เงินเฟ้อ มิ.ย.หดตัวต่อเนื่อง 3 เดือนจากราคาพลังงานเป็นหลัก ยันไม่เข้าภาวะเงินฝืด

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 7, 2025 10:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เดือน มิ.ย.68 อยู่ที่ 100.42 ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน -0.25% (YoY) จากตลาดคาด -0.1% สาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง และค่ากระแสไฟฟ้า ประกอบกับราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสดหลายชนิดราคาลดลงค่อนข้างมาก โดยเฉพาะไข่ไก่ ผักสด และผลไม้สด ขณะที่สินค้ากลุ่มอาหารที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ เนื้อสุกร และอาหารสำเร็จรูป

สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 6 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย.68) สูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.37%

ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) เดือน มิ.ย.68 อยู่ที่ 101.43 เพิ่มขึ้น 1.06% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ส่งผลให้เงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ย 6 เดือนแรกของปีนี้เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.97%

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการ สนค.ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ก.ค. ยังมีโอกาสติดลบต่อเนื่อง และในไตรมาส 3/68 ยังคาดว่าจะติดลบใกล้เคียงกับไตรมาส 2/68 ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ -0.35% แต่จะเริ่มเห็นพลิกกลับเป็นบวกได้ในช่วงไตรมาส 4/68แต่แม้ว่าเงินเฟ้อจะติดลบต่อเนื่องกัน 3 เดือน ยังยืนยันว่าไม่ใช่ภาวะเงินฝืด เพราะมาจากปัจจัยราคาพลังงานในปีนี้ที่ลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับปีก่อนเป็นสำคัญ

"การที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 มีปัจจัยสำคัญการลดลงอย่างมากของราคาพลังงานในปีนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมทั้งผลจากมาตรการของรัฐบาลในการลดค่าครองชีพให้แก่ประชาชนทั้งค่าไฟฟ้า และก๊าซหุงต้ม ซึ่งรายการสินค้าในหมวดพลังงาน มีสัดส่วนถึง 12.19% ของการคำนวณในตะกร้าเงินเฟ้อ"ผู้อำนวยการ สนค.กล่าว

ข้อมูลราคาพลังงานย้อนหลังของปี 67 เทียบกับปีนี้ จะพบว่าราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 เดือนเม.ย.67 อยู่ที่ลิตรละ 40.04 บาท เดือนพ.ค.67 อยู่ที่ลิตรละ 38.98 บาท และมิ.ย.67 อยูที่ลิตรละ 37.98 บาท แต่พอมาปีนี้ ราคาน้ำมันลดลงมาก โดยเดือนเม.ย.68 อยู่ที่ลิตรละ 33.18 บาท พ.ค.68 อยู่ที่ลิตรละ 32.79 บาท และมิ.ย.68 อยู่ที่ลิตรละ 32.95 บาท

ขณะที่ราคาน้ำมันดีเซล ลดลงจากลิตรละ 32.96 บาทในเดือนมิ.ย.67 มาอยู่ที่ลิตรละ 31.87 ในเดือนมิ.ย.68

นอกจากนี้ ราคาพืชผักสดในปีนี้ปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนด้วยเช่นกัน เช่น มะเขือเทศ พริกสด และกะหล่ำปลี เป็นต้น โดยสินค้าในหมวดผัก-ผลไม้สด มีสัดส่วน 4.5% ของการคำนวณในตะกร้าเงินเฟ้อ

"เหล่านี้ ทั้งราคาพลังงาน และราคาพืชผักสด เป็นปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อติดลบต่อเนื่องกัน 3 เดือน แต่ยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด" ผู้อำนวยการ สนค. ระบุ

นายพูนพงษ์ กล่าวถึง แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในไตรมาส 3/68 คาดว่าจะอยู่ระดับใกล้เคียงกับไตรมาส 2/68 ปัจจัยสนับสนุนให้เงินเฟ้อลดลง ได้แก่

1. ราคาน้ำมันดิบดูไบในตลาดโลกต่ำกว่าปีก่อน เนื่องจากสถานการณ์ในตะวันออกกลางผ่อนคลายลง หลังจากมีการทำข้อตกลงหยุดยิง ซึ่งช่วยลดความกังวลเกี่ยวกับการขยายตัวของความขัดแย้ง

2. ภาครัฐมีแนวโน้มดำเนินมาตรการช่วยเหลือลดภาระค่าครองชีพอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปรับลดค่า Ft งวดเดือนพ.ค. - ส.ค.68 ลง 17 สตางค์ ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้า ลดลงเหลือ 3.98 บาท/หน่วย

3. ฐานราคาผักสดในปีก่อนอยู่ระดับสูง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ ขณะที่ในปี 2568 สภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกมากขึ้น ทำให้ผลผลิตเข้าสู่ระบบมากขึ้น

4. การจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดของผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ

"เดือนก.ค. เงินเฟ้อก็ยังมีแนวโน้มจะติตลบต่อเนื่องคล้ายกับมิ.ย. และไตรมาส 3 ก็จะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับไตรมาส 2 ที่ติดลบ 0.35% โดยคาดว่าเงินเฟ้อจะกลับมาเป็นบวกได้ ในช่วงไตรมาส 4" นายพูนพงษ์ กล่าว

ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปทั้งปี 68 ระหว่าง 0.0-1.0% (ค่ากลาง 0.5%) ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ กระทรวงพาณิชย์จะมีการทบทวนตัวเลขดังกล่าวใหม่อีกครั้ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ