาดใหม่ ๆ เช่น ตลาดเกษตร และตลาดภาคบริการ ซึ่งตรงนี้หากทำได้ก็อาจผลักดันให้แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะปานกลางขยายตัวได้ 3-4%
"การที่รัฐบาลได้ปรับการใช้จ่ายงบจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ต วงเงิน 1.57 แสนล้านบาท มาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและส่งเสริมภาคการท่องเที่ยว ที่วงเงิน 1.15 แสนล้านบาท คิดเป็น 0.8% ของจีดีพี เป็นทิศทางที่ดี เพราะการลงทุนโครงสร้างพื่นฐานและการส่งเสริมการลงทุนใหม่ ๆ จะช่วยส่งเสริมให้จีดีพีขยายตัวได้ ช่วยลดภาระหนี้ต่อจีดีพี" นายเกียรติพงศ์ กล่าว
ส่วนในด้านของนโยบายการเงินนั้น ก็ยังมองว่าเป็นนโยบายที่ช่วยประคับประคองเศรษฐกิจได้ ทั้งการปรับโครงสร้างหนี้ครัวเรือน ซึ่งเป็นมาตรการทางการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงการคลังดำเนินการอยู่ ถือเป็นทิศทางที่ถูกต้องในการช่วยลดภาระหนี้
"ในรายงาน เรามองว่าควรจะเป็นการใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งตอนนี้ก็อยู่ในระดับนั้น รวมถึงนโยบายการคลังด้วย" นายเกียรติพงศ์ กล่าว
ด้าน น.ส.เมลินดา กู้ด ผู้อำนวยการธนาคารโลก ประจำประเทศไทยและเมียนมา คาดว่า เศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย จะมีมูลค่าราว 6% ของจีดีพี และมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคอาเซียน อุตสาหกรรมบริการการเงิน การชำระเงินดิจิทัล ฟินเทค ซอฟต์แวร์ และวิศวกรรม ถือเป็นกลุ่มที่มีอัตราการจ้างงานเติบโตเร็วที่สุดในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
โดยประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์จากการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตบนมือถือ ที่ครอบคลุมเกือบทั่วประเทศ และโครงสร้างพื้ฐานสาธารณะด้านดิจิทัลที่นับว่าทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาค การใช้ดิจิทัลไอดี และระบบการชำระเงินดิจิทัลอย่างแพร่หลาย เช่น ThaID และ PromptPay ได้วางรากฐานที่แข็งแกร่งสำหรับการเข้าถึงบริการทางการเงิน และการขยายตัวของรัฐบาลดิจิทัลและอีคอมเมิร์ซ โดยอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 10% ต่อปี ตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19