นายกฯ ร่วมลงนามความตกลง 6 ฉบับหลังหารือรองประธานาธิบดีจีน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 23, 2011 09:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางฐิติมา ฉายแสง โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการหารือระหว่างน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กับ นายสี จิ้นผิง รองประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนว่า ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศที่ครอบคลุมในทุกมิติ

พร้อมทั้งร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความตกลงระหว่างไทย-จีน 6 ฉบับ ประกอบด้วย 1. หนังสือรับมอบความช่วยเหลืออุทกภัย(Handover Certificate)เป็นความช่วยเหลือที่รัฐบาลจีนได้ส่งมอบให้แก่รัฐบาลไทยแล้ว เป็นเงินสดจำนวน 1 ล้าน ดอลลาร์สหรัฐ และสิ่งของต่างๆเป็นมูลค่ามหาศาล โดยมีผู้ลงนามฝ่ายไทย คือ นางสาวกฤษณา สีหลักษณ์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ฝ่ายจีน คือ นาย เฉิน เจี้ยน รมช.พาณิชย์จีน

2. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการพัฒนาอย่างยั่งยืนไทย - จีน ในประเทศไทย มีเนื้อหาครอบคลุมความร่วมมือ 4 ด้าน (1) การพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ - เชียงใหม่ และระบบรางอื่นๆ (2) การพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำอย่างครบวงจร (3) การวิจัยพัฒนาพลังงานสะอาด พลังงานหมุนเวียน หลังงานทดแทน โดยเฉพาะในชนบทของไทย (4) การพัฒนาด้านการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรบุคคล เช่น การส่งเสริมการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและอุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ อาทิ computer tablets โดยมี ผู้ลงนาม ฝ่ายไทย คือ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ ฝ่ายจีน คือ นายเฉิน เจี้ยน รมช.พาณิชย์จีน

3. สนธิสัญญาว่าด้วยการโอนตัวผู้ต้องโทษตามคำพิพากษา เป็นการขอโอนและการรับโอนตัวผู้ต้องโทษตามคำพิพากษาระหว่างไทยกับจีน ผู้ลงนาม ฝ่ายไทย คือ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ ฝ่ายจีน คือ นายจาง จื้อจุน รมช.ต่างประเทศจีน

4. แผนปฏิบัติการว่าด้วยความร่วมมือด้านวัฒนธรรม ระหว่างปี 2554-2556 ซึ่งผู้ลงนาม ฝ่ายไทย คือ นางสุกุมล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม ฝ่ายจีน คือ นายกว่าน มู่ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย

5. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางด้านทะเล ผู้ลงนาม ฝ่ายไทย คือ นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฝ่ายจีน คือ นายหลิว ซื่อกุ้ย ตำแหน่ง Director (ระดับรัฐมนตรีช่วย) ทบวงกิจการทางมหาสมุทรแห่งชาติจีน

6. ความตกลงว่าด้วยการแลกเปลี่ยนเงินตราแบบทวิภาคี (Bilateral Swap Agreement) ระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารกลางจีน ผู้ลงนาม ฝ่ายไทย คือ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ฝ่ายจีน คือ นางหู เสี่ยวเลี่ยน รองผู้ว่าการธนาคารกลางของจีน

นายกรัฐมนตรีได้ใช้โอกาสนี้ แสดงความขอบคุณรองประธานาธิบดีจีน สำหรับความช่วยเหลือด้านอุทกภัย ซึ่งจีนนับเป็นประเทศแรกที่ได้ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศไทย ทั้งในรูปตัวเงินและสิ่งของจำนวนมาก และได้สร้างความซาบซึ้งใจให้แก่พี่น้องชาวไทยเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งในโอกาสนี้ รองประธานาธิบดีจีนฯ ได้กล่าวชื่นชมที่รัฐบาลที่สามารถเอาชนะต่อภัยพิบัติอุทกภัยครั้งใหญ่นี้ได้ด้วยดี

สำหรับประเด็นความสัมพันธ์ไทย-จีน ผู้นำทั้งสองฝ่าย ได้แสดงความยินดีที่จะร่วมมือกันพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ และยืนยันการให้ความสำคัญกับการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้นำระดับสูงอย่างต่อเนื่อง และระหว่างทุกภาคส่วน โดยมีการหารือถึงแนวทางการพัฒนาความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

โดยเฉพาะในสาขาที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งเน้นความสำคัญการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนใน 4 สาขา ได้แก่ 1) การพัฒนาเครือข่ายคมนาคมในเรื่องรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ และเส้นทางอื่นที่เชื่อมโยงกับกลุ่มประเทศอาเซียน 2) การพัฒนาระบบการจัดการน้ำอย่างครบวงจร 3) การวิจัยและการพัฒนาพลังงานสะอาดและราคาถูก ในโอกาสนี้นายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่า ไทยประสงค์ที่จะสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนประจำตำบล อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ซึ่งจีนเองมีความเชี่ยวชาญในด้านนี้

4) การพัฒนาการศึกษาและทรัพยากรบุคคล โดยเฉพาะการส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายที่จะแจกคอมพิวเตอร์พกพาให้กับนักเรียนไทย และขอขอบคุณที่ รองปธน.จีนได้นำ tablet computer มามอบแก่นักเรียนไทย ระหว่างการเดินทางเยือนไทยครั้งนี้ด้วย โดยผู้นำทั้งสองฝ่ายต่างแสดงความยินดีที่จะมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืนใน 4 สาขา ซึ่งเป็นหนึ่งในความตกลงที่จะมีการลงนามในวันนี้ ทั้งสิ้น 6 ฉบับด้วย

สำหรับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ นายกรัฐมนตรีชื่นชมแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนและบทบาทของจีนในการแก้ไขและฟื้นฟูเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การค้าระหว่างไทย-จีนขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 20 ซึ่งเป็นผลดีอย่างมาก อย่างไรก็ดี ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้เสนอให้มีการตั้งเป้าหมายการค้าไทย-จีน ให้เพิ่มเป็นร้อยละ 20 ต่อปี รวมถึงการอำนวยความสะดวกทางการค้า โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยด้วย

ด้านการลงทุน รัฐบาลทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะสนับสนุนการลงทุนระหว่างกันอย่างแข็งขันต่อไปซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เสนอให้รัฐบาลจีนสนับสนุนและส่งเสริมให้ภาคเอกชนจีนเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมที่ไทยสนับสนุน โดยเฉพาะการลงทุนอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและพลังงานทดแทน นอกจากนี้ ได้มีการกำหนดเป้าหมายการลงทุนไทย-จีนในช่วง 5 ปีข้างหน้า ให้เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 15 ต่อปี ซึ่งจีนเองรับที่จะผลักดันให้บริษัทจีนเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น

นอกจากนี้ ผู้นำทั้งสองฝ่ายต่างเห็นพ้องให้มีการจัดประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านการค้า การลงทุนและเศรษฐกิจไทย-จีน(Joint Commission เศรษฐกิจ)ระดับรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งจีนได้รับที่เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งที่ 3 ในโอกาสแรก เพื่อแสวงหารูปแบบใหม่ทางการค้าระหว่างกัน และผลักดันให้ยอดการค้าระหว่างสองประเทศให้มีมูลค่ากว่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี ค.ศ. 2015

ด้านการท่องเที่ยวในปีที่ผ่านมามีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 57 ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เสนอให้ตั้งเป้าหมายการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวระหว่างกันเพิ่มขึ้นปีละร้อยละ 20 โดยทางฝ่ายจีนเห็นพ้องและประสงค์ให้เพิ่มการแลกเปลี่ยนเยาวชนระหว่างกันปีละ 100 คน เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญด้วย

สำหรับประเด็นเรื่องการพัฒนาเครือข่ายการเชื่อมโยงคมนาคมในภูมิภาค นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าไทยเปรียบเสมือนประตูของจีนสู่อาเซียน ดังนั้น ไทยจึงมีนโยบายผลักดันการเชื่อมโยงคมนาคมกับประเทศเพื่อนบ้านและจีน โดยโทยเห็นว่า จีนมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้การเชื่อมโยงในภูมิภาคและการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน ซึ่งรองประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนได้แสดงความพร้อมสนับสนุนการพัฒนาเครือข่ายคมนาคม และการสร้างรถไฟความเร็วสูงหลายเส้นทางที่เชื่อมจีนกับไทย และจะสนับสนุนให้ภาคเอกชนจีนเข้ามาศึกษาด้านเทคนิคในประเทศไทย เพื่อให้ความร่วมมือทางรถไฟ เป็นสัญลักษณ์ของความร่วมมือระหว่างสองประเทศ

โอกาสนี้รองประธานาธิบดีฯจีน ยังได้กล่าวถึงความนิยมของพี่น้องประชาชนจีนเกี่ยวกับละครและสื่อบันเทิงของไทยด้วย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้วัฒนธรรมซึ่งกันและกันอีกทางหนึ่ง นอกเหนือจากการส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาไทยและภาษาจีนระหว่างกัน

นอกจากนี้ ได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ในภูมิภาค ซึ่งผู้นำทั้งสองต่างชื่นชมกับพัฒนาการในเมียนมาร์ ทั้งด้านเศรษฐกิจและการปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และมีการหารือถึงความสัมพันธ์อาเซียน-จีน โดยมีการย้ำที่จะร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับจีนในกรอบอาเซียน-จีนต่อไป ในฐานะที่ไทยจะเป็นประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-จีนในปี ค.ศ. 2012 ด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ