นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ได้หารือถึงกรณีที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ส่งจดหมายถึงรัฐบาลไทยยืนยันการจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยในอัตรา 36% เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.68 เป็นต้นไป ซึ่งนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ในฐานะของหัวหน้าทีมเจรจาของไทยได้ชี้แจงต่อ ครม.ถึงกลไกต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินการไปก่อนหน้านี้ พร้อมทั้งผลการเดินทางไปหารือกับทางสหรัฐฯ ซึ่งเห็นว่า สหรัฐฯ ตอบรับกับข้อเสนอของไทย แต่การเจรจาลักษณะนี้ไม่ได้จบเพียงครั้งเดียว เพราะสิ่งที่เกิดขึ้น ถ้าวิเคราะห์ง่าย ๆ ก็ถือเป็นการเลื่อนเวลาออกไปจนถึงเดือน ส.ค.68 เพื่อให้ทุกอย่างจบสิ้น
นายจุลพันธ์ เชื่อมั่นว่าตอนนี้ได้เข้าสู่ขั้นตอนกระบวนการการเจรจาแล้ว หลังจากได้มีการยื่นข้อเสนอใหม่ไปให้กับทางสหรัฐฯ ส่วนผลจะออกมาเป็นอย่างไรก็คงต้องรอดูผลอีกครั้ง
ส่วนการดำเนินมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าวนั้น ที่ผ่านมารัฐบาลได้กันวงเงินไว้สำหรับดูแลผู้ประกอบการส่วนหนึ่งคือ งบกระตุ้นเศรษฐกิจระยะแรก 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะช่วยผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงสร้างภาษีใหม่ และยังมีเงินจากงบกระตุ้นเศรษฐกิจที่เหลืออีก 4 หมื่นล้านบาทไว้รองรับกรณีหากเกิดปัญหา เพื่อนำมาแก้ปัญหาให้ตรงจุด ทั้งภาคเอกชนและประชาชน ส่วนการจะใช้หรือไม่ใช้อย่างไรก็ต้องรอดูผลของการพิจารณาภาษีเสร็จสิ้นก่อนว่าสุดท้ายแล้วไทยจะถูกเก็บภาษีเท่าใด
"สุดท้ายคงต้องหาโจทย์เหมือนที่รองนายกฯ แจ้งว่า การเจรจาภาษีต้องเป็น win-win ว่าเราจะต้องได้ในบางสิ่ง ถอยในบางสิ่ง คงไม่ได้เปิดให้เขาทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะจะกระทบกับผู้ประกอบการ เกษตรกรไทย ซึ่งจะต้องมีวิธีการและกลไกในการเจรจาต่อไป และให้ความเชื่อมั่นกับทีมไทยแลนด์ที่เจรจา" นายจุลพันธ์ กล่าวส่วนการใช้กลไกของงบประมาณปี 2569 มารองรับวิกฤตครั้งนี้ นายจุลพันธ์ มองว่า กลไกของงบประมาณมีความยืดหยุ่นอยู่แล้ว และคงต้องรอดูข้อสรุปสุดท้ายก่อนว่าเป็นอย่างไร