"อนุสรณ์" เสนอ "ไทยโมเดล" แก้เกมสหรัฐฯ ห่วงลดภาษี 0% กระทบในประเทศเป็นลูกโซ่

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday July 13, 2025 16:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ (DEIIT) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ประเทศไทยยังไม่เผชิญสถานการณ์เลวร้ายที่สุด (Worst Case Scenario) จากกำแพงภาษีทรัมป์ เกมเจรจาต่อรองทางการค้ายังไม่จบ ได้มีการเลื่อนเส้นตายไปวันที่ 1 ส.ค.68 รัฐบาลทรัมป์ใช้กลยุทธ์บีบให้ "ไทย" มีข้อเสนอที่สหรัฐอเมริกาได้ประโยชน์ และต้องการให้ "ไทย" เปิดเสรีเปิดตลาดสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ มากยิ่งขึ้น ต้องการให้ยกเลิกมาตรการกีดกันการค้าทั้งหลายที่ไม่ใช่ภาษี รวมทั้งระบบโควต้าเพื่อปกป้องผู้ผลิตภายใน โดยเฉพาะสินค้าเกษตร

"เราไม่ควรเปิดตลาดสินค้าทุกประเภทด้วยอัตราภาษี 0% แบบเวียดนาม เพื่อแลกกับการลดภาษีตอบโต้ทางการค้า" นายอนุสรณ์ ระบุ

ยุทธศาสตร์การเจรจาของไทย จึงไม่ใช่ยอมเปิดตลาดสินค้าทุกประเภทให้สหรัฐฯ เพื่อแลกกับการลดภาษี ต้องดูผลกระทบทั้งระยะสั้น และระยะยาวต่อระบบเศรษฐกิจ และกลุ่มผลประโยชน์ทุกกลุ่ม ควรใช้วิธียอมเปิดตลาดสินค้าเฉพาะบางประเภทที่เราพอแข่งขันกับสินค้านำเข้าได้ หรือเป็นสินค้าไม่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ส่วนสินค้าประเภทที่ยังแข่งขันไม่ได้ ต้องมีมาตรการช่วยเหลือและระบบสนับสนุนให้สามารถแข่งขันได้ดีขึ้น ผลิตภาพสูงขึ้น แล้วจึงค่อยเปิดตลาด

"การเปิดตลาดสินค้าเกษตรให้สหรัฐฯ โดยเฉพาะสินค้าที่มีความอ่อนไหวสูง ต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง และมีกลยุทธ์ ลดผลกระทบเกษตรกรรายย่อยปลูกข้าวโพด และเลี้ยงปศุสัตว์ที่มีต้นทุนการผลิตสูง รัฐต้องหาวิธีลดต้นทุนให้กับผู้ผลิตเ พื่อให้แข่งขันได้จากสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ" นายอนุสรณ์ ระบุ

นายอนุสรณ์ ได้เสนอ "ไทยโมเดล" แก้เกมสงครามภาษี ด้วยการเปิดตลาดเพิ่มในสินค้าที่แข่งขันได้แลกลดภาษี ทีมเจรจาของไทยต้องพยายามลดภาษีจากระดับ 36% ให้ได้ภายในวันที่ 1 ส.ค. ซึ่งเป็นเส้นตายหากเจออัตราภาษีที่สูงกว่าหลายประเทศในเอเชียมาก ผลกระทบของอัตราภาษีนำเข้าจะทำให้ภาคส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังต่อเนื่องไปถึงปีหน้า หดตัวลึกในสินค้าหลายรายการ นอกจากนี้ อาจส่งผลกระทบการลงทุนของต่างชาติ และอาจทำให้เกิดการย้ายฐานไปยังประเทศอื่นที่มีอัตราภาษีต่ำกว่า

การเปิดเสรีเพิ่มเติมให้กับสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ เพื่อแลกกับการลดภาษีตอบโต้ทางการค้า เป็นสิ่งที่ต้องมองในเชิงยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจระยะยาวด้วย และจะทำอย่างไรให้ "สินค้าไทย" แข่งขันได้ในระยะยาวเมื่อมีการเปิดเสรีเต็มที่ด้วยอัตราภาษี 0% เมื่อเสนอเงื่อนไขนี้ให้สหรัฐฯ แล้ว ก็ควรปฏิบัติเช่นเดียวกันต่อประเทศอื่น ๆ ซึ่งจะนำมาสู่ประโยชน์ของผู้บริโภค โดยผู้ผลิตภายในสามารถปรับตัวหากดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอน และมีระบบสนับสนุนในการเพิ่มผลิตภาพ ลดต้นทุน แปรรูปเพิ่มมูลค่าด้วยนวัตกรรม สร้างความเข้มแข็งทางด้านแบรนด์และการตลาด

ขณะที่บทวิเคราะห์ของ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ (DEIIT) ยังได้ประเมินอีกว่า หากไทยเจอกับอัตราภาษี 36% กลุ่มสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มส่งออกลดลงอย่างมาก หรือขยายตัวติดลบในตลาดสหรัฐ ได้แก่

- มะพร้าวแห้งและน้ำมันมะพร้าว ที่แข่งขันด้านราคากับฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ซึ่งมี FTA กับสหรัฐฯ และได้ GSP

- สับปะรดกระป๋องและน้ำสับปะรด เป็น commodity ที่ราคาถูก ต้นทุนสูงขึ้นทันทีเมื่อเจอภาษีมากกว่า 20% ทำให้ไม่สามารถแข่งกับฟิลิปปินส์ได้

- ข้าวหอมมะลิ แม้มีแบรนด์ แต่หากโดนภาษีนำเข้า 36% จะทำให้ผู้ซื้อหันไปยังเวียดนาม หรืออินเดีย

- อาหารทะเลแปรรูปราคากลาง เช่น ปลาทูน่ากระป๋องเกรดทั่วไป หากโดนภาษีสูง จะเสียเปรียบต่อเอกวาดอร์/ฟิลิปปินส์

- ผลไม้ผสม (ราคาต่ำ) ไม่ใช่ตลาด niche และผู้บริโภคอเมริกันมีทางเลือกในประเทศ หรือนำเข้าจากเม็กซิโก และบราซิล

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า โดยหลักการแล้ว การเปิดเสรีก็จะเพิ่มการแข่งขัน ลดอำนาจผูกขาดของผู้ผลิตภายในได้ กดดันให้ผู้ผลิตต้องปรับตัวเพิ่มผลิตภาพ การเปิดเสรีเพิ่มขึ้นจะโอนย้ายผลประโยชน์จากผู้ผลิตมายังผู้บริโภคมากขึ้น ระยะยาวจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม หากเป็นการเปิดเสรีที่เป็นธรรม

ทั้งนี้ การเปิดเสรีอาจสร้างความไม่สมดุลของเศรษฐกิจภายในประเทศได้ หากภาคการผลิตภายใน และภาคแรงงานไม่สามารถปรับตัวได้ดีพอ หรืออาจกระทบความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หากภาคผลิตในบางอุตสาหกรรมไม่สามารถแข่งขันได้เลย และล่มสลายไปทั้งหมด ทำให้ไม่เหลือผู้ผลิตภายในอยู่ ต้องอาศัยการนำเข้าอย่างเดียว เช่นนี้ ก็ไม่เป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจในระยะยาวเช่นเดียวกัน

"การเปิดตลาดเพิ่มเติมเพื่อแลกกับการลดภาษีของสหรัฐฯ จึงต้องมีมาตรการมุ่งเป้า เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อเอสเอ็มอี และแรงงานด้วย" นายอนุสรณ์ กล่าว

พร้อมคาดการณ์ว่า ในช่วงครึ่งปีหลังต่อเนื่องจนถึงปีหน้า หากประเทศเจอกำแพงภาษีในอัตราที่สูงกว่าประเทศคู่แข่งมาก ๆ อาจทำให้มี SME ปิดกิจการเพิ่มขึ้น พร้อมกับแรงงานที่อาจถูกปลดออกจากงาน การลดกำลังการผลิตจากการชะลอตัวของภาคส่งออก และการขยายตัวติดลบของอุตสาหกรรม หรือภาคการบริการที่ต้องพึ่งพิงตลาดสหรัฐฯ เป็นหลัก จะส่งผลให้มีสูญเสียตำแหน่งงาน ภาคส่งออกและห่วงโซ่อุปทานการผลิตที่เกี่ยวข้องมีบทบาทสำคัญต่อการจ้างงาน แรงงานที่ถูกลดชั่วโมงการทำงานและว่างงาน จะส่งผลต่อภาคการบริโภคให้ชะลอตัวลงแรง ทำให้กิจการหรือธุรกิจภายในอย่างเช่น ภาคการค้าภายในประเทศ ภาคอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจเช่าซื้อ ได้รับผลกระทบไปด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ