ไทยเร่งเครื่องตลาดคาร์บอน เปิดตัวแพลตฟอร์ม "TGO Showroom"-ก.ล.ต.ยกระดับ บจ.เปิดข้อมูลเล็ง SET50 กลุ่มแรก

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 25, 2025 17:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางณัฐริกา วายุภาพ นิติพน รองผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก เปิดเผยว่า องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. หรือ TGO ดำเนินการสำรวจสถานการณ์ตลาดคาร์บอนประเทศไทยในปัจจุบันและภายใน 5 ปีข้างหน้า เพื่อรวบรวม วิเคราะห์ และคาดการณ์ปริมาณความต้องการคาร์บอนเครดิต (Market demand) และปริมาณคาร์บอนเครดิตที่จะเข้าสู่ตลาด (Market supply) รวมถึงศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการซื้อขายคาร์บอนเครดิต เพื่อส่งเสริมและผลักดันการพัฒนาตลาดซื้อขายคาร์บอนประเทศไทย ให้ทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการภาคเอกชน รวมถึงประชาชนทั่วไป เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างยั่งยืน

สำหรับรายงานสำรวจตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจประเทศไทยประจำปี 2568 ซึ่งได้รวบรวม วิเคราะห์ และคาดการณ์ พบว่า ตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจ (VCM) เป็นกลไกเชิงนโยบายที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจกในต้นทุนที่เหมาะสม และสร้างความยืดหยุ่นแก่ภาคส่วนต่าง ๆ ในการดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเป็นกลไกที่เปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจและองค์กรต่าง ๆ สามารถมีส่วนร่วมในการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างสมัครใจ

ทั้งนี้ ตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจของประเทศไทยอยู่ในระยะเริ่มต้นของการพัฒนานโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและตลาดคาร์บอน โดยผลการสำรวจสะท้อนว่า ภาคเอกชนไทยเริ่มตื่นตัวต่อโอกาสทางธุรกิจจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ยังมีความกังวลต่อความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่าน และขาดความเข้าใจในผลกระทบทางกายภาพ ขณะเดียวกัน หลายองค์กรยังต้องการเวลาในการเตรียมความพร้อมต่อข้อกำหนดใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการพัฒนาเครื่องมือและสร้างความรู้พื้นฐาน

ความสนใจในตลาดคาร์บอนเครดิตกำลังขยายตัว โดยเฉพาะในกลุ่มองค์กรที่ต้องการเตรียมความพร้อมตามนโยบายภาครัฐและเป้าหมายองค์กร แต่ตลาดยังมีความไม่แน่นอน ทั้งด้านพฤติกรรมการซื้อขาย ราคาคาร์บอน และมาตรฐานที่เลือกใช้ ซึ่งสะท้อนข้อจำกัดเชิงโครงสร้าง อาทิ ความรู้ที่ถูกต้อง งบประมาณจำกัด และการขาดระบบราคาที่น่าเชื่อถือ สำหรับด้านอุปทาน แม้มีการพัฒนาโครงการภายใต้มาตรฐาน T-VER อย่างต่อเนื่อง แต่ปริมาณการยกเลิกคาร์บอนเครดิตยังอยู่ในระดับต่ำ สะท้อนภาวะอุปทานล้นตลาดและกลไกตลาดที่ไม่สมดุล

แนวทางแก้ไขที่เสนอ คือ การยกระดับมาตรฐาน T-VER ให้ได้รับการยอมรับในระดับสากล การจัดตั้งแพลตฟอร์มซื้อขายที่โปร่งใส และการสนับสนุนด้านการเงินและองค์ความรู้ โดยสรุป ตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจของไทยมีแนวโน้มเติบโตแต่ยังเผชิญข้อจำกัดหลายด้าน ได้แก่ ความไม่ชัดเจนของกรอบนโยบายและกฎหมาย ความขาดแคลนทรัพยากรและงบประมาณ ความรู้ความเข้าใจในตลาดที่ยังจำกัดในกลุ่มผู้เล่นใหม่ และปัญหาในการเข้าถึงตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ หากขจัดข้อจำกัดเหล่านี้ได้จะเป็นกุญแจสำคัญในการส่งเสริมการเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนของตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจประเทศไทยในอนาคต

การส่งเสริมให้ตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจประเทศไทยเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพจำเป็นต้องดำเนินการเชิงระบบในหลายมิติ ทั้งการพัฒนาเครื่องมือทางการเงิน เทคโนโลยี และกลไกเชิงระบบที่เอื้อต่อการพัฒนาตลาดคาร์บอน เช่น การจัดตั้งกองทุนสนับสนุน และการลงทุนในระบบนิเวศของเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ ไม่เพียงแค่เร่งออกกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แต่รวมถึงการสร้างแรงจูงใจทางเศรษฐกิจเพื่อมีเป้าหมายให้ภาคเอกชนลงทุนในดำเนินงานด้านคาร์บอนเครดิต การผลักดันมาตรฐานสู่ระดับสากลเพื่อให้ตลาดกว้างขวางขึ้น และการพัฒนาตลาดให้เข้าถึงได้ง่ายและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อวางรากฐานให้ตลาดคาร์บอนของไทยสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนและสามารถแข่งขันได้ในระดับสากลต่อไป

พร้อมกันนี้ ยังได้เปิดตัวแพลตฟอร์มการซื้อขายคาร์บอนเครดิต "TGO Showroom" ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการซื้อขายในรูปแบบ Carbon Credit Marketplace ที่สะดวก รวดเร็ว และรองรับระบบการชำระเงินหลากหลายรูปแบบอีกด้วย

โดยแพลตฟอร์มนี้จะเชื่อมโยงระบบทะเบียนคาร์บอนด์เครดิต เข้าถึงการซื้อขายได้ง่าย โปร่งใส สะดวก ตรวจสอบและเปรียบเทียบได้ ทั้งนี้ พร้อมเปิดใช้งาน web-based Application ในเดือน ก.ย.68 และพร้อมเปิดใช้งานผ่าน Mobile Application ในเดือน ธ.ค.68

*ตลาดคาร์บอนโตแน่ถ้าพ.ร.บ.เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศบังคับใช้

ด้านนายบุญรอด เยาวพฤกษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เดอะครีเอจี้ จำกัด ในฐานะบริษัทที่ปรึกษา เปิดเผยว่า ประเทศไทยยังอยู่ในระดับเริ่มต้นของการกำหนดกฎระเบียบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งในส่วนของกลไกราคาคาร์บอนและข้อกำหนดในการใช้คาร์บอนเครดิต เพื่อวัตถุประสงค์ในประเทศและระหว่างประเทศ โดยคาดว่า หากพ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศบังคับใช้ ตลาดคาร์บอนในไทยจะขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญในอนาคต ทั้งตลาดภาคทางการหรือภาคบังคับ และภาคสมัครใจ

โดยตลาดที่เกิดขึ้นตามมาหลังพ.ร.บ.ฯบังคับใช้ คือตลาดซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (TH-ETS Allowance) ซึ่งคาดจะมีสัดส่วน 80-90% ของตลาด และตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้ได้ในกลไก (TH ETS/Article 6/ Corsia) คาดมีสัดส่วน 10-18% และตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่ซื้อขายในภาคสมัครใจ น้อยกว่า 2%

ทั้งนี้ ปัจจุบัน มูลค่าตลาดคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจในตลาดต่างประเทศ มีมูลค่า 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยเป็นตลาดซื้อขายภาคทางการอยู่ประมาณ1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

นายบุญรอด กล่าวว่า ภาพรวมตลาดคาร์บอนในอาเซียน พบว่า ไทย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ต่างมีความก้าวหน้าในตลาดคาร์บอนด์ โดยอินโดนีเซียและสิงคโปร์โดดเด่นด้านกฎระเบียบ นโยบาย และการส่งเสริมตลาดคาร์บอน ขณะที่ไทยมีความพร้อมด้านทรัพยากรด้านสภาพแวดล้อมของตลาดคาร์บอน รวมถึงบุคคลากรที่มีความรู้และที่มีประสบการณ์มายาวนาน

โดยไทยมีมาตรฐาน T-VER เริ่มเมื่อปี 2527 ขณะที่อินโดนีเซีย มีกฎหมาย ETS มีมาตรฐาน SPE ตั้งแต่ปี 2566 ลงทุนเพิ่มเพื่อดึงดูดนักลงทุน เช่น แพลตฟอร์ม IDX Carbon ส่วนสิงคโปร์ มีกฎหมายภาษีคาร์บอน ครอบคลุม 70% ของก๊าซเรือนกระจกในประเทศ และลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสูง เช่น แพลตฟอร์ม CIX & ACX อีกทั้งมีเงินสนับสนุนตลาดผู้เล่นในตลาดคาร์บอนของรัฐบาล เพราะสิงคโปร์ต้องการเป็น Hub หรือศูนย์กลางซื้อขายคาร์บอนเครดิต ซึ่ง

ปัจจุบัน ไทยและอินโดนีเซียในกลุ่มอาเซียนที่มีมาตรฐานคาร์บอนเครดิตของตัวเอง โดยไทยมีมาตรฐาน T-VER

นายบุญรอด กล่าว่า ปริมาณการใช้คาร์บอนเครดิต หรือประมาณการยกเลิกคาร์บอนเครดิตยังมีความผันผวนโดบค่าเฉลี่ยช่วง 2563-2567 มีปริมาณการยกเลิกคาร์บอนเครดิตเฉลี่ยประมาณ 260,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า(tCO2e)/ปี คิดเป็น 0.07% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของไทย

โดยผู้ซื้อส่วนใหญ่มีการวางแผนแบบล่วงหน้า ในการซื้อคาร์บอนเครดิต โดยให้ความสนใจกับโครงการในภาคป่าไม้/เกษตรกรรม และพลังงานทดแทน ทั้งนี้ ผู้ซื้อมีมากกว่าครึ่ง ที่ยินดีจ่ายในช่วงราคา 50-200 บาท/tCO2e เนื่องจากเป็นราคาที่คุ้มค่าในการลงทุน และสอดคล้องกับราคาตลาดในประเทศ โดยฝั่งผู้ขายส่วนใหญ่ยินดีที่จะขายในราคาช่วง 50-200 บาท/tCO2e เป็นราคาที่สามารถสร้างผลตอบแทนและกำไรได้

ขณะที่ผู้ที่ยังไม่ได้เข้าร่วมในตลาดส่วนใหญ่ยังขาดความเข้าใจในการคัดเลือกคาร์บอนเครดิตที่เหมาะสมและยังไม่มีการจัดสรรงบประมาณสำหรับการจัดซื้อคาร์บอนเครดิต ดังนั้น ภาครับควรเสริมสร้างความรู้ สื่อสารข้อมูลที่ถูกต้อง และสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ ในปี 2563-2567 มีปริมาณการรับรองคาร์บอนเครดิตเฉลี่ยประมาณ 3.5 ล้านตัน (MtCO2e) /ปี เมื่อพิจารณาร่วมกับปริมาณการยกเลิกคาร์บอนเครดิตเฉลี่ยนประมาณ 0.2 MtCO2e/ปี ซึ่งสะท้อนถึงภาวะอุปทานล้นตลาด และความไม่สมดุลของตลาดโดยรวม อย่างไรก็ตาม ผู้พัฒนาโครงการส่วนใหญ่ยังไม่ต้องการจะขายคาร์บอนเครดิต และมีแนวโน้มที่จะเก็บไว้สำหรับการชดเชยการปล่อยคาร์บอนของตนเอง

อุปสรรคหลักในการพัฒนาโครงการ ได้แก่ ความไม่คุ้มทุน ขัอจำกัดในการเข้าถึงตลาดคาร์บอน เพราะเป็นตลาด OTC และยังมีข้อจำกัดด้านความรู้และทรัพยากร โดยผู้พัฒนาโครงการเสนอแนวทางพัฒนาตลาด เช่น การยกระดับมาตรฐาน T-VER ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล การจัดตั้งแพลตผอร์รับซื้อขายที่โปร่งใส และการพัฒนากลไกทางการเงินเพื่อลดภาระต้นทุนการพัฒนาโครงการ

*ก.ล.ต.ยกระดับ บจ.เปิดข้อมูลคาร์บอนเท่าสากล คาด SET50 กลุ่มแรก

นางสาวนภาพร จิระพันธุ์ทอง ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับตลาดสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ปัจจุบัน ก.ล.ต.ได้เล็งเห็นความสำคัญการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียน เพื่อนำข้อมูลไปตัดสินใจการลงทุนของนักลงทุนทั้งสถาบันและรายย่อย ซึ่งปัจจุบัน ก.ล.ต.กำหนดให้ บจ.เปิดเผยข้อมูลในรายงาน 56-1 One Report

แต่ ก.ล.ต.มีแผนจะยกระดับ 2 ส่วน ได้แก่ การยกระดับมาตรฐานเทียบเท่าสากล โดยจะนำมาตรฐาน ISSB ซึ่งเป็นรายงานข้อมูลด้านความยั่งยืนในระดับสากลซึ่งจะเป็นตัวช่วยในการลดภาระและความสับสนให้แก่กิจการที่ต้องรายงานข้อมูลด้านความยั่งยืนตามมาตรฐานหรือกรอบความร่วมมือสากลที่มีอยู่หลากหลาย รวมทั้งเพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถนำข้อมูลที่ถูกต้องโปร่งใสนำไปใช้เปรียบเทียบ

และวิธีการเปิดเผยข้อมูล โดยก.ล.ต. จะไม่บังคับบจ.ทั้งหมดในคราวเดียวกัน แต่จะทยอยบังคับ แบ่งเป็นเฟส อาจเป็นกลุ่ม SET50 ก่อน ทั้งนี้ ก.ล.ต.เตรียมจะเปิดเฮียริ่งร่างประกาศฯ ในเดือนก.ค.-ส.ค.นี้ คาดว่าใช้เวลาประกาศใช้ภายในปีนี้

ส่วนนายสุรพล บุพโกสุม ผู้อำนวยการอาวุโส หัวหน้าฝ่ายพัฒนาบริการด้านความยั่งยืน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันพบว่า ความรู้ความเข้าใจเรื่องคาร์บอนเครดิตของบริษัทจดทะเบียนยังมีน้อย รวมถึงการเข้าถึงคาร์บอนเครดิตได้ยาก เพราะเนื่องจากเป็นตลาด OTC และยังมีข้อมูลไม่โปร่งใส หรือข้อมูลอาจไม่ครบถ้วน ทั้งนี้ เห็นว่าเรื่องความรู้ความเข้าใจของบจ.เป็นอุปสรรคในการดำเนินการเรื่องคาร์บอนเครดิต

ขณะที่นักลงทุนต่างประเทศให้ความสำคัญกับความเสี่ยง Climate Change จัดการอย่างไร และข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าไร โดย 4-5 ปีที่ผ่านมาที่มา Visit ไทยจะมีคำถามเหล่านี้เสมอ ดังนั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงสร้าง Carbon Ecosystem ให้กับ บจ. ทั้งการให้ความรู้ การสร้างเครื่องมือวัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก คือ SET Carbon ซึ่งเน้นการเปิดเผยข้อมูลถูกต้อง, ESG DATA Platform ให้นักลงทุนนำข้อมูลไปวิเคราะห์ และวัดมูลค่ากิจการได้ ส่วนในเรื่องคาร์บอนเครดิต ตลท.กำลังดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการยกระดับประเทศไทย ให้เป็นศูนย์กลางซื้อขายคาร์บอนเครดิตในภูมิภาคนี้ ซึ่งปัจจุบัน สิงคโปร์เป็น Hub ด้านนี้แล้ว ซึ่งผู้เล่นตลาดคาร์บอนไปจัดตั้งสำนักงานใหญ่ที่สิงคโปร์แล้วกว่า 100 แห่ง อาทิ ผู้พัฒนาโครงการ ผู้ทวนสอบ โบรกเกอร์ ประกัน ที่ปรึกษา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ