"กอบศักดิ์" เร่งรัฐแก้เกม"ทรัมป์" ขู่ภาษี 36% เสียเปรียบเวียดนาม-มาเลย์อย่างมีนัย,"กรณ์" แนะทบทวนงบปี 69

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 8, 2025 07:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในหลายประเทศที่ถูกสหรัฐส่งจดหมายแจ้งเมื่อคืนนี้ว่าจะเรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.นี้ โดยกำหนดอัตราสำหรับประเทศไทยที่ 36% เท่ากับรอบแรก เป็นคำเตือนว่าที่เสนอมา ยังไม่พอ ไม่โดนใจ ยังไม่ใช่ Good Deal ต้องทำการบ้านเพิ่มแล้วกลับมาต่อรองอีกรอบไม่เช่นนั้น "จบที่เดิม" ที่เคยประกาศไว้ที่ 2 เมษายน

ในรอบนี้ สหรัฐอาจจะไม่ถอย เพราะตลาดได้รับรู้ตัวเลขเหล่านี้ไปแล้วครั้งหนึ่ง ผู้ประกอบการสหรัฐมีเวลาปรับตัวมา 90 วัน ถ้าตลาดหุ้นสหรัฐลงไม่มากในช่วง 2-3 วันข้างหน้า ลงไม่ถล่มทลายเหมือนต้นเมษายน ก็ยากที่จะมีใครมาเปลี่ยนใจประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้

ทั้งนี้ สำหรับไทย ถ้าเวียดนาม 20% มาเลเซีย 25% เราจะอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบ 10-16% จะมีนัยสำคัญอย่างยิ่งกับผู้ส่งออก ทำไมจะต้องซื้อสินค้าจากไทย ถ้าซื้อจากคู่แข่งถูกกว่ายิ่งไปกว่านั้น มีนัยกับคนที่คิดจะมาลงทุนจะมาสร้างโรงงาน เพราะถ้าสร้างเสร็จแล้ว ต้นทุนภาษีแพงกว่าคู่แข่งส่งไปก็สู้ไม่ได้ไปสร้างที่เวียดนามเลยดีกว่าไหม

"เราคงต้องคิดเพิ่มว่าในช่วง 2-3 สัปดาห์ข้างหน้าประเทศไทยจะเสนออะไรกลับไปอีกรอบเพื่อให้พ้นจากจุดนี้ เพราะจากที่เวียดนามเจรจาลดลงมาได้ 46% เหลือ 20% แสดงว่าต้องมีหนทางเป็นกำลังใจให้กับทีมเจรจาครับ"นายกอบศักดิ์ ระบุ

ขณะที่นายกรณ์ จาติกวนิช อดีต รมว.คลัง ระบุว่า ไทยเจอภาษีตอบโต้สหรัฐเต็ม 36% นี่คือผลเจรจาที่เลวร้ายที่สุดที่เป็นไปได้ เพราะนอกจากไม่ได้ลดหย่อนจากที่สหรัฐประกาศไว้เมื่อ 90 วันก่อน และเป็นอัตราที่สูงกว่าเวียดนามที่เจรจาลดลงได้กว่าครึ่ง ซึ่งสหรัฐแจ้งมาว่าหากในอนาคตเราลดภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐลงเขาก็จะปรับภาษีที่คิดกับเราลงตาม

การเจรจากับทรัมป์เป็นเรื่องที่ยากมาก สหรัฐถือไพ่เหนือกว่าเราเป็นทุนเดิม และในขณะที่รัฐบาลเราหา win-win ขณะที่เขามองว่าเราเอาเปรียบมานานแล้วถึงเวลาที่เขาต้อง win คนเดียวบ้างเพื่อเป็นการชดเชย ซึ่งทีมเราอ่านเกมส์นี้ไม่ขาด

สาเหตุที่เวียดนามกล้าลดภาษีนำเข้าเหลือ 0% เป็นเพราะเขาแข่งขันได้ และพร้อมแข่งขัน มากกว่าเราในทุกภาคอุตสาหกรรม คำถามคือในการเจรจาที่ผ่านมาเรายังพยายามปกป้องใครอยู่บ้าง? คุ้มหรือไม่กับความเดือดร้อนของผู้ส่งออก และการสูญเสียรายได้ของประเทศ?

ที่สำคัญคือรัฐบาลได้เตรียมแผนรองรับสถานการณ์นี้อย่างไร?

อันดับแรกรัฐบาลควรทบทวนการพิจารณางบประมาณปี 69 ทั้งหมด ทั้งแหล่งรายได้ และทั้งการใช้จ่าย หากรัฐบาลยังทำทุกอย่างเหมือนเดิมคนไทยจะเดือดร้อนหนักมาก

อันดับที่สอง ควรระวังผลต่อดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศ หากเราเริ่มขาดดุลต่อเนื่อง ในขณะที่การลงทุนจากต่างประเทศก็ลดลง

ประเด็นเรื่องเสถียรภาพจะเริ่มมีความสำคัญ ในจังหวะนี้เราจะมีเลือกผู้ว่าแบงค์ชาติคนใหม่พอดี วิสัยทัศน์และทัศนคติของผู้ว่าคนใหม่จะมีผลต่อความเชื่อมั่นมาก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ