นายวิวรรธน์ เหมมณฑารพ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวในงานสัมมนา "ถอดสัญญาณเศรษฐกิจโลก พลิกอนาคตเศรษฐกิจไทย" ในหัวข้อ "ปลดล็อกอุตสาหกรรมไทย ฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจชะลอตัวครึ่งปีแรก และการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมไทยในครึ่งปีหลัง" โดยได้อัปเดตสถานการณ์เศรษฐกิจไทย ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมาว่า มีทั้งมิติเชิงบวก และลบ ดังนี้
- ในมิติเชิงบวก คือเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/68 GDP ขยายตัวที่ 3.1%YoY มีปัจจัยหลักมาจากปริมาณการส่งออกขยายตัวสูง, ยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนไตรมาส 1/68 มี 822 โครงการ เพิ่มขึ้น 20%YoY มูลค่าเงินลงทุนรวม 431,237 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 97%YoY, จำนวนโรงงานปิดกิจการ 5 เดือน 601 โรง ลดลง 27.24%YoY, การส่งออกไทย ม.ค.-พ.ค. 68 มีมูลค่า 138,202 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 14.9%YoY, อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพ.ค. 68 ลดลง 0.57%YoY จากราคาอาหารสดและพลังงานที่ปรับลดลง และการจ้างงาน เดือนพ.ค. 68 มีผู้ประกันตน ม.33 จำนวน 12.12 ล้านคน เพิ่มขึ้น 177,242 คน คิดเป็นเพิ่มขึ้น 1.48%YoY
- ในมิติเชิงลบ ได้แก่ GDP สาขาการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมไตรมาส 1/68 ขยายตัวเพียง 0.6% โดยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (MPI) ยังคงชะลอตัว, ยอดผลิตรถยนต์ ม.ค-พ.ค. 68 ยังลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ยอดขายลดลง 2.98% ส่งออกลดลง 13.65%, จำนวนโรงงานเปิดกิจการ 5 เดือน 285 โรง ลดลง 49.74%YoY, นักท่องเที่ยวต่างชาติสะสม (1 ม.ค.-22 มิ.ย. 68) จำนวน 16.04 ล้านคน หดตัว 4.24%YOY, หนี้สินครัวเรือน ณ ไตรมาส 1/68 จำนวน 16.35 ล้านล้านบาท คิดเป็น 87.4% ต่อ GDP และยอด NPL ณ ไตรมาส 1/68 อยู่ที่ 1.19 ล้านล้านบาท และต้นทุนการผลิตทรงตัว แต่ยังสูงกว่าคู่แข่ง เช่น ค่าไฟฟ้า 3.98 บาท/หน่วย ราคาน้ำมันดีเซล 31.94 บาท/ลิตร
- สารพัดปัจจัยกดดันศก.ไทย H2/68 แนะ 4 Go สู่การยกระดับภาคอุตสาหกรรม
ส่วนสถานการณ์ในช่วงที่เหลือของปี 68 มีหลายปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ 1. มาตรการทางภาษีของสหรัฐฯ และสงครามการค้า ซึ่งไทยยังอยู่ระหว่างการเจรจาให้ได้อัตราภาษีน้อยกว่าที่ระดับ 36% 2. ปัญหาสินค้าทุ่มตลาด และการสวมสิทธิส่งออก ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิต 3. ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะสงครามอิสราเอล-อิหร่าน 4. ข้อพิพาทพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา โดยมองว่าควรเปิดการค้าชายแดนตามปกติ และจัดการสิ่งผิดกฏหมายให้หมดไป เช่น แก๊งคอลเซนเตอร์ เป็นต้น
5. ภาระหนี้ครัวเรือนและหนี้ธุรกิจ เป็นประเด็นที่น่ากังวล เนื่องจากล่าสุดหนี้ครัวเรือนไทยทะลุไปถึง 80% โดยความกังวลคือในอดีตหนี้ครัวเรือนสูง แต่ยังมีรายได้ในอนาคต แต่ปัจจุบันมีแต่ความไม่แน่นอน 6. ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยไทยมีความเสี่ยงสูงเป็นอันดับที่ 30 ของโลก 7. แนวโน้มนักท่องเที่ยวต่างชาติมีจำนวนลดลง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน และ 8. ความไม่แน่นอนทางการเมือง
สำหรับแนวทางการปรับตัวของอุตสาหกรรมไทย คือ First Industries ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ด้วย 4 Go ได้แก่
- Go Digital & AI การยกระดับอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยี และ AI
- Go Innovation การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ มาขับเคลื่อนอุตสาหกรรม
- Go Global การพัฒนาสินค้าและบริการไทย เพื่อขยายโอกาสสู่ตลาดโลก
- Go Green การขับเคลื่อนองค์กรสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน และการปรับตัวสู่เป้าหมาย Net Zero
ส่วนทิศทางของประเทศไทยหลังจากนี้ คือ Next-Gen Industries สร้างเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ด้วย S-curve Industries, BCG เปลี่ยนความกดดันทางสิ่งแวดล้อมเป็นโอกาสทางธุรกิจ และ Climate Change
ทั้งนี้ มีข้อเสนอต่อภาครัฐ เพื่อปลดล็อกศักยภาพการผลิตของอุตสาหกรรม ดังนี้
1. Next-Gen Industry ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม ยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรม
2. Regulatory Reform ปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ เพื่อลดอุปสรรคทางการค้า และธุรกิจ
3. Law Enforcement เข้มงวดบังคับใช้กฏหมาย ตรวจสอบสินค้าจากต่างประเทศที่เข้ามาสวมสิทธิ
4. Local Content Promotion ส่งเสริมการใช้ Local Content และสินค้า Made in Thailand
5. FTA เร่งเจรจาข้อตกลงการค้า และปรับยุทธศาสตร์ กระจายตลาดส่งออก
6. BCG Model การส่งเสริม และพัฒนาตามแนวคิด BCG
"ในภาพรวมในระยะข้างหน้า GDP ส่วนใหญ่มีสัดส่วนการพึ่งพาภาคบริการเป็นหลัก ดังนั้น ไทยจำเป็นต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยคำนึงถึงภาพรวมสภาพเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลง และมุ่งเน้นผลิตสินค้าที่มีนวัตกรรมขั้นสูง วันนี้ ความสามารถในการแข่งขันของไทยปรับตัวดีขึ้นเรื่อย ๆ แต่ยังไม่สะท้อนกลับไปที่ GDP แสดงว่ากลไกการทำงานของไทยยังมีปัญหาอยู่ ต้องรีบแก้ไข" นายวิวรรธน์ กล่าว- ส่งออกไทยครึ่งปีหลังดิ่งแน่ เร่งหาตลาดใหม่ทดแทนสหรัฐฯ
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย สัมมนาในหัวข้อ "ถอดรหัสสัญญาณเศรษฐกิจโลก ผลกระทบและมุมมองการคว้าโอกาสของไทยในครึ่งปีหลัง" ว่า เศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งหลังของปี 68 ยังคงเผชิญความไม่แน่นอนสูง จากการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ รวมถึงความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจรุนแรงเพิ่มขึ้น
โดยประเมินว่า การส่งออกไทยในครึ่งหลังของปีจะหดตัว ส่วนมูลค่าการส่งออกของไทยช่วง 5 เดือนแรกขยายตัว 14.9%YOY เนื่องมาจากการเร่งนำเข้าก่อนหมดช่วงผ่อนปรนของมาตรการภาษีของสหรัฐฯ แต่ระยะข้างหน้ามีสัญญาณว่าจะแผ่วลง และมีความเป็นไปได้ที่มูลค่าการส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปี จะหดตัวกว่า 10%YOY
ทั้งนี้ ทางออกในช่วงที่ไทยอาจส่งออกได้ลดลง หรือไม่สามารถส่งออกไปได้ในบางประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า "ตลาดอื่นหรือตลาดใหม่" เป็นโอกาสในวิกฤต ซึ่งตลาดใหม่ คือประเทศที่ไทยยังไม่เคยส่งออกไปโดยตรง หรือเป็นประเทศที่ไทยยังไม่มีข้อตกลงทางการค้าระหว่างกัน ดังนั้น ต้องเร่งเจรจาหาตลาดทำ FTA
สำหรับประเด็นเรื่องการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ นายวิศิษฐ์ กล่าวว่า ตอนนี้หอการค้าไทย ได้ขอให้สมาคมการค้าต่าง ๆ ไปดูสินค้าของตนเองว่า มีสัดส่วนที่ใช้วัตถุดิบในประเทศมากน้อยเท่าไร เกินกว่า 50-60% หรือไม่ เพราะมีโอกาสสูงที่ไทยจะใช้วิธีเจรจาที่คล้ายเวียดนาม คือมี 2 อัตรา ทั้งอัตราภาษีนำเข้า และอัตราภาษีสินค้าที่มีการส่งต่อจากประเทศอื่น ซึ่งมองว่ามีโอกาสที่ไทยจะเป็นกรณีนี้ เพราะไทยเป็นประเทศหนึ่งที่สหรัฐฯ มองว่าเป็นที่ส่งผ่านของสินค้าจากจีน
สำหรับแนวทางผลักดันเศรษฐกิจไทย สิ่งที่ภาครัฐและเอกชนต้องเร่งปรับตัวในสถานการณ์นี้ คือ การส่งเสริมนวัตกรรมและดิจิทัล ดังนี้
- Digital Economy (เศรษฐกิจดิจิทัล) เช่น e-commerce, e-business รวมไปถึงการใช้ big data
- AI (ปัญญาประดิษฐ์) เช่น การติดตามวัตถุดิบตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง, การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อป้องกันของปลอม หรือการตรวจสอบมาตรฐานคุณภาพสินค้า
- Block chain for Traceability (บล็อกเชนเพื่อการตรวจสอบย้อนกลับ) การนำบล็อกเชนมาใช้กับการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ช่วยให้ทุกขั้นตอนในซัพพลายเชน เช่น การผลิต การขนส่ง การจัดจำหน่าย สามารถตรวจสอบและยืนยันความถูกต้องได้แบบเรียลไทม์ ไปร่งใส และไม่สามารถแก้ไขย้อนหลังได้
นอกจากนี้ ต้องสนับสนุนธุรกิจสีเขียว (Green Industry) ทั้งเรื่องคาร์บอนเครดิต และ ESG Reporting รวมถึงการส่งเสริมให้ใช้ Solar Rooftop และการผลักดัน Bio-Circular-Green (BCG Economy)
"หลังจากนี้ ไม่ว่าไทยจะเจอสถานการณ์ใด ทั้งมาตรการภาษี เรื่องข้อบังคับต่าง ๆ ของโลก จะต้องปรับตัวให้ทันทั้งภาครัฐ และเอกชน และที่สำคัญ ความร่วมมือของทุกฝ่ายที่ต้องร่วมมือกันอย่างเต็มที่ เพื่อฝ่าฟันอุปสรรคทั้งหมดที่เรามี" นายวิศิษฐ์ กล่าว- คาดต่างชาติเที่ยวไทยปีนี้ 35 ล้านคน มาเลย์แซงจีนขึ้นอันดับ 1
นายนิธี สีแพร รองผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวในหัวข้อ "ถอดสัญญาณท่องเที่ยวครึ่งปีแรก พลิกเกมด้วยกลยุทธ์กระตุ้นตลาดท่องเที่ยวครึ่งปีหลัง" ว่า สำหรับสถานการณ์ท่องเที่ยวไทย และตลาดต่างประเทศ ปี 68 ประเมินว่า มีแนวโน้มที่จะติดลบ 5% จากปีก่อน แต่ฟื้นตัว 86% เทียบกับปี 62 โดยภาพลักษณ์ที่ส่งผลต่อ Sentiment ของนักท่องเที่ยว หลัก ๆ คือเรื่องภาพลักษณ์เชิงลบด้านความปลอดภัย และภาพลักษณ์แหล่งท่องเที่ยวที่เก่าแก่ และล้าสมัย
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเรื่องความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก, การส่งเสริมการท่องเที่ยวของคู่แข่งในเอเชีย, พฤติกรรมการเดินทางที่เปลี่ยนไป, ภัยธรรมชาติ อุบัติเหตุที่เกิดซ้ำและรุนแรง และปัญหาความข้ดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งสงครามการค้าระหว่างประเทศ การสู้รบอิสราเอล-อิหร่าน และผลกระทบปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา
นายนิธี กล่าวว่า ล่าสุด มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยแล้ว 17 ล้านคน และคาดการณ์ว่า ปี 68 นี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยประมาณ 35 ล้านคน โดยได้มีการประเมินจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 68 ซึ่งคาดว่าจะเป็นปีแรกที่นักท่องเที่ยวจีนจะเสียแชมป์อันดับ 1 ไป และมาเลเซียขึ้นมาแทน โดยประเมินว่า อันดับ 1 คือ ประเทศมาเลเซีย 4,816,000 คน, อันดับ 2 จีน 4,208,000 คน, อันดับ 3 อินเดีย 2,415,600 คน, อันดับ 4 รัสเซีย 1,965,000 คน และอันดับ 5 เกาหลี 1,608,000 คน
"ปีนี้ไม่แน่ใจว่าจะถึงเป้าที่วางไว้หรือไม่ แต่ถึงแม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะต่ำกว่าเป้า แต่นักท่องเที่ยวระยะไกลมาเพิ่ม 10-20% จากปีก่อน ซึ่งกลุ่มนี้มีการใช้จ่ายต่อหัวสูง ทำให้รายได้ปีนี้น่าจะสูงกว่าปีที่ผ่านมา และเป็นการสะท้อนว่า ไทยกำลังก้าวเข้าสู่ประเทศที่เน้นคุณภาพมากขึ้น" นายนิธี กล่าว- ชี้ 4 สถานการณ์เหนี่ยวรั้งการเติบโตภาคท่องเที่ยว
สำหรับปัญหา อุปสรรค และปัจจัยภายนอกของภาคท่องเที่ยว ถ้าเรามองตลาดท่องเที่ยวไทยในครึ่งปีแรก เหมือนการแข่งขันวิ่งมาราธอน เราวิ่งได้เร็ว แต่มี 4 อย่างที่เหนี่ยวรั้งไว้ คือ
1. เศรษฐกิจโลกผันผวน เงินเฟ้อสูง ดอกเบี้ยแพง ค่าเงินไม่เอื้อ ทำให้นักท่องเที่ยวต้องรัดเข็มขัดเดินทางลดลง
2. เที่ยวบินยังไม่ฟื้นเต็มที่ ทำให้ราคาตั๋วแพง เส้นทางไม่ครอบคลุม ประเทศไทยยังมีเที่ยวบินน้อยกว่าช่วงก่อนโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบกับ "ตลาดจีน-อินเดีย" อย่างชัดเจน
3. คนพร้อมเที่ยว แต่ไม่พร้อมจ่าย กำลังซื้อยังไม่กลับมาเต็มที่ทั้งคนไทยและต่างชาติ เลยเน้นเดินทางแบบประหยัด โดยนักท่องเที่ยวเลือกทริปสั้นใช้จ่ายน้อย และคนไทยเจอค่าครองชีพสูง เดินทางลดลง
4. คู่แข่งดุ Soft Power เด่น ทั้งประเทศญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนาม เดินเกมแรง ทั้งโปรโมชันตั๋วเครื่องบิน การยกเว้นวีซ่า และสร้างคอนเทนต์ดึงดูด ทำให้นักท่องเที่ยวหันไปประเทศอื่นแทน
อย่างไรก็ดี ประเทศไทยได้มีกลยุทธ์สร้างความเชื่อมั่น ด้วยการจัดแคมเปญต่าง ๆ และกระตุ้นการท่องเที่ยวในช่วงครึ่งปีหลังสำหรับต่างประเทศ โดยใช้การขยายตลาด และรักษาฐานนักท่องเที่ยวคุณภาพ ได้แก่ 1. ขยายฐานตลาดใหม่ เจาะกลุ่มศักยภาพสูงในภูมิภาคใหม่ เช่น ตะวันออกกลาง เอเชียกลาง ลาตินอเมริกา 2. รักษาการเติบโตต่อเนื่องของกลุ่ม Quality Leisure (Short Haul / Long Haul) และ 3. จุดขายเฉพาะกลุ่ม เช่น Wellness, Luxury, Long Stay หรือ Muslim Friendly เป็นต้น
- แนะ 5 ทางรอดที่ธุรกิจท่องเที่ยวต้องปรับตัว
นายนิธี กล่าวว่า อีกหนึ่งกลยุทธ์ คือ "ท่องเที่ยวไทยในยุค Next Normal: พลิกเกมด้วยการปรับตัว" เนื่องจากธุรกิจท่องเที่ยวในยุคใหม่ต้องเผชิญทั้งโอกาส และความเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว จากเทคโนโลยี พฤติกรรมนักท่องเที่ยว และวิกฤตต่าง ๆ ดังนั้น การปรับตัวจึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อความอยู่รอด และเติบโตอย่างยั่งยืน โดย 5 แนวทางหลักที่ธุรกิจท่องเที่ยวควรเร่งปรับตัว มีดังนี้
1. เน้นคุณค่า มากกว่าปริมาณ จากยุค "นักท่องเที่ยวจำนวนมาก" สู่ "นักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ" ธุรกิจควรเน้นสร้างประสบการณ์ที่ลึกซึ้ง มีคุณภาพ และตรงกับความต้องการเฉพาะกลุ่ม เช่น Wellness, Luxury, Eco-tourism
2. ใช้เทคโนโลยีสร้างประสบการณ์ไร้รอยต่อ (Seamless Experience) เช่น ระบบจองอัตโนมัติ, แชทบอทตอบลูกค้า, AR/VR สำหรับนำเสนอปลายทาง ธุรกิจที่เชื่อมต่อผู้ใช้ได้สะดวกและเร็ว คือ ผู้ชนะในยุคดิจิทัล
3. ออกแบบบริการให้ยืดหยุ่น และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง เช่น เงื่อนไขการเลื่อน/ยกเลิกการจอง, แพ็กเกจที่ปรับได้ตามความต้องการ เพื่อรับมือกับความไม่แน่นอน เช่น โรคระบาด ภัยธรรมชาติ หรือเหตุการณ์ฉุกเฉิน
4. เดินหน้าสู่ความยั่งยืน (Sustainable Tourism) นักท่องเที่ยวรุ่นใหม่สนใจสิ่งแวดล้อม และความรับผิดชอบต่อสังคม ควรลดขยะ, ใช้พลังงานสะอาด, สนับสนุนชุมชนท้องถิ่น เพื่อสร้างภาพลักษณ์เชิงบวก
5. สร้างแบรนด์จากเรื่องเล่าและอัตลักษณ์ท้องถิ่น (Storytelling & Soft Power) นักท่องเที่ยวยุคใหม่ไม่ต้องการแค่เที่ยว แต่ต้องการเรื่องราวด้วย ดังนั้นควรนำวัฒนธรรม อาหาร ประเพณี ภูมิปัญญาไทย มาสื่อสารอย่างมีเสน่ห์ เพื่อดึงดูดใจตลาดโลก