
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นประธานในเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อแนะนำโครงการศึกษา ทบทวน และวิเคราะห์ความเหมาะสม ของการจัดทำเอกสารประกวดราคา ตลอดจนแนวทางการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุน ระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย ภายใต้ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน
การสัมมนาครั้งนี้ ถือเป็นกลไกสำคัญในการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อพัฒนาโครงการให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนและภาคธุรกิจ ตลอดจนขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศให้ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยความโปร่งใส คำนึงถึงประโยชน์ของประชาชน ตลอดจนมีแนวทางในการร่วมมือกับภาคเอกชน ให้เข้ามามีส่วนร่วมในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) โดยให้เอกชนร่วมดำเนินงานในส่วนของการติดตั้งงานระบบการบริหารจัดการเดินรถ และการบำรุงรักษารฟท.จึงจัดจ้างที่ปรึกษา วงเงิน 22 ล้านบาท ระยะเวลาศึกษา วันที่ 9 พ.ค. 68- วันที่ 8 ม.ค. 69
โดยจะมีการสัมมนา 2 ครั้ง ในเดือนก.ค. และก.ย. 68 และจัดรับฟังความคิดเห็นภาคเอกชน (Market Sounding) และการทดสอบความสนใจนักลงทุน ในเดือนต.ค. 68 จากนั้นจะสรุปรูปแบบ PPP ในเดือนธ.ค. 68 เพื่อเสนอกระทรวงวคมนาคมไม่เกินเดือนม.ค. 69 จากนั้นเสนอ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และคณะกรรมการ PPP และคาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาภายในไตรมาส 1 ปี 2569 โดยคาดเปิดคัดเลือกเอกชน ปี 69-70 ติดตั้งระบบปี 70 เปิดเดินรถ ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ปี 72 และเปิดตลอดสาย กรุงเทพมหานคร-หนองคาย ปี 74
โครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย แบ่งออกเป็น 2 ระยะ โดยระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 250.77 กม. อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ภาพรวม ณ วันที่ 25 มิ.ย. 2568 มีความคืบหน้า 45.65% มีความล่าช้า เนื่องจากปัญหาเวนคืน และการปรับแบบก่อสร้าง แบ่งออกเป็นงานโยธา 14 สัญญา และงานระบบ 1 สัญญา ขณะนี้มี 2 สัญญาที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ ได้แก่ ช่วงกลางดง-ปางอโศก และช่วงสีคิ้ว-กุดจิก อีก 10 สัญญากำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง
ส่วนอีก 2 สัญญาอยู่ในขั้นตอนการเตรียมลงนาม โดยสัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.21 กม. มีโครงสร้างร่วมกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งอยู่ระหว่างรอข้อสรุป การแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนฯ โดยอัยการสูงสุดอยู่ระหว่างตรวจร่างสัญญาคาดจะแล้วเสร็จในเดือนก.ค.นี้และทาง EEC เสนอครม.เห็นชอบต่อไป จะเริ่มก่อสร้าง
ส่วนสัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.30 กม. มีประเด็นมรดกโลก ซึ่งรฟท.ปรับรูปแบบก่อสร้างสถานีให้โปร่งและลดระดับหลังคาไม่ให้บดบังทัศนียภาพอยุธยา ซึ่งมีผลทำให้ค่าก่อสร้างลดลงประมาณ 100 ล้านบาทขณะเดียวกันทางกรมศิลปากร จะเข้ามาร่วมในการประเมิน ช่วงขุดเจาะที่อาจจะพบโบราณวัตถุเพื่อบริหารจัดการ ซึ่งคาดมีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ประมาณ 50 ล้านบาท ทั้งนี้วงเงินรวมยังอยู่ในกรอบสัญญาโครงการนี้ โดยผู้รับเหมา กำลังตรวจสอบสัญญา และค่าใช้จ่ายให้ครบถ้วนก่อนลงนามสัญญา คาดใช้เวลาอีกประมาณ 1 เดือน
สำหรับงานระบบได้ลงนามสัญญาเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการจัดทำแบบรายละเอียด (Detailed Design) คาดว่าจะก่อสร้างระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมาแล้วเสร็จภายในปี 72
โครงการระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 357.12 กม. ได้ดำเนินการออกแบบแล้วเสร็จ และผ่านการพิจารณาเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) จากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแล้ว และคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติโครงการแล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดเตรียมเอกสารประกวดราคา โดยเอกชนจะดำเนินการติดตั้งงานระบบ กรอบวงเงินประมาณ 80,000 ล้านบาท จัดหาขบวนรถเพิ่ม 14 ขบวน (ระยะที่ 1 มีการจัดหาแล้ว 4 ขบวน) ดำเนินการซ่อมบำรุง (O&M) ระยะเวลา 30 ปี
สำหรับจำนวนผู้โดยสารประมาณการปีแรกเปิดให้บริการเฟสแรก ที่ 7,230 คน/วัน และปีที่ 3 เมื่อเปิดตลอดสายที่ 24,300 คน/วัน และปีที่ 30 จำนวน 58,110 คน/วัน
ส่วนอัตราค่าโดยสารจะมีการทบทวนใหม่ โดยมีอัตราค่าโดยสารอ้างอิง ได้แก่ กรอบเดิมที่รฟท.ศึกษาเมื่อปี 2566 ค่าแรกเข้า 80 บาท คิดตามระยะทาง 1.80 บาทต่อกม. ,เกณฑ์ตามขนส่งทวลชนทางราง ปี 2567 ค่าแรกเข้า 95 บาทคิดตามระยะทาง 1-300 กม. ที่ 1.97 บาทต่อกม. กรณีระยะทาง 300 กม.ขึ้นไป คิดที่ 1.70 บาทต่อกม.
เมื่อโครงการรถไฟความเร็วสูงตลอดเส้นทางจากกรุงเทพมหานคร ถึงหนองคายก่อสร้างแล้วเสร็จ จะสามารถลดระยะเวลาเดินทางจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ถึงสถานีหนองคายเหลือเพียงประมาณ 3 ชั่วโมง 30 นาที ซึ่งเป็นอีกก้าวสำคัญในการยกระดับระบบคมนาคมของประเทศไทยสู่มาตรฐานสากล และเสริมสร้างบทบาทของไทยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้