"วิทัย" ชี้ถึงเวลาปรับโครงสร้างพลิกฟื้นเศรษฐกิจ เร่งแก้ปมหนี้ครัวเรือน

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday July 20, 2025 08:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน หนึ่งในแคนดิเดทผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบุนอยู่ในภาวะที่ไม่ดี และมีโอกาสที่จะชะลอตัวซึมยาว เนื่องจากเครื่องยนต์หลักสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 2 ตัว คือ การส่งออกและการท่องเที่ยวกำลังมีปัญหา ซึ่งประเทศไทยไม่เคยเกิดสถานการณ์ทางเศรษฐกิจเช่นนี้มาก่อน ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจ ท่ามกลางสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นตลอดเวลา และมีปัญหาเรื่องมาตรการภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ มาเพิ่มเติม ซึ่งคิดว่าหากยังไม่เปลี่ยนวิธีในการบริหารจัดการ จากเดิมที่ต่างคนต่างทำ ไม่บูรณาการความร่วมมือกัน จะทำให้โอกาสที่เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวและเติบโตได้มีความยากมากขึ้น เพราะเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่เป็นองค์ประกอบทางเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งปัญหาหนี้ครัวเรือน ปัญหาขีดความสามารถในการแข่งขัน ปัญหาสังคมสูงอายุ ปัญหาเสถียรภาพทางการเมือง

โดยแนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนซึ่งเป็นปัญหาใหญ่นั้น ถึงแม้จะมีหนทางแก้ไขไม่กี่วิธี แต่มีความตรงไปตรงมาไม่ซับซ้อน เรื่องแรกคือเศรษฐกิจต้องดีขึ้น เพราะเศรษฐกิจดีขึ้นรายได้ก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย GDP โตก็คือรายได้โต รายได้เพิ่มขึ้นก็มีเงินชำระหนี้มากขึ้น พอรายได้เพิ่มขึ้นก็ทำให้ตัวหารหนี้ต่อ GDP ลดลง

"เวลาเราพูดถึง GDP เป็น Real term ตัดเงินเฟ้อออก ถ้าคิด Nominal term สมมติกลับไปอยู่ที่ 4.5% เงินเฟ้อกลับไปอยู่ที่ค่ากลาง 1-3% หรือที่ 2% แล้ว GDP โต 2.5% พอเราหารกันหนี้ครัวเรือนจะลงเร็วมาก ใช้เวลา 2-3 ปีต่ำกว่า 80% แน่นอน เพราะยอดหนี้ถูกชำระมากขึ้น อาจจะมีส่วนหนึ่งกู้เพิ่มก็เป็นไปได้ แต่โดยรวมแล้วหนี้ครัวเรือนจะลง" นายวิทัย กล่าว

สิ่งสำคัญคือ ความยากจนของ SME ที่เป็นฐานรากของระบบเศรษฐกิจ ซึ่งต้องทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจึงจะช่วยบรรเทาปัญหาหนี้ครัวเรือนของปัจเจกบุคคลได้ด้วย ไม่ใช่ในภาพรวมอย่างเดียว

เรื่องที่ 2 คือ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง เขาจ่ายเงินผ่อนเท่าเดิม ถ้าดอกเบี้ยลงก็ไปตัดเงินต้นได้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้หนี้ครัวเรือนลดลงในท้ายที่สุด และเรื่องที่ 3 คือการออกมาตรการพิเศษต่าง ๆ

"หนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของไทย เราต้องช่วยกันทำ ทำแล้วจะบรรเทา ไม่มีโครงการไหนที่กดปุ่มออกมาตรการแล้วสามารถแก้ปัญหาได้ทันที เพราะถ้ามีก็คงโม้ ต้องช่วยกันออกมาตรการ แล้วจะเหมือนจิ๊กซอว์คนนี้ทำ คนนี้บรรเทา จะช่วยบรรเทาปัญหาได้ ถึงแม้ว่าปัญหาจะไม่หมดไปแต่จะอยู่ในระดับที่สามารถรับได้ สภาพความเป็นอยู่ดีขึ้นเศรษฐกิจก็จะดีขึ้น แต่ต้องใช้ความพยายาม และอย่าหลอกตัวเองว่าแก้ปัญหาจบแล้ว ต้องออกโครงการต่อเนื่อง และต้องเป็นโครงการที่อย่าห่างไกลความเป็นจริง ภาพสวยแต่ยอดไม่มา PR ได้แต่อิมแพคไม่มี อันนี้ไม่ได้" นายวิทัย กล่าว

สำหรับเรื่องการก่อหนี้นั้น ตนมองว่าการมีหนี้ไม่ใช่เรื่องผิด แต่เราต้องรู้ว่าจะมีหนี้เรื่องอะไร หนี้แต่ละตัวดอกเบี้ยต้นทุนไม่เหมือนกัน หนี้บ้านคือสิ่งที่ดอกเบี้ยต่ำสุด ถูกที่สุด ดอกเบี้ยอยู่ที่ 2-3% และสร้างความมั่นคงให้เราในระยะยาว ดังนั้นถ้าจะเริ่มมีหนี้ มีหนี้บ้านก่อนได้ ส่วนหนี้ตัวอื่นที่ดอกเบี้ยแพง เช่น บัตรเครดิตที่ดอกเบี้ย 16% ส่วนตัวไม่แนะนำให้มีหนี้บัตรเครดิตถ้าไม่จำเป็น เพราะทั้งแพงและเสียวินัยทางการเงินที่จะจ่ายขั้นต่ำ 8-10% ไปตลอด และสุดท้ายจะยืดเยื้อและจบยากมาก

ทั้งนี้ แนะนำว่าถ้าจะมีหนี้บัตรเครดิต 16% ให้เปลี่ยนเป็น Personal Loan สินเชื่อส่วนบุคคลของธนาคารดีกว่า เพราะดอกเบี้ยจะลงมาที่ 8-12% อีกสิ่งที่ไม่แนะนำคือสินเชื่อ P-Loan ของ Non Bank ที่มีอัตราดอกเบี้ยถึง 25% และที่ไม่ควรเข้าไปยุ่งเลยคือหนี้นอกระบบ

"เน้นว่าต้องออมสม่ำเสมอ ต้องรู้ว่าเป้าหมายชีวิตของเราคืออะไร รวมถึงต้องมีการลงทุนด้วย และต้องรู้จักกระจายความเสี่ยง หารายได้ ส่วนหนี้ที่มีให้เน้นที่สินเชื่อบ้าน ถ้าคนทำธุรกิจก็อาจมีสินเชื่อทำธุรกิจให้มีรายได้เพิ่ม แต่สินเชื่อบัตรไม่ค่อยแนะนำ" นายวิทัย กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ