ธปท.เผยผลกระทบน้ำท่วม รายได้ท่องเที่ยววูบ คาด GDP ทั้งปีต่ำกว่า 2.6%

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 8, 2011 15:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสุชาดา กิระกุล รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำท่วมได้ขยายวงกว้างกินพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นบริเวณกว้างมากขึ้น ส่งผลให้ความเสียหายต่อเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตทั้งในพื้นที่น้ำท่วม รวมถึงธุรกิจต่อเนื่อง โดยเฉพาะการท่องเที่ยวและบริการที่ต้องหยุดชะงักในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวเดือนพ.ย.-ธ.ค. โดยเบื้องต้นประเมินว่ารายได้จากการท่องเที่ยวและบริการจะหายไปประมาณ 20,000 ล้านบาท คิดเป็นจำนวนนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะหายไปประมาณ 700,000-800,000 คน ส่งผลให้จีดีพีไตรมาส 4 ปีนี้ น่าจะติดลบเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าซึ่งคาดการณ์เดิมที่ -1.9% ดังนั้นธปท.ยังคงต้องติดตามสถานการณ์และผลกระทบอย่างใกล้ชิด

ในเบื้องต้นความเสียหายต่อการขยายตัวเศรษฐกิจ (GDP) จะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 150,000 ล้านบาท จากเดิมที่เคยประมาณการที่ 110,000 ล้านบาท ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) เมื่อวันที่18 ต.ค.ที่ผ่านมา ดังนั้น GDP ปี 54 น่าจะปรับลดลงมากกว่าที่ธปท.คาดไว้ 2.6% ต่อปี

“การตัดสินใจคงดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. ครั้งที่ผ่านมาไว้ที่ 3.5% จากที่ได้ปรับขึ้นต่อเนื่อง 8-9 ครั้ง ถือเป็นการส่งสัญญาณค่อนข้างแรงแล้วว่า กนง.ได้นำปัจจัยต่างๆ ล่าสุดมาคำนวณ ซึ่งขณะนี้ทั้งปัจจัยเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และผลกระทบจากน้ำท่วมที่เกิดขึ้นร้ายแรงกว่าที่คาด และมีแนวโน้มจะส่งผลกระทบอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากขึ้น กนง.จึงต้องนำมาประกอบการตัดสินใจใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในวันที่ 30 พ.ย.นี้ว่าจะคง หรือลง เพื่อเอื้อต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ"นางสุชาดา กล่าว

นางสุชาดา กล่าวยอมรับว่า มหันตภัยน้ำท่วมที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจครั้งนี้ อาจมีส่วนที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในระดับหนึ่ง เพราะไทยอยู่ในฐานะผู้รับจ้างผลิตเพื่อส่งออกไปยังประเทศอื่น เช่น ญี่ปุ่นที่ย่อมได้รับผลกระทบตามไปด้วย แต่ก็ขึ้นอยู่กับการมาตรการรองรับ และแผนบริการจัดการน้ำในระยะต่อไปของรัฐบาล จะสร้างความมั่นใจต่อนักลงทุนได้แค่ไหน โดยเศรษฐกิจไทยปี 55 คาดว่าจะมีแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายในประเทศ และการลงทุนจากภาครัฐและเอกชน เพื่อฟื้นฟูประเทศหลังน้ำลด

อย่างไรก็ตาม มองว่าไทยยังคงเป็นประเทศที่นักลงทุนต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุน รวมถึงมาตรการภาษีที่จูงใจนักลงทุนต่างชาติ จึงเชื่อว่านักลงทุนต่างชาติส่วนใหญ่จะยังไม่ย้ายฐานการผลิตจากไทยไปประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะญี่ปุ่นที่สัดส่วนการลงทุนโดยตรงในไทย 31.4% สิงคโปร์ 12.7% และสหรัฐ 7.9% โดยครึ่งปีแรกของปีนี้มีมูลค่า 3,420 ล้านเหรียญสหรัฐ จากการลงทุนโดยตรงในไทยทั้งสิ้น 141,763 ล้านเหรียญสหรัฐ.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ