BOI ชี้สงครามการค้าไม่จบเกมง่าย แนะสร้าง Supply Chain สหรัฐ พุ่งเป้าดึง 5 กลุ่มลงทุน มั่นใจไทยแข่งขันได้

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 14, 2025 15:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เสวนาในหัวข้อ "The Art of The (Re) Deal" ระบุว่า ในวันที่ 1 ส.ค.อาจไม่ใช่วันพิพากษา เกมนี้ทั้ง Tech War Trade War เป็นเกมยาว ซึ่งการบริหารประเทศภายใต้นโยบายของประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์นี้ การเจรจาต่อรอง การปรับอัตราภาษี และการออกมาตรการต่าง ๆ สามารถเกิดได้ตลอดเวลา

ซึ่งภายใต้สถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูงนี้ โจทย์สำคัญของไทย คือ ทำอย่างไรที่จะสามารถรักษาสมดุลความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับขั้วอำนาจต่าง ๆ ไว้ได้ ไม่เฉพาะสหรัฐ และจีนเท่านั้น แต่ยังมีประเทศอื่น ๆ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย สหภาพยุโรป ตะวันออกกลาง เป็นต้น ซึ่งภาครัฐจำเป็นต้องมีนโยบายและมาตรการที่ทั้งยืดหยุ่น คล่องตัวปรับไปตามสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ ขณะที่ภาคเอกชน ทำอย่างไรจะค้นหาจุดแข็งที่เป็นจุดแข่งขันได้ หรือ sector ใดที่แม้จะได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐแล้วก็ยังไม่สามารถแข่งขันได้ อาจจะเป็นต้อง Transform ไปสู่ธุรกิจใหม่หรือไม่

เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า ผลกระทบจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ที่จะมีผลต่อการลงทุนของไทยนั้น มีอย่างน้อย 4 เรื่องหลักที่ต้องพิจารณา คือ

1. มาตรการภาษีตอบโต้ (Reciprocal tariffs) ซึ่งมีผลต่อการค้าขาย และการตัดสินใจลงทุน ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลจะเจรจาต่อรองให้ไทยได้รับอัตราภาษีที่ดีกว่า 36%

2.อัตราภาษีที่สหรัฐฯ จะเก็บจากสินค้าที่สวมสิทธิในการส่งออกไปสหรัฐฯ ซึ่งยังมีความไม่ชัดเจนเรื่องการกำหนดคำนิยามของคำว่า Local Content

3.อัตราภาษีรายสินค้า ตามมาตรา 232 ซึ่งเป็นสินค้าที่เกี่ยวกับความมั่นคง ภายใต้กฎหมาย Trade Expansion Act โดยที่ประกาศอัตราภาษีออกมาแล้ว ได้แก่ สินค้าเหล็ก อลูมิเนียม ทองแดง รถยนต์ และชิ้นส่วนประกอบ ขณะที่เซมิคอนดักเตอร์ และอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับยกเว้นภาษี 0% นั้น แต่ยังไม่แน่ว่าในอนาคตจะมีการปรับเปลี่ยนอีกหรือไม่

4.การที่สหรัฐฯ จำกัดการส่งออกชิป AI มายังไทย ซึ่งต้องตามต่อว่าสุดท้ายแล้วจะมีผลกระทบต่อการลงทุนใน Data Center และการพัฒนาขีดความสามารถด้าน AI ของไทยมากน้อยเพียงใด

"นอกจากนี้ ยังมีเพิ่มเติมอีกเรื่อง ซึ่งแม้จะไม่ใช่มาตรการภาษีของสหรัฐ แต่มีผลต่อการลงทุนในประเทศ นั่นคือ กรณีที่กระทรวงการคลังประกาศ Global Minimum Tax ที่จะมีการเก็บภาษีส่วนเพิ่มในอัตราขั้นต่ำที่ 15% ซึ่งทางบีโอไอได้หารือกับกระทรวงการคลังแล้ว จะได้เร่งแก้กฎหมายเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มเครื่องมือใหม่ที่จะใช้บรรเทาผลกระทบนี้ เพราะ Global Minimum Tax เป็นตัวที่ทำให้ต้นทุนการเงินของบริษัทเพิ่มขึ้น" นายนฤตม์ กล่าว

อย่างไรก็ดี มองว่า มาตรการภาษีของสหรัฐฯ ไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่มีผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุน ซึ่งการจะตัดสินใจลงทุนในประเทศใดก็ตามย่อมประกอบไปด้วยหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น 1.โครงสร้างพื้นฐาน เช่น ไฟฟ้า ประปา นิคมอุตสาหกรรม ท่าเรือ สนามบิน ซึ่งไทยมีความได้เปรียบในส่วนนี้ 2.Supply Chain ในกลุ่มยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งไทยก็มีความได้เปรียบเช่นกัน 3.บุคลากร ทั้งแรงงานฝีมือ วิศวกร ช่างเทคนิค ไทยสู้ได้ เพราะมีมาตรการให้ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามาทำงานในไทยได้ 4.สิทธิประโยชน์ และมาตรการจากภาครัฐ ซึ่งเมื่อเทียบกันในภูมิภาคแล้วไทยถือว่าสู้ได้ 5. การเข้าถึงตลาด (Market Access) ไทยมีประชากรเกือบ 70 ล้านคน มีการทำ FTA กับประเทศต่าง ๆ 17 ฉบับ ซึ่งการเข้าถึงตลาดถือว่าไทยสามารถแข่งขันได้

"ถ้าการเจรจากับสหรัฐฯ ออกมาแล้ว สรุปได้ว่า Reciprocal tariffs อยู่ในอัตราใกล้เคียงกับประเทศอื่นในภูมิภาค ก็คิดว่าปัจจัย 4-5 ข้อ ที่เป็นจุดแข็งของไทย จะยังพอให้ไทยเป็นประเทศที่เป็นแหล่งดึงดูดสำหรับการลงทุนที่โดดเด่นในภูมิภาคได้" เลขาธิการบีโอไอ กล่าว

นายนฤตม์ ยังกล่าวถึงการลงทุนของสหรัฐฯ ในไทยว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา การลงทุนของสหรัฐฯ ในไทยมีทั้งหมด 135 โครงการ เม็ดเงินลงทุนรวมประมาณ 1.5 แสนล้านบาท แต่หากรวมบริษัทสหรัฐฯ ที่ลงทุนผ่านสิงคโปร์ด้วยแล้ว จะคิดเป็นมูลค่ารวมมากกว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ดิจิทัล ยานยนต์ และกลุ่มอาหาร ทั้งอาหารคน และอาหารสัตว์

ทั้งนี้ ไทยตั้งเป้าหมายจะดึงการลงทุนจากสหรัฐฯ ในกลุ่มสินค้า Tech Base เป็นอันดับแรก โดยพุ่งเป้าไปที่ 5 sector สำคัญ ได้แก่ 1.เซมิคอนดักส์เตอร์ 2.ดิจิทัล และ AI 3.ยานยนต์ 4.Bio-Based และ Bio Technology และ 5.การเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ เช่น การเชิญชวนสหรัฐฯ มาตั้ง Head Quarter รวมทั้งการตั้งศูนย์กระจายสินค้าในภูมิภาค เป็นต้น

เลขาธิการบีโอไอ มองว่า ทิศทางจากนี้ ไทยต้องผูก Supply chain กับสหรัฐฯ ให้มากขึ้นทั้งการลงทุนของสหรัฐฯ ในไทย และการลงทุนของไทยในสหรัฐฯ โดยเป้าหมายสำคัญคือ ทำอย่างไรเราถึงจะเป็นพันธมิตรใน supply chain ของสหรัฐฯ ในอุตสาหกรรมที่สำคัญ เช่น เซมิคอนดักส์เตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และดิจิทัล โดยทำอย่างไรให้สหรัฐฯ มองไทยเป็นฐานในการขยายตลาดเพื่อเข้าสู่อาเซียน เพราะไทยถือว่ามีความพร้อมกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค ซึ่งจะช่วยผูก Supply chain ให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น

นอกจากนี้ จะต้องมีการส่งเสริมการลงทุนไทยในสหรัฐฯ ซึ่งที่ผ่านมา บีโอไอได้นำนักลงทุนไทยไปศึกษาลู่ทางการลงทุน และตั้งเป้าเพิ่มเม็ดเงินลงทุนในสหรัฐฯ มากขึ้น ทั้งนี้ บีโอไอยังได้ส่งเสริม SME ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ปรับเปลี่ยนเครื่องจักรให้ทันสมัย ใช้ดิจิทัล ทรานฟอร์มสู่อุตสาหกรรมใหม่ ส่งเสริมการใช้ local content ในกลุ่ม EV และเครื่องใช้ไฟฟ้า, ลดความเสี่ยงเรื่องการสวมสิทธิ์สินค้าส่งออกไปสหรัฐ, จัดระเบียบการลงทุนในกิจการบางสาขา เช่น ยกเลิกส่งเสริมลงทุนในกลุ่มสินค้าที่ Over supply รวมทั้งจำกัดพื้นที่ลงทุนในกิจการที่มีความเสี่ยงกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

"กำลังเตรียมมาตรการเพิ่มเติม เพื่อมาเสริมกับมาตรการใหญ่ 5 เรื่องนี้ เราจะดูในมิติการลงทุนว่าจะช่วย support ใน sector ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ อย่างไรได้บ้าง" เลขาธิการบีโอไอ ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ