
นายพรชัย จิรกุลไพศาล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-อิหร่าน ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะกลุ่มน้ำมันดีเซล ซึ่งเชื่อมโยงโดยตรงกับภาคขนส่งและค่าครองชีพของประชาชน
กองทุนน้ำมันฯ ได้เข้าไปบริหารจัดการผ่านกลไกอัตราเงินกองทุนน้ำมันฯ ในการรักษาเสถียรภาพระดับราคาขายปลีกในประเทศ ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนมากจนเกินไป โดย กบน. ได้มีมติเร่งด่วน จำนวน 5 ครั้งภายในเวลากว่าหนึ่งสัปดาห์เพื่อลดผลกระทบ โดยเริ่มจากลดอัตราเงินจัดเก็บของกลุ่มน้ำมันดีเซลจากเดิมจัดเก็บอยู่ที่ 2.40 บาทต่อลิตร เป็นการต้องชดเชยอยู่ที่ 0.65 บาทต่อ เพื่อคงราคาขายปลีกไม่ให้เกิน 32 บาทต่อลิตร ทำให้สามารถตรึงราคาหน้าปั๊มน้ำมันไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยลดภาระค่าครองชีพให้ประชาชนในช่วงเวลาสำคัญ
แม้การรักษาเสถียรภาพ และตรึงราคาน้ำมันในช่วง 12 วันที่ผ่านมา จะส่งผลให้สภาพคล่องของกองทุนน้ำมันฯประเภทน้ำมันดีเซลติดลบ คือมีรายจ่ายสูงสุดประมาณวันละ 40.75 ล้านบาทต่อวัน แต่เมื่อสถานการณ์สงครามอิสราเอล-อิหร่าน เริ่มคลี่คลายจากการไกล่เกลี่ยของสหรัฐฯ ราคาน้ำมันโลกก็เริ่มกลับสู่ภาวะปกติ ทำให้กองทุนน้ำมันฯ กลับมาจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ได้อีกครั้ง
ปัจจุบันกลุ่มน้ำมันดีเซลมีรายรับประมาณวันละ 57.41 ล้านบาท และกลุ่มน้ำมันเบนซิน มีรายรับประมาณวันละ 96.17 ล้านบาท (รายละเอียดอยู่ในตาราง) ขณะที่ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 13 กรกฎาคม 2568 กองทุนน้ำมันฯ ติดลบอยู่ที่ 31,588 ล้านบาท แบ่งเป็น บัญชีน้ำมันบวกอยู่ที่ 12,406 ล้านบาท และบัญชี LPG ติดลบอยู่ที่ 43,994 ล้านบาท
ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-อิหร่าน กับกรณีสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน จะพบความแตกต่างในเชิงผลกระทบ และความยืดเยื้ออย่างชัดเจน ซึ่งกลายเป็นบทเรียนสำคัญที่ช่วยเพิ่มวิธีการบริหาร และความรอบคอบในการกำหนดมาตรการบริหารกองทุนน้ำมันฯ ในปัจจุบัน และอนาคต
ปัจจุบันกระทรวงพลังงานยังคงเฝ้าติดตามสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะสถานการณ์ในทะเลแดง และภูมิภาคอื่น ๆ ที่อาจส่งผลกระทบด้านราคาพลังงาน กระทรวงพลังงานโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจขึ้นมาดูแล ได้แก่ คณะกรรมการเตรียมการจัดหาน้ำมันเชื้อเพลิง และก๊าซธรรมชาติ (LNG) ซึ่งมีนายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เป็นประธาน และมีตน ร่วมเป็นกรรมการในชุดนี้ โดยคณะกรรมการดังกล่าวจะทำหน้าที่เตรียมการจัดหาน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพื่อรองรับสถานการณ์พลังงานจากวิกฤตในตะวันออกกลาง และปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ อย่างรอบด้าน
"บทเรียนจากวิกฤตน้ำมันช่วงที่ผ่านมา สะท้อนถึงความจำเป็นของกลไกกองทุนน้ำมันฯ ที่มีความยืดหยุ่น ทันต่อสถานการณ์ และมุ่งมั่นดูแลประชาชนทุกระดับอย่างเท่าเทียม สะท้อนการทำหน้าที่และบทบาทของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการรักษาเสถียรภาพด้านราคาพลังงานให้กับประชาชนในช่วงวิกฤตการณ์ด้านราคาพลังงานเสมอมา ด้วยหลักการเปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้ และยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นศูนย์กลาง ภายใต้กรอบของพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 พร้อมขอขอบคุณผู้ค้าน้ำมันที่ให้ความร่วมมือในการสนับสนุนภารกิจสำคัญในช่วงเวลาดังกล่าว" นายพรชัย กล่าว