
นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รมว.เกษตรและสหกรณ์ มอบนโยบายขับเคลื่อนงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยได้เน้นการสืบสาน รักษา และต่อยอด ควบคู่ไปกับการสานต่อนโยบายเดิม 9 นโยบายและเพิ่มเติมมาตรการเพื่อลดต้นทุน เพิ่มรายได้ และเสริมแกร่งเกษตรกรไทยให้สามารถแข่งขันได้ ภายใต้วิสัยทัศน์ Ignite Thailand ให้ไทยเป็นศูนย์กลางการเกษตรของโลก
1. เน้นการสร้างวิธีการทำงานสู่การปฏิบัติ
2. เร่งรัดการจัดที่ดินทำกินให้กับเกษตรกร
3. บริหารจัดการน้ำทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง และการเติมน้ำในเขื่อน
4. ยกระดับสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง
5. ยกระดับศักยภาพของเกษตรกร/สถาบันเกษตรกรให้เข้มแข็ง
6. จัดการทรัพยากรทางการเกษตร
7. รับมือกับภัยธรรมชาติ
8. สานต่อการทำสงครามสินค้าเกษตรเถื่อนอย่างต่อเนื่อง
9. อำนวยความสะดวกด้านการเกษตร
นายอรรถกร กล่าวย้ำว่า จะให้ความสำคัญสูงสุดกับ 3 นโยบายที่จะเดินหน้าอย่างเข้มข้น ได้แก่
- นโยบายที่ 4 การยกระดับสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง ซึ่งถือเป็นทางรอดของเกษตรกรไทยในยุคการแข่งขันสูง โดยมุ่งเน้นการผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และตรงกับความต้องการของตลาด พร้อมส่งเสริมการสร้าง แบรนด์สินค้าและเรื่องราว (Story) ของจังหวัดหรืออำเภอให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง รวมถึงการสนับสนุนอาชีพเสริมในช่วงหลังฤดูการผลิต เพื่อเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรอย่างยั่งยืน
- นโยบายที่ 5 การยกระดับศักยภาพของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรให้เข้มแข็ง โดยส่งเสริมให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรสามารถให้บริการทางการเกษตรแบบครบวงจร สนับสนุนการเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) เพื่อจัดหาเครื่องจักรกลการเกษตร และเป็นทางเลือกในการเพิ่มรายได้ พร้อมทั้งส่งเสริมการดำเนินธุรกิจสหกรณ์การเกษตร ให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุน และพัฒนาต่อยอดธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเน้นระบบการประเมินผลที่โปร่งใสและสร้างความเชื่อมั่นต่อสมาชิก
- นโยบายที่ 7 การรับมือกับภัยธรรมชาติ ซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยจะมีการวางแผนและดำเนินมาตรการเชิงรุกภายใต้กรอบเวลาที่ชัดเจน ครอบคลุมทั้งการป้องกัน การแก้ไข และการฟื้นฟูผลกระทบจากภัยแล้งและภัยพิบัติต่าง ๆ ตลอดจนการสร้างอาชีพใหม่ให้เกษตรกรสามารถยืนหยัดได้แม้เผชิญกับสถานการณ์ธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลง
ทั้งนี้ การเดินหน้ายกระดับสินค้าเกษตรและเสริมศักยภาพเกษตรกร เป็นกลไกหลักในการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร ขณะที่การรับมือกับภัยธรรมชาติเป็นภารกิจที่ต้องดำเนินการควบคู่กันไปอย่างจริงจัง ไม่เพียงแค่ช่วยเหลือและเยียวยาเท่านั้น แต่ยังต้องสร้างโอกาสใหม่ เช่น การส่งเสริมอาชีพเสริม เพื่อให้เกษตรกรไทยสามารถปรับตัวและอยู่รอดได้อย่างมั่นคงในทุกสถานการณ์
1. การลดต้นทุน เพิ่มรายได้
- การจัดหาพันธุ์ดี สนับสนุนพันธุ์พืช ประมง และปศุสัตว์คุณภาพได้มาตรฐานที่ ตลาดต้องการ ไม่เน้นความหลากหลาย แต่เน้นคุณภาพที่เกษตรกรสามารถผลิตและขายได้ในราคาที่ดี
- ส่งเสริมการแปรรูปสินค้าเกษตร กระทรวงเกษตรฯ จะกำกับดูแลในมิติของการแปรรูปขั้นต้น รวมถึงการบรรจุภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตร โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันขับเคลื่อน
- บริหารจัดการด้านการตลาดสินค้าเกษตร กระทรวงเกษตรฯ จะดูแลทั้งระบบตั้งแต่ข้อมูลการผลิต การส่งเสริมการผลิต การแปรรูป และการตลาด โดยส่งเสริมให้เกษตรกรหาตลาดได้ด้วยตนเอง สนับสนุนการสร้างแบรนด์ชุมชน และสร้างเรื่องราว (Story telling) ของสินค้าเกษตรในชุมชน องค์การตลาดเพื่อเกษตรกรจะต้องปรับตัวเป็นตลาดรองรับผลผลิต ช่วยเกษตรกรผลิตได้ ขายเป็น ลดการพึ่งพาจากพ่อค้าคนกลาง
2. เสริมแกร่งเกษตรกรให้สามารถแข่งขันได้
- ผลักดันเรื่องการสร้างโอกาสขยายระยะเวลาการชำระหนี้ของเกษตรกร และสร้างวินัยทางการเงินเพื่อบรรเทาภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้น ควบคู่ไปกับการสร้างโอกาสให้เกษตรกรมีเงินลงทุนทำการเกษตรในระยะต่อไป
- สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับเกษตรกร ใช้กลไกต่างๆ เช่น กองทุน ประสานกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และธนาคารพาณิชย์อื่นที่มีความพร้อม รวมถึงความร่วมมือของภาคเอกชน มาสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของเกษตรกรในรูปแบบ Soft Loan
- ปรับปรุงกฎหมายที่ล้าสมัยให้เป็นปัจจุบัน เพื่อลดขั้นตอนและกระบวนการที่เป็นอุปสรรค รวมถึงการสร้างมาตรฐานสินค้าเกษตรไทยให้เข้มแข็ง และป้องกันสินค้าเกษตรที่ทะลักเข้ามาในประเทศอย่างผิดกฎหมาย โดยให้ทุกหน่วยงานทบทวนและปรับปรุงกฎหมายกฎหมายที่ใช้อยู่ พร้อมทั้งกำหนดแนวทางแก้ไขพร้อม Timeline ที่ชัดเจนเพื่อผลักดันให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรม
"นโยบายทั้งหมดนี้ เป็นการสานต่อนโยบายเดิมของร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตรมว.เกษตรและสหกรณ์ เพื่อขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมายสูงสุด คือการทำให้เกษตรกรลดต้นทุน มีรายได้ และมีเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้น และการดำเนินงานนับจากนี้จะมีการติดตามผลความก้าวหน้าในทุกนโยบายอย่างต่อเนื่อง โดยต้องอาศัยความร่วมมืออย่างแข็งขันของทุกภาคส่วน และขอขอบคุณครอบครัวกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำหรับความร่วมมือในการขับเคลื่อนภารกิจสำคัญนี้" นายอรรถกร กล่าว
จากสถานการณ์ฝนที่มาเร็วกว่าปกติส่งผลให้เกิดฝนตกหนักบางพื้นที่ และมีความเสี่ยงต่ออุทกภัย ดังนั้นเพื่อให้การรองรับสถานการณ์ฤดูฝนปีนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงมอบหมายให้ปลัดกระทรวงฯ ติดตามการบริหารจัดการน้ำให้บูรณาการเชื่อมโยงกับหน่วยงานในสังกัดฯ และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เพื่อลดผลกระทบในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากให้มากที่สุด รวมทั้งวางแผนการจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์