ผู้ว่าฯ ธปท.รอภาษีทรัมป์ชัด ก่อนประเมินผลศก.ไทย แนะขยายสัดส่วนค้ำประกัน เพิ่มโอกาส SME เข้าถึงสินเชื่อ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 16, 2025 18:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผู้ว่าฯ ธปท.รอภาษีทรัมป์ชัด ก่อนประเมินผลศก.ไทย แนะขยายสัดส่วนค้ำประกัน เพิ่มโอกาส SME เข้าถึงสินเชื่อ

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ขณะนี้อาจยังเร็วเกินไปที่จะประเมินผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจไทย จากมาตรการภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ (Reciprocal Tariff) เนื่องจากขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการเจรจาของทีมไทยแลนด์ ซึ่งแม้บางประเทศจะเริ่มเห็นความชัดเจนออกมาแล้ว แต่ในส่วนของไทยนั้น ต้องรอดูว่าสุดท้ายแล้วผลการเจรจาจะออกมาอย่างไร ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงความสำคัญของการเร่งเจรจาให้จบ เพื่อทำให้ทุกอย่างเกิดความชัดเจน

ทั้งนี้ สำหรับการรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ นั้น จำเป็นต้องทำงานร่วมกันทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคธุรกิจ รวมถึงภาคการเงินที่จะต้องหันหาเข้าหากัน โดย ธปท.ได้มีการประชุมร่วมกัน ทั้งกระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) และคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เพื่อร่วมกันวางมาตรการการรองรับผลกระทบ ซึ่งนอกจากมาตรการเยียวยาแล้ว แต่ยังมีเรื่องของระยะยาวในการปรับตัว และยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้วย

"สิ่งสุดท้ายที่สำคัญ แต่มักถูกละเลย คือการปรับตัว เพราะจะเน้นแค่ในเรื่องระยะสั้น ดังนั้นจึงควรใช้โอกาสนี้ในการปรับตัว ไม่ใช้เน้นตัวเลขการส่งออก หรือการลงทุน" ผู้ว่าการ ธปท. ระบุ

สำหรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากมาตรการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ นั้น มาจากหลายช่องทาง คือ 1.กลุ่มที่ส่งออกไปสหรัฐฯ โดยตรง และกลุ่มที่เราเป็นห่วงมาโดยตลอด คือ กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากสินค้าต่างประเทศที่ทะลักเข้ามาในไทย จากที่ไม่สามารถส่งออกไปสหรัฐฯ ได้ เช่น กลุ่มเสื้อผ้า, เฟอร์นิเจอร์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการ SME และมีความเปราะบางสูงเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ส่งออกไปสหรัฐฯ เป็นหลัก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทข้ามชาติ

  • แนะขยายสัดส่วนค้ำประกัน เพิ่มโอกาส SME เข้าถึงสินเชื่อ

ส่วนการเข้าไม่ถึงสินเชื่อของกลุ่มธุรกิจ SME นั้น นายเศรษฐพุฒิ ยืนยันว่า ไม่ได้เป็นเพราะ ธปท. มีหลักเกณฑ์ที่คุมเข้มเรื่องการปล่อยสินเชื่อ แต่ยอมรับว่าธุรกิจที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้นั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเรื่องความเสี่ยงสูง ทำให้สถาบันการเงินไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ ดังนั้นจะต้องแก้ไขที่ต้นเหตุ คือ ความเสี่ยง โดยเป็นเรื่องของกลไกการค้ำประกันสินเชื่อ ซึ่งไม่ได้เป็นเกณฑ์ของธปท. ทั้งกลไกผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) หรือกลไกด้านอื่น ๆ ที่จะช่วยลดความเสี่ยง

"อันหนึ่งที่จะต้องทบทวน คือ สัดส่วนการค้ำประกันว่าจะต้องเพิ่มขึ้นหรือไม่ จากเดิม set ไว้อยู่ที่ 40% อาจจะต้องเพิ่มขึ้นหรือเปล่า ในยามที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น แต่อยากบอกว่าปัญหาเหล่านี้ ต้นตอไม่เฉพาะแค่ฝั่งการเงิน แต่จะเป็นเรื่องของขีดความสามารถในการแข่งขันด้วย เพราะถ้าธุรกิจแข่งขันไม่ได้ จะให้สินเชื่อแก้ปัญหาคงไม่ได้ แต่หากธุรกิจมีการปรับตัว มีศักยภาพ เชื่อว่าแบงก์ก็ต้องการทำกำไร ก็น่าจะปล่อยสินเชื่อ" นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

ผู้ว่าฯ ธปท. ยังกล่าวถึงกรณีมีข้อเรียกร้องให้ ธปท. ปรับลดดอกเบี้ย และดูแลเรื่องค่าเงินว่า เป็นเรื่องปกติที่ ธปท. จะต้องเตรียมมาตรการเพื่อรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ การที่ ธปท. ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจนั้น ได้มีการพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ แล้ว เช่นเดียวกับเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่ได้เคยมีการชี้แจงอย่างต่อเนื่อง และในระยะต่อไป จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในเดือน ส.ค. ก็จะมีการพิจารณาข้อมูลต่าง ๆ ประกอบด้วย

"อยากย้ำว่า การตัดสินใจใช้นโยบาย หรือมาตรการต่าง ๆ นั้น ไม่ใช่เฉพาะแค่เรื่องอัตราดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีมาตรการการเงินอื่น ๆ ที่ต้องพิจารณาด้วย" นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ